ไม่พบผลการค้นหา
การควบรวมกิจการคือเครื่องมืออย่างหนึ่งของยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะในตลาดที่โตด้วยตัวเองยากแล้ว การเข้าซื้อคู่แข่งเป็นเรื่องง่ายกว่ามากถ้ามีเงินพอ กรณีทรู-ดีแทคไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปจากแนวคิดนี้

แทบทุกประเทศทั่วโลกมีกฎหมายแข่งขันทางการค้าเพื่อป้องกันการผูกขาดและปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค ทว่าประสิทธิภาพในการบังคับใช้มีความแตกต่างกัน 

ไทยมีพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)

คำตัดสินอันโด่งดันของ สขค.หนีไม่พ้นคำตัดสินให้ ซี.พี. ควบรวมโลตัสไม่เป็นการผูกขาด เป็นแค่เพียง "การมีอำนาจเหนือตลาด" พร้อมกำหนดเงื่อนไข "อย่างเบาที่สุด" ตามคำจำกัดความที่ สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงส่วนน้อยในกรณี ซี.พี.-โลตัส เลือกใช้วิจารณ์เงื่อนไขของกรรมการเสียงส่วนใหญ่


ล้มดีลล้านล้านบาท

ตัวอย่างการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จมีให้เห็นค่อนข้างมากทว่าดีลที่ถูกล้มมีไม่เยอะนัก 

31 สิงหาคม 2554 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา (DOJ) ประกาศคำตัดสินไม่ให้ T-Mobile ควบรวมกิจการกับ AT&T 

DOJ ให้เหตุผลว่าการควบรวมมูลค่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.3 ล้านล้านบาท) ครั้งนี้จะลดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไร้สายลง 

ผู้บริโภคอเมริกันนับล้านต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้กับคุณภาพสินค้าและบริการที่ต่ำลง ตัวเลือกน้อยลง ทั้งยังนำไปสู่สินค้าที่มีนวัตกรรมต่ำลง

คำตัดสินของ DOJ ครั้งนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ AT&T, T-Mobile, Sprint และ Verizon โดย AT&T และ T-Mobile เป็นคู่แข่งโดยตรงซึ่งกันและกัน 

ชาริส เอ.โพเซน รักษาการแทนผู้ช่วยอัยการสูงสุดหน่วยป้องกันการผูกขาด กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า:

"หากการควบรวมครั้งนี้ไม่ถูกหยุดยั้ง...ผู้บริโภคจะเดือดร้อน"
mobile reuters

เกือบทศวรรษหลังจากดีล T-Mobile และ AT&T กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ต้องกลับมาตัดสินการควบรวมอีกครั้ง

ครั้งนี้เป็นคราวของ T-Mobile และ Sprint ด้วยมูลค่าการควบรวมกิจการ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8.7 แสนล้านบาท)

คำตัดสินลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ระบุให้ทั้งสองบริษัทควบรวมกันได้ภายใต้เงื่อนไขที่แยกบางส่วนในธุรกิจของ Sprint ให้กับ Dish Network บริษัทผู้ให้บริการโทรทัศน์ดาวเทียม รวมถึงการใช้คลื่นความถี่บางส่วนของ T-Mobile เพื่อเปิดทางให้ตลาดมีผู้บริการรายใหญ่ครบ 4 รายดังเดิม 

ราวหนึ่งปีให้หลังไฟเขียวของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ The Verge รายงานความไม่ราบรื่นในการส่ง Dish ขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่แทนที่ Sprint

Dish ต้องทุ่มเงินถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.68 แสนล้านบาท) เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ AT&T มาเป็นหุ้นส่วนผู้ให้บริการคลื่นความถี่แทนที่ T-Mobile ทั้งๆ ที่คำตัดสินของ DOJ ระบุให้ T-Mobile ต้องช่วยให้ Dish ขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่รายที่สี่ให้ได้

ขณะที่ Dish หาทางรอดใหม่ให้ตัวเอง ส่วน T-Mobile ย้ำว่าตนเองได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้วตามกรอบคำสั่ง DOJ จบบทบาทของตัวเองไปตั้งแต่เปิดทางให้มีการควบรวม

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งออกมาเตือนว่าท้ายที่สุดแล้วคำสัญญาของบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่อาจเป็นแค่ “คำสัญญาไร้ความหมาย” 

ฮัล ซิงเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ขึ้นให้การต่อต้านการควบรวมระหว่าง T-Mobile และ Sprint ให้สัมภาษณ์กับ The Verge ว่า ถ้า T-Mobile สามารถลดภาระตามกฎหมายโดยไม่ได้รับโทษ อะไรจะรับรองว่าบริษัทจะไม่ละเลยข้อกำหนดในอนาคต 

นอกจากนี้ ในวันที่ยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการควบรวมกิจการ T-Mobile ชี้ว่า หมากเกมนี้จะช่วยให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ทว่ารายงานจาก Wall Street Journal ช่วงเดือนมีนาคม 2564 ระบุว่า บริษัทปรับลดพนักงานประจำและพาร์ทไทม์ลงราว 5,000 ตำแหน่ง 

ทั้งนี้ ไมก์ เซียเวิร์ต CEO ของ T-mobile ชี้ว่า การปรับลดพนักงานเป็นเพราะโควิด-19 และบริษัทได้เปิดรับพนักงานกว่า 6,000 ตำแหน่งเพื่อรองรับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกลับมาเปิดอีกครั้ง 

ประวัติศาสตร์ที่บริษัทเคยสัญญาว่าหลังจากการควบรวมกิจการจะช่วยให้มีการเพิ่มการจ้างงานเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 

ในปี 2548 Sprint ยื่นเรื่องควบรวมกิจการกับ Nextel โดยระบุว่าเป็น “การกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและตำแหน่งงานในสหรัฐฯ”

หลังการควบรวมกิจการเกิดขึ้น พนักงานมากกว่า 8,000 คนสูญเสียอาชีพของตัวเองไป 


ไทย: สามเหลือสอง

ตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลาดโทรคมนาคมไทยฝั่งโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรายใหญ่ 3 เจ้า

  • บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) มีส่วนแบ่งตลาด 40%
  • บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) มีส่วนแบ่งตลาด 30%
  • บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) มีส่วนแบ่งตลาด 20% 

ส่วนสองรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมที่ควบรวมกิจการกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมาอย่าง กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งแค่ 3% ของทั้งอุตสาหกรรมนี้

unsplash-มือถือ-แอปพลิเคชั่น-แอปฯ แชท-โทรศัพท์-สมาร์ทโฟน-smart phone-app chat

รายได้ของแต่ละบริษัท

ถ้าย้อนกลับไปดูสถานะทางการเงินของทั้ง 3 บริษัท จะเห็นได้ว่า เจ้าตลาดอย่างเอไอเอสน่าจะหายใจได้สะดวกที่สุด

  • เอไอเอส

รายรับของเอไอเอสตั้งแต่ปี 2560 โตมาตลอดในระดับเกิน 1.5 แสนล้านบาทมาตลอด ก่อนจะดิ่งลงไปติดลบราว 4.42% ในปี 2563 ด้วยยอด 1.7 แสนล้านบาท

ส่วนทิศทางของกำไรจากการดำเนินการ หรือ EBITDA ที่เป็นรายได้ก่อนหักค่าดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมของสินทรัพย์เป็นบวกตลอดทั้ง 4 ปี EBITDA ในปี 2563 ของเอไอเอสสูงถึง 89,574 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 14.09% จากปีก่อนหน้า 

  • ดีแทค

รายรับของดีแทคติดลบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จากตัวเลขราว 77,000 ล้านบาท ปี 2563 ดีแทคมีรายรับเหลือ 66,900 ล้านบาทเท่านั้น

