นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนห่วงใยเรื่องปัญหาอากาศในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว รวมทั้งส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน และไม่มีการบูรณาการกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาให้สถานการณ์เบาบางลงเท่านั้น
"หอการค้าไทยได้หยิบยกประเด็นปัญหาอากาศมาหารือกันในหลายเวที ทั้งในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ผ่านมา และการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเสนอให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งรัดผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศ"
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ได้มีผู้ร่วมสนับสนุนทั้งจากองค์กรต่าง ๆ และประชาชนทุกภาคส่วน ลงชื่อให้การสนับสนุนแล้วกว่า 10,000 ราย หอการค้าไทยจึงได้ยื่นรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนฯ ผ่านประธานรัฐสภา (นายชวน หลีกภัย) เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุมของรัฐสภาต่อไป
ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอขั้นตอนการออกพระราชบัญญัติฯ ภาคเอกชนขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอากาศสะอาด เพื่อให้มีอำนาจในการบังคับบัญชาสั่งการและบูรณาการการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ ไปก่อน
โดยคณะกรรมการอากาศสะอาด ที่ภาคเอกชนนำเสนอ จะประกอบด้วย
1. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
2. รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
9. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
12. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
13. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
14. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
15. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
16. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการป้องกันหรือแก้ไขคุณภาพอากาศไม่เกินแปดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องมีผู้แทนภาคเอกชนร่วมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
17. ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ
ภาคเอกชนมีความเห็นว่า กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศ จะเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูประบบการบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศของประเทศไทย ที่จะต้องเปลี่ยน Mindset ของการมองปัญหา ระบบ และวิธีการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน รวมทั้งการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่วมรับผิดชอบกับปัญหาฝุ่นควัน
นอกจากนั้น จะต้องมีการจัดองค์กรและออกแบบกลไก เพื่อพัฒนาระบบการจัดการอากาศสะอาด โดยอาจจะตั้ง "คณะกรรมการอากาศสะอาด" ให้เป็นองค์กรและกลไกในการกำหนดนโยบาย ทำหน้าที่พัฒนาระบบการจัดการอากาศของประเทศ และมีกลไกรับผิดชอบลงไปในระดับพื้นที่ จังหวัด กลุ่มจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญมาทำหน้าที่ในการจัดระบบมาตรฐานคุณภาพอากาศ การเฝ้าระวัง การติดตามสถานการณ์ การเตือนภัย และการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์มลภาวะทางอากาศ ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์คุณภาพอากาศ
นอกจากระบบบริหารจัดการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังควรกำหนดมาตรการและวิธีการในกรณีที่เกิดวิกฤติการณ์ทางอากาศ รวมถึงการมีมาตรการลงโทษทั้งในรูปของค่าปรับและโทษทางอาญา
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ความสำเร็จของระบบการบริหารจัดการอากาศสะอาด คือการมีระบบการตรวจคุณภาพอากาศที่ครอบคลุมทั้งประเทศ มีระบบฐานข้อมูล GIS (Geographic Information System) เกี่ยวกับคุณภาพอากาศครบถ้วนในทุกมิติ และสามารถตรวจสอบสถานการณ์ของพื้นที่ต่าง ๆ ได้ในทันที
นอกจากนั้น ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศ สำหรับเป็นแนวทางและเครื่องมือที่ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน โดยมีกลไกติดตามประเมินผลการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :