เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (18 เม.ย.) ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีชาติสมาชิก 12 ประเทศลงมติเห็นชอบต่อมติดังกล่าว ในขณะที่อีก 2 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์ลงมติงดออกเสียง
อย่างไรก็ดี หลังจากการลงมติยับยั้งดังกล่าวโดยสหรัฐฯ โรเบิร์ต วูด รองทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่าไม่มีเส้นทางอื่นใดในการเป็นรัฐปาเลสไตน์ มากไปกว่าการเจรจาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ “เรายังแสดงความชัดเจนมานานแล้วว่า การกระทำก่อนกำหนดในนิวยอร์ก (การประชุมในสหประชาชาติ) แม้จะด้วยเจตนาดีที่สุด แต่ก็ไม่สามารถบรรลุสถานะการเป็นรัฐของปาเลสไตน์ได้” วูดกล่าว
แม้จะมีการคาดการณ์แต่แรกว่า มติดังกล่าวจะล้มเหลวในการได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เนื่องจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดของอิสราเอล มีอำนาจการลงมติยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคง และสามารถคัดค้านการผ่านมติดังกล่าวได้
การลงคะแนนเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากเวลานานกว่า 6 เดือนในการเปิดฉากทำสงครามในฉนวนกาซาโดยอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปมากกว่า 33,000 ราย และก่อให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรมในพื้นที่อย่างรุนแรง
ปัจจุบันรัฐปาเลสไตน์เป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีสถานะสมาชิกของสหประชาชาติ แต่การได้รับสถานะเป็นสมาชิกสหประชาชาติโดยสมบูรณ์ จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเป็นเอกฉันท์ และต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
ก่อนการลงคะแนนเสียงในบ่ายวันพฤหัสบดี ซิอัด อาบู อัมร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติประจำรัฐปาเลสไตน์ ได้กล่าวเพื่อขอเสียงการสนับสนุนในการมอบสถานะการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติให้แก่ปาเลสไตน์ “เรายังคงโหยหาที่จะปฏิบัติตามสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เพื่อใช้ชีวิตอย่างเสรีภาพ ความมั่นคง และสันติภาพในรัฐอิสระ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก” อาบู อัมร์ กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
อาบู อัมร์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า ปาเลสไตน์ “ได้เสียสละและเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้”
ในอีกด้านหนึ่ง อาบู อัมร์ กล่าวปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ว่า มติดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อการเจรจาทางการเมืองและโอกาสในการสร้างสันติภาพระหว่างความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ได้ “สำหรับผู้ที่กล่าวว่าการยอมรับรัฐปาเลสไตน์ต้องเกิดขึ้นผ่านการเจรจา ไม่ใช่ผ่านมติของสหประชาชาติ เราขอกล่าวว่า ‘รัฐอิสราเอลได้รับการสถาปนาอย่างไรหรือ นั่นไม่ใช่ผ่านมติของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นข้อมติที่ 181 ใช่ไหม'” อาบู อัมร์ กล่าว
“มตินี้จะไม่เป็นทางเลือกในการเจรจาและแก้ไขปัญหาที่ค้างอยู่ มันจะมอบความหวังให้กับชาวปาเลสไตน์สำหรับรัฐเอกราช หลังจากที่ความหวังนี้สลายไป” อาบู อัมร์ กล่าวเสริม “เราหวังว่าคุณจะให้โอกาสเราในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมระหว่างประเทศ ที่ทำงานเพื่อบรรลุสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ”
กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ขึ้นกล่าวโจมตีมติดังกล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ เขายังเรียกมติดังกล่าวว่าเป็น “รางวัลสำหรับ (ผู้ก่อการร้าย)” ที่ก่อการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยกลุ่มฮามาสซึ่งปกครองฉนวนกาซาอยู่
“หากการลงมตินี้ผ่าน พระเจ้าทรงห้ามมัน เราไม่ควรเรียกสิ่งนี้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงอีกต่อไป แต่เป็นสภา ‘ก่อการร้าย’” เออร์ดานกล่าว “สิ่งเดียวที่การบังคับให้รับรองรัฐปาเลสไตน์โดยฝ่ายเดียวจะทำได้ คือทำให้การเจรจาใดๆ ในอนาคตแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย”
นอกจากนี้ เออร์ดานยังเรียกรัฐบาลปาเลสไตน์ว่าเป็น “หน่วยงานที่รักการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ไม่สมควรได้รับสถานะใดๆ” ในสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้ผู้ยื่นขอสถานะเป็นสมาชิกต้องเป็นประเทศ “รักสันติภาพ” พร้อมกันนี้ เออร์ดานยังกล่าวแย้งว่ารัฐบาลปาเลสไตน์ไม่มีอำนาจเหนือฉนวนกาซาและพื้นที่บางส่วนของเวสต์แบงก์ “แล้วสหประชาชาติจะยอมรับใครล่ะ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” เออร์ดานตั้งคำถาม
“สหประชาชาติไม่ได้มุ่งมั่นต่อลัทธิพหุภาคี น่าเศร้าที่ตอนนี้มีความมุ่งมั่นต่อการก่อการร้ายหลายครั้ง” เออร์ดานกล่าวต่อ “วันนี้ในที่สุดหน้ากากก็หลุดออกแล้ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เปิดเผยตัวเองแล้ว”
พร้อมกันนี้ เออร์ดานยังวิจารณ์สหประชาชาติที่ลงคะแนนเสียงในมติที่ “ทำลายล้างและผิดศีลธรรม” ในช่วงเวลาที่การเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลและอิหร่านมีความเสี่ยงที่จะบานปลาย
ที่มา: