ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ปรับเพิ่มราคากลางค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับประโยชน์สูงสุด 1,600 บาท สำหรับระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตรแรก และคิดเพิ่ม 10 บาทต่อกิโลเมตรถัดไป มีผลตั้งแต่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 มีมติเห็นชอบ การปรับปรุงมาตรฐานกลางของรายการและจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอทั้ง 3 ส่วนดังนี้

ส่วนแรก ปรับปรุงค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน จากเดิมกำหนดไว้สำหรับรถพยาบาลฉุกเฉินทุกประเภทที่อัตรา 1,100 บาท สำหรับระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตรแรก ส่วนที่เกินคิดเพิ่ม 10 บาทต่อกิโลเมตร โดยอัตราดังกล่าวนี้ให้คงไว้เฉพาะสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉินระดับพื้นฐาน และปรับเพิ่มสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง เป็นอัตรา 1,600 บาทสำหรับระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตรแรก ส่วนที่เกินคิดเพิ่ม 10 บาทต่อกิโลเมตร โดยเป็นอัตราค่าบริการแบบเหมารวมค่าธรรมเนียมบุคลากรสาธารณสุขและบุคคลที่ปฏิบัติงานในรถพยาบาลฉุกเฉินด้วย 

ส่วนที่สอง กำหนดคำจำกัดความรถพยาบาลเพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนี้ 

- รถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง หมายถึง รถพยาบาลฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานระดับปฏิบัติการแพทย์ขั้นสูง ทั้งโครงสร้างรถ อุปกรณ์ช่วยชีวิต เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด สามารถทำการตรวจรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยมีบุคลากรสาธารณสุข ประกอบด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ หรือนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอยู่ในรถด้วย

-รถพยาบาลฉุกเฉินระดับพื้นฐาน หมายถึง รถพยาบาลฉุกเฉิน หรือรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ได้มาตรฐานระดับปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน ทั้งโครงสร้างรถ อุปกรณ์ช่วยชีวิต เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด สามารถทำการปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์แก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยผู้ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน

ส่วนที่สาม ปรับเพิ่มอัตราค่ารักษาพยาบาลจำนวน 16 รายการ ให้เทียบเท่าอัตราค่าบริการของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 2560 อาทิ ค่าตรวจชิ้นเนื้อ Biopsy ขนาดกลาง (2-5 ซม.) ค่าตรวจคลื่นสมอง (Electro-encephalography) ค่าใช้เครื่องตรวจคลื่นหัวใจเด็กในครรภ์ (NST) ค่าใช้กล้องทำ SIGMOIDOSCOPE ค่าใช้เครื่องจี้ ด้วยความเย็นต่อราย ค่าฝึกกิจวัตรประจำวันให้ผู้ป่วย (ACTIVITY DALITY LIVING) ค่าตัด กดจุดบริเวณที่ปวดโดยใช้มือทำ(MANIPULATION) ค่าเตียงมอเตอร์เพื่อคนไข้ลดน้ำหนัก (TILL BEARD) การฝึกมือ(OCCUPATIONAL THERAPY) ค่าบริการการพยาบาลทั่วไปทั้งผู้ป่วยในทั่วไป (IPD) และผู้ป่วยใน-หอผู้ป่วยหนัก (ICU) ค่าบริการการระบายเอาของเหลวหรือลมในช่องปอดออก(Chest Drain) ค่าบริการโรงพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกรวมถึง ค่าอาหารผู้ป่วยในปกติทั้งอาหารเหลวต่อมื้อและอาหารธรรมดาต่อมื้อ เป็นต้น

"การปรับเพิ่มมาตรฐานราคากลางค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จะต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถครั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาล และช่วยลดภาระของผู้ประสบภัยที่อาจเกิดขึ้นจากส่วนเกินของอัตราค่าบริการตามใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ซึ่งการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการตามมาตรฐานราคากลางในครั้งนี้ นอกจากไม่กระทบต่อเบี้ยประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความคุ้มครองให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ ในการเบิกค่าเสียหายเบื้องต้นตามอัตราในรายการต่างๆอีกด้วย" เลขาธิการ คปภ. กล่าว

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดให้รถทุกคันต้องทำประกันภัยคุ้มครองความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และอนามัยของประชาชนทุกคนที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถ รวมถึงผู้ขับขี่ 

อีกทั้ง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังให้จัดตั้งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยขึ้นใน สำนักงาน คปภ. เพื่อจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นในกรณี อาทิ รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ประสบภัยไม่มีประกันภัยและเจ้าของรถไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือจ่ายไม่ครบจำนวน หรือกรณีผู้ประสบภัยถูกรถชนแล้วหนีหรือไม่ทราบว่ารถคันใดชน และยังเป็นหลักประกันให้สถานพยาบาลที่ทำการรักษาผู้ประสบภัยให้ได้รับชดใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนและรวดเร็ว

โดยสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนควบคู่กับการส่งเสริมระบบประกันภัยและการเข้าถึงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2559 ได้มีการปรับปรุงในส่วนค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น โดยเพิ่มในส่วนค่ารักษาพยาบาล เป็น 80,000 บาทต่อราย กรณีสูญเสียอวัยวะ เป็น 200,000-300,000 บาทต่อราย และกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เป็น 300,000 บาทต่อราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :