ไม่พบผลการค้นหา
เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกไปอย่างรวดเร็วทำให้การศึกษาแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป EdTech หรือเทคโนโลยีด้านการศึกษา คือทางเลือกใหม่ของการเรียนรู้ แต่ตามธรมชาติแล้วสตาร์ทอัพประเภทนี้มักขาดทุนหนักช่วงแรก จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน และภาครัฐ

“คนไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่คือผู้ที่ไม่สามารถเรียนรู้ ทิ้งความรู้เดิม และเริ่มเรียนรู้ใหม่” อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ (Alvin Toffler) นักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวไว้เช่นนั้น และดูเหมือนคำกล่าวจะเป็นจริงขึ้นทุกวัน

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังทำให้ทักษะ ความรู้ และการศึกษาแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่ก็เป็นเทคโนโลยีอีกเช่นกันที่อาจสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว EdTech หรือ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา อาจเป็นโอกาสของสังคม ในยุคที่เราต้องเรียนความรู้ใหม่กันตลอดชีวิต


เทรนด์การศึกษาทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป

ค่านิยมทางการศึกษาทั่วโลกกำลังถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ถึงระดับที่เข้ามาแทนที่มหาวิทยาลัย ทำให้ปริญญามีความหมายน้อยลง กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก และดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ กองทุนเพื่อสตาร์ทอัพไทย ชี้ว่าในปัจจุบันบริษัทเอกชนเริ่มไม่สนใจเรซูเม่ แต่เริ่มให้คุณค่าทักษะความรู้ที่ผู้สมัครงานมี และการรับรองทางสังคม (social validation) มากกว่า

“โปรแกรมเมอร์เขามาบอกกันเองว่าคนไหนเก่ง ไม่ต้องจำเป็นต้องจบมหาวิทยาลัยก็ได้ แต่ถ้าโค้ดที่เขียนได้รับการยอมรับใน GitHub (เว็บคลังเก็บข้อมูลโค้ด) ได้รับการดาวน์โหลดมากที่สุด คุณก็น่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งไง นี่คือการรับรองทางสังคม ความสำคัญของปริญญาเริ่มน้อยลง”

กระทิง.jpg
  • กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก และดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ กองทุนเพื่อสตาร์ทอัพไทย

ปัจจุบันการพฤติกรรมของผู้เรียนเริ่มเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ ทักษะหลายอย่างสามารถหาได้จากยูทูบ ทำให้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและสื่อออนไลน์กลายเป็นตลาดที่น่าจับตามอง แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังมีการเปิดคอร์สเรียนออนไลน์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้

นอกจากนี้ ตลาดของธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาก็ไม่ได้มีเป้าอยู่ที่นักเรียนหรือผู้ปกครองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนทำงานทุกคนอีกด้วย เพราะบริษัทและพนักงานต้องปรับตัว reskill (เรียนรู้และปรับทักษะที่มีใหม่) เพื่อรับแรงปะทะจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมไป

กระทิง ให้ข้อมูลว่า ตลาดการลงทุนใน EdTech เป็นเทรนด์ที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยทั่วโลกมีการลงทุนจาก Venture Capital (ธุรกิจเงินร่วมลงทุน) สูงกว่า 9.52 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.98 แสนล้านบาท ใน EdTech กว่า 813 ธุรกิจ

สำหรับธุรกิจด้านการศึกษาในประเทศไทยโดยรวมนั้น กระทิงคาดว่ามีขนาดตลาดประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท โดยมองว่า EdTech มีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยด้วยสามเหตุผลด้วยกัน หนึ่ง คือ EdTech มีหลักฐานความสำเร็จในประเทศอื่นให้เห็นแล้ว อย่างเช่นใน เวียดนามมี EdTech 4 ตัว ที่ระดุมทุนในระดับ series A ได้แล้ว (การระดุมทุนระดับที่มีโมเดลธุรกิจชัดเจน มูลค่าการลงทุนอยู่ในช่วง 1-15 ล้านเหรียญสหรัฐ) สอง EdTech ในไทยเป็นตลาดที่ยังใหม่และกว้างขวาง ไม่ต้องแย่งดีลกับคนอื่น สามารถเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพที่ดีและสนใจตั้งแต่ต้นๆ ได้ สาม สตาร์ทอัพด้านการศึกษาจากต่างชาติยังเข้ามาทำการตลาดในไทยน้อย จึงมีโอกาสที่ EdTech ไทยที่ลงทุนจะกลายเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดได้

“เราก็เห็นตอนนี้ว่าตลาด EdTech ทั่วโลก มีเงินลงทุน 9.52 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปีนี้น่าจะหมื่นล้าน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเงินลงทุนเป็นพันๆ ล้าน เป็นตลาดที่กำลังเติบโต แล้วผมว่ามันเป็นตลาดที่มันมีสมการทางเศรษฐกิจ และสมการทางธุรกิจที่ดี”

อย่างไรก็ตาม EdTech ในประเทศไทยกลับยังคงมีให้เห็นไม่มาก


อุปสรรคของ EdTech ไทย

ธรรมชาติของ EdTech นั้นจะเติบโตในลักษณะของกราฟรูปตัวเจ (J curve) กล่าวคือจะขาดทุนอย่างหนักในช่วงแรก ก่อนจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในภายหลัง เนื่องจาก EdTech หลายๆ ตัวอาจจะไม่ได้ทำเงินได้ตั้งแต่ต้น และหาโมเดลธุรกิจหรือวิธีการสร้างรายได้ของตัวเองค่อนข้างยากกว่าสตาร์ทอัพประเภทอื่น

ในฐานะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านการศึกษา ชิน วังแก้วหิรัญ ผู้ก่อตั้ง วอนเดอร์ (Vonder) แชทบอทเพื่อการศึกษา มองว่าข้อจำกัดและอุปสรรคของการเกิด EdTech ในไทยมีอยู่หลายส่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาแรกคือ ที่มาของรายได้ เพราะการจะเกิดเป็นธุรกิจได้จำเป็นต้องมีผู้ซื้อ ชนชั้นกลางอาจจะมีกำลังจ่ายในระดับหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีกำลังซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการศึกษา เงินที่หามาได้ต้องนำไปจ่ายค่าเทอมลูกก่อน และภาครัฐก็มองว่า EdTech จะต้องเป็นสิ่งของจับต้องได้ โดยไม่นับรวมแพลตฟอร์มการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต เช่น เงินอุดหนุนการศึกษาของรัฐเองมองว่าสื่อการเรียนต้องเป็นหนังสือ โดยไม่นับเทคโนโลยีการศึกษาอื่นๆ

“เราจะเห็นว่ามีธุรกิจการศึกษาแค่เพียงไม่กี่ตัวที่สามารถผูกขาดการศึกษากับรัฐได้ เพราะภาครัฐก็จะมีกฎระเบียบเต็มไปหมดว่าถ้าจะทำ EdTech ต้องมาเป็นของ เป็นวัตถุจับต้องได้ จริงๆ แล้วถ้าเขาลองเปิดใจว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กเรียนดีขึ้น ผมว่าภาครัฐนั่นแหละคือคนที่ได้ประโยชน์จาก EdTech เหล่านี้มากที่สุด เพราะถ้าวันหนึ่ง EdTech รวมพลังกัน ทำให้นักเรียนเรียนได้ดีขึ้น ครูสอนได้ดีขึ้น คนที่ได้รับไปตรงๆ ก็คือภาครัฐ”

shin.jpg
  • ชิน วังแก้วหิรัญ ผู้ก่อตั้ง วอนเดอร์ (Vonder) สตาร์ทอัพแชทบอทเพื่อการศึกษา

ประการที่ 2 วงการการศึกษาเป็นอุตสาหกรรมท้ายๆ ที่คนเลือกมาเป็นผู้ประกอบการ เพราะล้มเหลวได้ง่าย คนจึงเลือกทำธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสรอดมากกว่า

“เพื่อนผมหลายคนก็อินกับประเด็นการศึกษามาก แต่ก็ไปทำ FinTech (สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเงิน การลงทุน) ไปทำอย่างอื่น เพราะเขาไม่อยากเฟล เฟลมาแล้วใครรองรับการล้มเหลวของเขา ไม่มีใครมาช่วยประกันได้เลยว่าเขาจะอยู่ต่อได้”