EBITDA บวก 10.98% ในปี 2560 มาติดลบ 31.98% ในปีถัดมา ก่อนกลับมาบวก 45.54% ในปี 2562 และลงไปติดลบ 0.80% ในปีที่ผ่านมา 

  • ทรู

ทรูมีรายรับเป็นบวกช่วงปี 2560-2561 มียอดรายรับสูงสุดในปี 2561 ที่ตัวเลข 1.6 แสนล้านบาท ก่อนจะลงไปติดลบ 12.90% ในปี 2562 และติดลบ 1.94% ในปี 2563 ทั้งนี้ EBITDA ของทรูปีล่าสุดโตถึง 61.97% 

ธรรมชาติของธุรกิจโทรคมนาคมต้องใช้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูง การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคไม่เพียงจะช่วยลดปัญหาตรงนั้นแต่ยังช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ทั้งสองบริษัท

หากทรูและดีแทคสามารถรวมกิจการได้จริงบริษัทใหม่นี้จะกินส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และผู้เล่นรายใหญ่ที่เคยมี 3 ราย จะลดลงมาเหลือ 2 รายเท่านั้น เป็นผลดีอย่างชัดเจนต่อทั้งสองบริษัท

โทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ-สมาร์ทโฟน-4G

ถ้าการควบรวมเกิดขึ้นจริง ? 

ปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมฝั่งโทรศัพท์เคลื่อนที่มีค่าดัชนีความกระจุกตัวหรือ HHI ที่ 3,453 โดยหากดัชนีมีค่ามากกว่า 2,500 แสดงว่าตลาดมีการกระจุกตัวสูง และอาจขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน 

ฝั่งธุรกิจไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าผลประโยชน์ ขณะฝั่งผู้บริโภคคือหนังคนละม้วน 

'เอียน ฟอกก์' นักวิเคราะห์จาก Opensignal กล่าวกับวอยซ์ว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมราว 3-4 ราย มีเพียงบางประเทศเท่านั้นมีผู้เล่นเพียง 2 ราย 

“การมีผู้ให้บริการน้อย หมายถึงการแข่งขันที่ไม่เพียงพอและจะส่งผลเสียต่อคุณภาพในการให้บริการในที่สุด”

ตามการจัดอันดับของ cable.co.uk ในปี 2564 ผ่านราคาค่าบริการต่ออินเทอร์เน็ต 1 กิกะไบต์ (GB) ไทยอยู่อันดับที่ 57 จากทั้งหมด 230 ประเทศที่จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์แพงที่สุด ด้วยราคาเฉลี่ย 35.70 บาท/1 GB 

ในอาเซียนด้วยกันอินโดนีเซียจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือถูกที่สุดเพียง 14.15 บาท/1 GB ขณะที่อิสราเอลซึ่งครองแชมป์ประเทศที่ประชาชนจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตถูกที่สุดในโลก จ่ายเพียง 1.68 บาท/1 GB เท่านั้น 

อิสราเอลมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 6 ราย ขณะที่อินโดนีเซียมีผู้ให้บริการรายใหญ่ 5 บริษัท 

เซอร์กิว อันกูเรนู อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจาก City, University of London สรุปกับวอยซ์ว่า ผลกระทบต่อผู้บริโภคในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อยได้แก่ ราคาของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตัวเลือกของสินค้าหรือบริการที่ลดลง และระดับนวัตกรรมในอนาคตที่ลดลง 

หนทางเดียวที่ผู้บริโภคหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากการถูกเอกชนเอาเปรียบขณะที่บริษัทเหล่านั้นพยายามหากำไรเพิ่มเติมให้ตนเองคือหน้าที่ของรัฐบาล

หากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการโดยไม่มีเงื่อนไขบรรเทาความเดือดร้อนที่ครอบคลุมหรือร้ายไปกว่านั้นคือปล่อยให้มีการควบรวมกิจการโดยบังคับใช้เงื่อนไข "อย่างเบาที่สุด" สุดท้ายประชาชนก็เป็นแค่เหยื่อของกฎหมายที่เอื้อนายทุน