ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการสหประชาชาติเตือนว่าวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาดทำให้เกิด 'สึนามิแห่งความเกลียดชัง' โดยเฉพาะ 'การเกลียดกลัวคนต่างชาติ' แพร่ข่าวปลอม และหาเหยื่อ

อันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติหรือยูเอ็นออกมาเตือนว่าวิกฤตโควิด-19 ระบาดทำให้เกิดสึนามิแห่งความเกลียดชัง โดยเฉพาะการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ หาแพะรับบาป และปล่อยข่าวลือ แม้เขาจะไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศใดประเทศหนึ่งแต่ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายพยายามยุติความเกลียดชังที่มีอยู่ทั่วโลกในขณะนี้

กูแตร์รีชกล่าวว่า ขอให้ทุกคนทุกที่ลุกขึ้นต่อต้านความเกลียดชังปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีศักดิ์ศรีและใช้ทุกประกาศในการส่งต่อความเมตตา พร้อมย้ำว่าโรคระบาดนี้ไม่สนใจว่าเราจะเป็นใครอยู่ที่ไหน ชื่ออะไรไม่สนความแตกต่างใดๆ ของเรา

กูแตร์รีชกล่าวว่าผู้อพยพและผู้ลี้ภัยได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมากเป็นพิเศษและพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นตัวร้ายเรากลับเป็นแหล่งเชื้อโรคและถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ารับการรักษา กระแสการต่อต้านคนต่างชาติสูงขึ้นอย่างมากทั้งบนโลกออนไลน์และบนท้องถนน มีการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านยิวและต่อต้านชาวมุสลิม โดยโยงว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนแพร่เชื้อ

นอกจากนี้ เขาได้เรียกร้องให้สื่อทั้งหลาย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ถอดบทความ วิดีโอหรือเนื้อหาที่เหยียดเชื้อชาติและอันตราย เรียกร้องให้ภาคประชาสังคมเอื้อมมือไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคม และเรียกร้องให้ผู้นำทางศาสนายึดหลักการเคารพซึ่งกันและกัน

กูแตร์รีชยังเรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับทุกๆ คนเกี่ยวกับการให้สถาบันการศึกษามุ่งเน้นการสอนเรื่องการเท่าทันดิจิทัล ในช่วงที่มีกลุ่มสุดโต่งคอยเผยแพร่ข่าวปลอม หาเหยื่อที่อาจสิ้นหวังและหลงเชื่อพวกเขา

ในขณะที่คนแก่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนามากที่สุด ก็ยังมีมีมเหยียดหยามเผยแพร่ทั่วไปบนโลกออนไลน์ โดยบอกว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรค่าแก่การรักษา ส่วนผู้สื่อข่าว ผู้เปิดโปงความจริง บุคลากรทางการแพทย์ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็ตกเป็นเป้าโจมตีเพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่ของตัวเอง

กูแตร์รีชไม่ได้ยกตัวอย่างกรณีใดเป็นพิเศษแต่สำนักข่าวบีบีซีได้ยกตัวอย่างข่าวการเหยียดเชื้อชาติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ในอินเดียมีกระแสต่อต้านชาวมุสลิมแรงขึ้นหลังมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาจนทำให้มีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากและกระจายไปทั่วประเทศ ส่วนนักเรียนจะสิงคโปร์ก็ถูกกลุ่มผู้ชายรุมทำร้ายในอังกฤษโดยคนเหล่านี้กล่าวว่าพวกเขาไม่ต้องการไวรัสโคโรนาให้อยู่ในประเทศของพวกเขา 

ขณะที่ ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกหรือ WHO กล่าวว่าเขาถูกไต้หวันโจมตีเหยียดเชื้อชาติที่เป็นคนแอฟริกาจึงเข้าข้างจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น ด้านชาวแอฟริกันในมณฑลกวางโจวของจีนก็ออกมาร้องเรียนว่ามีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติโดยกล่าวว่าพวกเขาถูกบังคับจากเจ้าของที่พักและถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่

ส่วนรัฐบาลจีนเองก็กล่าวหา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตีตราประเทศจีนหลังจากที่ทรัมป์เรียกโรคโควิด-19 ว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ส่วนรายงานโดยนักวิจัยในอิสราเอลก็ระบุว่า วิกฤตไวรัสโคโรนากระตุ้นให้เกิดกระแสต่อต้านยิวทั่วโลก

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า กูแตร์รีชออกมาพูดเรื่องความเกลียดชัง หลังจากที่จีนกล่าวว่า จีนพร้อมร่วมมือกับ WHO ในการตรวจสอบหาต้นตอของไวรัสโคโรนา หลังจากที่หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ และออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเข้าไปตรวจสอบต้นตอของไวรัส และเรียกร้องให้จีนอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวที่ผลักดันทฤษฎีที่ว่าไวรัสเกิดมาจากห้องแล็บของจีนโดยเฉพาะจากสถาบันระบาดวิทยาอู่ฮั่น แต่สหรัฐฯ ยังไม่ออกมาเปิดเผยหลักฐานใดๆ เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหานี้ ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ 2 ประเทศและยิ่งทำให้ข้อตกลงการค้าระหว่างกันยิ่งวุ่นวาย

ด้านทางการจีนและสื่อของรัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้สหรัฐฯ อย่างรุนแรงว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวโทษจีน เพื่อปิดบังความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการรับมือกับโรคระบาด และพยายามเรียกคะแนนนิยมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้น


ที่มา : BBC, The Guardian