‘เอกชัย ศรีวิชัย’ ขุนพลเพลงใต้ เปิดโครงการ วัฒนธรรมภาคใต้ออนทัวร์ ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ไปสู่คนภาคต่างๆ โดยเริ่มต้นด้วย ลูกศิษย์คนโปรด ‘น้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม’ หรือ นายบัญญัติ สุวรรณแว่นทอง นายหนังตะลุงตาบอดอัจฉริยะที่พิสูจน์ความสามารถทางด้านหนังตะลุง ทั้งร้อง เชิด คิดเนื้อเรื่อง และมีคณะของตัวเองเลี้ยงดูทีมงานกว่า 40 ชีวิต ทั้งยังมีคิวเดินสายยาวไปถึง ปี 2564
จากศิลปะที่มักจะถูกแสดงแค่ในพื้นถิ่น วันนี้ ‘น้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม’ นายหนังตะลุงตาบอดอัจฉริยะ ได้ต่อยอด ศิลปะพื้นบ้านหนังตะลุง ปรับรูปแบบให้เป็นคอนเสิร์ตหนังตะลุง เพิ่มความทันสมัย ดึงดูดผู้ชมในยุคไฮเทค พร้อมเผยแพร่ประเด็นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันหรือการเมือง
“ในเนื้อเรื่อง หนังตะลุงจะเน้นความเป็นตลกในยุคปัจจุบันนะครับ เหมือนเรามาดูทอล์กโชว์ แต่มีภาพประกอบ เดี๋ยวนี้เรานำมาประยุกต์ให้พี่น้องประชาชน คนที่มาชมได้คลายเครียด เพิ่มความความเป็นวาไรตี้ขึ้น แล้วมีบทเพลงลูกทุ่ง ซึ่งความเป็นพื้นบ้าน ตรงกับสโลแกนที่ว่า 'ลูกทุ่งวัฒนธรรม' ของผมด้วยครับ”
"ผมก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นรากเดิมของวัฒนธรรม ยังมีทุกอย่างว่าเพียงแต่เราตัดย่อออกมา จากโหมโรงประมาณ 1 ชั่วโมง ให้เหลือแค่เพียง 10 นาที 20 นาที เราแสดง ไม่ได้เลิกสว่างเหมือนเมื่อก่อน เดี่ยวนี้เที่ยงคืนก็ต้องจบการแสดงแล้ว"
‘เอกชัย ศรีวิชัย’ เผยถึงความภูมิใจในลูกศิษย์คนนี้ที่สามารถถ่ายทอดเสน่ห์ของหนังตะลุงออกมาให้คนได้เข้าใจ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
"เขาเป็นหนังตะลุงคนเดียวในประเทศไทย ที่ฉีกกฏของวงการหนังตะลุงทั้งหมด"
“พี่มองว่ายุคสมัยเปลี่ยน เหตุการณ์ต้องเปลี่ยน แต่รากมันไม่เปลี่ยน เราเปลี่ยนเฉพาะเหตุการณ์ ถ้าหนังน้องเดียว สามทุ่ม ยัง โอ โอ่ พี่ว่าคนบิดมอเตอร์ไซค์หนีหมดแล้ว สมัยก่อนคนเดินมา กว่าจะได้ดูหนังตะลุง กว่าจะเดินกลับก็ยาก แต่ปัจจุบัน ไม่ คนดูนั่งมอเตอร์ไซค์มา นั่งรถมา มันก็ไปหมดเลย อันนี้พวกนี้ต้องปรับ แล้วเขาเป็นคนที่ปรับแล้ว มันลงตัว ปรับแล้วมันดี วัฒนธรรมถ้าไปจับต้องไม่ได้ ใครจะกล้าไปจับ แล้วใครจะกล้าสืบ แล้วจะเอาไว้ให้ใครดู เอาไว้ให้คนแก่นั่งกอดแผงหนังตะลุงตายไปอย่างนั้นเหรอ มันไม่ใช่”
ซึ่ง เอกชัย ศรีวิชัย ยังได้เข้ามาส่งเสริมหนังตะลุงให้เผยแพร่ไปยังภาคต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่ภาคใต้ วางแผนเดินสายทั่วประเทศ โดยคอยให้คำปรึกษา ซึ่ง น้องเดียว ก็ได้มีการปรับปรุงการแสดง ด้วยการเปลี่ยนภาษาในการแสดง ให้เป็นภาษาตามภาคนั้นๆ อย่างครั้งนี้ มาแสดงที่กรุงเทพ ก็ใช้ภาษากลางตลอดเรื่อง
น้องเดียว บอกว่า อยากให้หนังตะลุงเราเป็นที่รู้จักของคนทุกภาค คือถ้าเราเอาเป็นภาษาใต้มาเล่น มันก็ได้แค่ความแปลก สามารถดูได้ว่าหนังตะลุงเป็นอย่างนี้ แต่ไม่เข้าใจเรื่องราว แต่ผมเอามาสื่อเป็นภาษากลาง เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นของพี่น้องชาวภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ และตอนนี้เราเริ่มเปิดรับงานของทุกภาคนะครับ สิ่งที่หนักใจที่สุด เราไม่มีคู่แข่งทางด้านหนังตะลุงครับ แต่เรามีคู่แข่งทางด้านอื่นๆ ศิลปะตะวันตก ที่เข้ามา ทำให้ศิลปะพื้นบ้านถูกมองข้าม