ประการที่ 3 คือค่านิยมของคนไทย คนไทยกลัวความล้มเหลว ในอดีต การเป็นผู้ประกอบการมีความกดดันสูง หากใครทำธุรกิจแล้วล้มเหลว ก็ยากจะกลับไปทำงานบริษัทต่อ บริษัทก็ไม่อยากรับความเสี่ยงนั่น แต่ปัจจุบันปัญหานี้เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น บริษัทใหญ่ๆ เริ่มเข้าใจว่าความล้มเหลวของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และอาจกลายเป็นประสบการณ์ที่เป็นแต้มต่อด้วยในการทำงาน จึงน่าจะได้เห็นคนกล้าออกมาเป็นผู้ประกอบการกันมากขึ้น


นวัตกรรมการศึกษา ยังรอความเข้าใจจากนักลงทุนและภาครัฐ

ปัญหาของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษานั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยความเข้าใจและการสนับสนุนจากนักลงทุนและภาครัฐ กระทิง มองว่านักลงทุนใน EdTech ต้องทำมากกว่าแค่การให้เงินทุน แต่ควรชี้แนะ ช่วยหาพนักงาน ช่วยหาลูกค้า และช่วยหาโมเดลธุรกิจด้วย

กระทิงยกตัวอย่าง โครงการสตอร์มเบรกเกอร์เวนเจอร์ (Storm Breaker Venture) ของเขาซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งเครื่องสตาร์ทอัพด้านการศึกษาโดยเฉพาะ โดยช่วย EdTech ในระยะตั้งไข่ ค้นหาวิธีการทำรายได้ ให้เงินลงทุน 500,000 ถึง 1,500,000 บาทต่อทีมเพื่อลดความกังวลเรื่องเงินทุน ช่วยทำการตลาด และเชื่อมต่อทีมต่างๆ กับบริษัทใหญ่ที่อาจเป็นลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์ได้ เพื่อให้ EdTech ผ่านช่วงที่ต้องขาดทุนในตอนแรกเริ่มไปได้เร็วขึ้น

”ถ้าถามผมนะ อย่างเราเนี่ยเปิดโครงการขึ้นมา เราไม่ได้ทำแค่ลงทุนอย่างเดียว เราช่วยเขาแทบทุกอย่าง เหมือนกับเป็นทีม เหมือนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของเขาเลย แต่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งที่ไม่ได้เงินเดือนนะครับ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือจากนักลงทุนภาคเอกชนเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่ต้องได้รับความเข้าใจจากภาครัฐด้วย เริ่มจากการนับรวมสื่อออนไลน์เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ซื้อได้ด้วยงบอุดหนุนการศึกษาของรัฐ

“ทุกวันนี้สื่อออนไลน์ไม่นับรวมกับงบหนังสือเรียนเพราะมันไม่ใช่สื่อการเรียนการสอน เธอต้องไปซื้อหนังสือ แต่เด็กมันเรียนกันอย่างนี้ ภาษาอังกฤษเรียนกันอย่างนี้ ทักษะดิจิทัลเขาเรียนกันอย่างนี้ งบรัฐไม่ได้ถูกแบ่งมาทางนี้เลย ภาครัฐต้องเข้าใจการศึกษาสมัยใหม่”

หนังสือกำลังจะกลายเป็นศิลปวัตถุ

กระทิงเสนออีกว่า ภาครัฐควรสร้างตลาดซื้อขายเทคโนโลยีการศึกษา หรือ EdTech marketplace ให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนมาจับจ่ายสนับสนุนผลิตภัณฑ์ EdTech ไทย แล้วได้ส่วนลดหย่อนภาษี พร้อมจัดตั้ง Impact Fund กองทุนที่ลงทุนกับสตาร์ทอัพที่ทำเพื่อสังคม เพราะ EdTech ในระยะแรกต้องหาโมเดลธุรกิจก่อน จึงอาจขาดทุนอย่างหนัก ต้องได้รับทุนอุดหนุนในช่วงแรก รวมถึงควรมีทุน Matching Fund หรือสมทบทุนรวมกับทุนที่ EdTech นั้นๆ มีอยู่เดิม รัฐบาลสามารถสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของนวัตกรรมการศึกษาไทยได้

On Being
198Article
0Video
0Blog