ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไล่บี้ผู้นำกองทัพความจำเป็นปมเช่ารถยนต์ให้บิ๊กกองทัพ 36 คน ซักปมอากาศยานไร้คนขับต้องผ่านสภาครองเกรสก่อน ผบ.ทสส.เผยพูดไม่เก่ง ขอเปิดเพลงปลุกใจของกองทัพ ขณะที่ปลัดกลาโหมแจงเกณฑ์ทหารลดกำลังพลลงเหลือเพียง 80,000 คนแล้ว เปิดทางให้สมัครใจเข้าเป็นทหารผ่านออนไลน์

วันที่ 18 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะกรรมาธิการฯ สัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย ตั้งคำถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของนายทหารระดับสูง โดยขอทราบรายละเอียดเงินตอบแทนพิเศษทหารระดับพันเอก (พิเศษ) ขึ้นไป จนถึงระดับนายพล ว่ามีอัตราการจ่ายอย่างไร และจ่ายอยู่จำนวนกี่นาย รวมงบประมาณเท่าใด 

สมชัย ยังอ้างว่า ได้รับจดหมายจากกำลังพลส่งมาให้และขออ่านสอบถามเพื่อให้เหล่าทัพต่างๆ ชี้แจง โดยระบุว่าได้รับการแจ้งจากคนในกองทัพว่า ปัจจุบันทุกเหล่าทัพ มีการเช่ารถยนต์ให้ผู้บริหารระดับสูง รวม 36 คน เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดฯ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และที่ปรึกษากองทัพ โดยรถที่เช่า เป็นรถเบนซ์ S500 และ S400 ซึ่งในจดหมายดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่าการเช่ารถให้ผู้บริหารกองทัพมีหลักเกณฑ์เหมือนหน่วยราชการอื่นทั่วไปหรือไม่ที่จะมีการกำหนดวงเงิน ค่าเช่า และจำนวนซีซีของรถยนต์ เทียบกับตำแหน่งต่างๆ ซึ่งตนอยากได้รับคำชี้แจงจากกองทัพ ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

’ยุทธพงศ์' จี้ ทอ.สั่งซื้อยานบินไร้คนขับผ่านสภาคองเกรส

ด้าน ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ สอบถามกรณีการซื้ออากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี ของกองทัพเรือ ว่า มีรายละเอียดอย่างไร และยังถามกองทัพเรือต่อถึงการแก้ปัญหาเรือดำน้ำที่ไร้เครื่องยนต์ ระบุว่า ลำพังกองทัพเรือคงไม่สามารถยุติปัญหาดังกล่าวได้เพราะการทำสัญญาเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ จึงต้องการทราบว่ากระทรวงกลาโหมจะดำเนินการอย่างไร 

ทั้งนี้ ยังได้สอบถามถึงงบประมาณเครื่องบินรบแบบยุทธศาสตร์ F-35 A ของกองทัพอากาศซึ่งเริ่มตั้งงบในปี 2566 ในราคาลำละ 2,900 ล้านบาท และจะจัดซื้อเบื้องต้น 4 ลำ ว่า การซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ตนทราบมาว่า ไม่ใช่ว่าใครก็จะซื้อได้ แต่จะต้องได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงอยากทราบว่าการที่สภาฯ ตั้งงบประมาณในการขอจัดซื้อ ได้รับอนุมัตินั้นจากสภาคองเกรสแล้วใช่หรือไม่ และหากยังไม่ได้รับอนุมัติ ขั้นตอนในการขออนุมัติ จะใช้เวลานานเท่าใด 

ทั้งนี้ เพราะหากยังไม่มีการอนุมัติ แล้วให้สภาฯ ตั้งงบไปก่อน คำถามต่อมาคือ จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันหรือไม่ 

ปลัดกลาโหม’ เผยกองทัพมุ่งลดกำลังพล ย้ำทหารเกณฑ์ชีวิตดี มีเบี้ยเลี้ยง

จากนั้น พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงยืนยันว่า ทุกเหล่าทัพมีนโยบายชัดเจนในการลดกำลังพล โดยเริ่มมาตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2570 อัตราผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องลดลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่กำลังพลทั่วไปจะลดลง 5% ของอัตราบรรจุจริง โดยขณะนี้ในทุก 3 เดือน กระทรวงกลาโหมสั่งการให้ทุกเหล่าทัพรายงานกรอบอัตรากำลังพล เพื่อให้นโยบายดังกล่าวบรรลุผล 

ทั้งนี้ การรับสมัครตั้งแต่นักเรียนนายสิบ ไปจนถึงนักเรียนนายร้อย นายเรือ และนายเรืออากาศ ก็มีการปรับลดจำนวนลงตามลำดับ ขณะเดียวกันในการจัดวางอัตรากำลังพล ซึ่งใช้กรอบการจัดตั้งตามมาตรฐานแบบตะวันตก ซึ่งมีกำหนดไว้ชัดเจนว่า 1 กองพล ต้องมีกี่กองร้อย และ 1 กองร้อย ต้องมีกี่คน ปัจจุบันในการบรรจุจริง ก็ไม่ได้เกิน 60% ของอัตรา คือไม่ได้บรรจุเต็มร้อย ยกเว้นในอนาคตหากมีสถานการณ์ จึงจะมีการพิจารณาตามสถานการณ์

สำหรับประเด็นการเกณฑ์ทหาร ยืนยันว่า มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นปีนี้เรียกประจำการเพียง 80,000 คนเศษ เพราะกองทัพได้พิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็น เนื่องจากการนำทหารเข้าประจำการไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เบ็ดเตล็ดด้วย เช่น ค่าเครื่องแบบ และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

พล.อ.วรเกียรติ ยืนยัน กองทัพโดยเฉพาะกองทัพบกเดินหน้านโยบาย สมัครใจเข้าเป็นทหาร ผ่านระบบออนไลน์ และเปิดโอกาสให้ทหารประจำการ สามารถสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบได้ถึง 80% ส่วนข้อถามถึงคุณภาพชีวิต และสิทธิของทหารที่เข้าประจำการนั้น ยืนยันว่าทหารที่ถูกเรียกเข้าประจำการจะได้รับการศึกษาและการฝึกอาชีพและยังมีรายได้ทั้งเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยง เหลือเพียงพอให้ทหารส่งให้ครอบครัวได้ ส่งผลให้ปัจจุบันมีตัวเลขทหารที่ปลดประจำการ และขอสมัครต่อ ซึ่งกองทัพจะพิจารณาอนุญาตให้ คราวละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปีต่อเนื่องอยู่ทุกปี 

พล.อ.วรเกียรติ ชี้แจงถึงประเด็นงบราชการลับว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ในการรักษาความมั่นคง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2547 ที่กำหนดภารกิจไว้ 4 ประเภท โดยทุก 3 เดือนจะต้องเสนอรายงานการใช้จ่ายให้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้รับทราบ ขณะเดียวกันเมื่อปี 2564 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจงบลับเพิ่มเติมต่อเนื่อง และในปี 2565 ผู้ว่า สตง. ได้เข้าพบผู้บริการเหล่าทัพต่างๆ เพื่อแจ้งหลักเกณฑ์ และจะเริ่มต้นเข้ามาตรวจงบลับของกองทัพตั้งแต่ปี 2566 ด้วย 

ส่วนกรณีการซื้อยูเอวี ตรวจการชายฝั่งกองทัพเรือ ยืนยันว่าเป็นไปตามระเบียบ เพราะหากใช้จ่ายงบประมาณเกิน 500 ล้านบาท จะต้องมาขออนุมัติที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งตนในฐานะปลัดกระทรวงฯ จะดูว่าเป็นไปตามขั้นตอน และผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพระธรรมนูญ หรือสำนักงบประมาณของกระทรวงกลาโหมหรือไม่ 

แจงสัมพันธ์เมียนมา ชี้ต้องลดผลกระทบชายแดน

พล.อ.วรเกียรติ​ ชี้แจงถึงกรณีเครื่องบินรบเมียนมา ระบุว่า ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ การมีความสัมพันธ์ที่ดี การเสริมสร้างกำลังเหล่าทัพก็อยู่ในระดับหนึ่ง จะหาความสัมพันธ์ไม่ดีมีเกณฑ์เสี่ยงที่จะเกิดการใช้กำลัง การเสริมสร้างกำลังของกองทัพก็ต้องใช้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ 

ขณะเดียวกันประเทศเมียนมาก็เช่นกัน ที่มีปัญหาการรัฐประหาร หรือปัญหาภายใน ทำให้ทางการเมียนมาโดนกดดันโดย ประเทศมหาอำนาจต่างๆ แม้กระทั่งประเทศในกลุ่มอาเซียนก็มีการกดดันต่อประเทศเมียนมา ซึ่งทางการไทยได้ยื่นฉันทามติ 5 ข้อตามที่เคยเป็นข่าว 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีคณะกรรมการชายแดนทางทหารมีความร่วมมือกัน รวมถึงคณะกรรมการระดับนโยบาย HLC ก็เป็นปัญหาร่วมกับฝ่ายเมียนมา ซึ่งกระทรวงกลาโหมก็จะดำรงไว้ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นช่องทางในการพูดคุยเจรจากับฝ่ายเมียนมา เพราะจากการที่เรามีพรมแดน เป็นระยะทางยาวไกล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกความร่วมมือที่ดี เพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดน

ผบ.ทสส.บอกพูดไม่เก่ง ขอเปิดเพลงปลุกใจ 2 นาที

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ระบุว่าการชี้แจงในวันนี้เป็นการเปิดโอกาสให้กองทัพชี้แจงงบประมาณ ยืนยันว่ากองทัพเป็นของรัฐไทยและประชาชน พร้อมกับเผยว่า ตนเป็นคนพูดไม่เก่ง จึงขอเวลา 2 นาที เพื่อเปิดเพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจเกี่ยวกับกองทัพในการปกป้องประเทศ ขณะที่ วราเทพ รัตนากร รองประธานกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธาน ขอบคุณกองทัพที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ทั้งการเตรียมตัวและการเสียเวลา