ไม่พบผลการค้นหา
ซีไอเอ "ไม่ค่อยเห็นด้วย" กับแผนการถอนทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานของผู้นำสหรัฐฯ ระบุอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเครือข่ายข่าวกรอง

หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศแผนการเตรียมถอนทหารสหรัฐฯ ที่เหลือทั้งหมดราว 2,500 นาย ออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 11 ก.ย.ปีนี้ ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 20 ปี เหตุวินาศกรรม 9/11 โดยผู้นำสหรัฐฯ ระบุถึงในตอนหนึ่งของเหตุผลการถอนทหารว่า ถึงเวลายุติความรุนแรงอันเนิ่นนานในพื้นที่ตะวันออกกลางโดยเฉพาะอัฟกานิสถาน และว่าเพื่อไปจัดการกับภัยคุกคามในรูปแบบอื่นในพื้นที่อื่นแล้ว

การถอนทหารดังกล่าว หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารัฐบาลวอชิงตันจะให้ความสำคัญกับการจัดการความสัมพันธ์และความท้าทายจากอิทธิพลจีนมากขึ้น ขณะเดียวกัน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางเยือนกรุงคาบูลเป็นการด่วน เพื่อชี้แจงแผนการถอนทหารต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอัฟกานิสถาน โดยยอมรับว่า แม้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานยังไม่อาจไว้วางใจได้ แต่ภัยคุกคามรูปแบบคุกคามแบบอื่นได้เกิดขึ้นแล้ว สหรัฐฯ ไม่อาจอยู่ในวังวนของสงครามอันไร้จุดจบได้อีกต่อไป 

แผนการถอนทหารของกองทัพสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบถึงการดำเนินงานด้านข่าวกรองเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ทั้งอดีตและปัจจุบัน เผยความคิดเห็นต่อซีเอ็นเอ็น ในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยต่อแผนการถอนทหารสหรัฐฯ รวมถึงชาติพันธมิตรทั้งหมดจากพื้นที่อัฟกานิสถาน 

เจ้าหน้าที่ซีไอเอเผยตรงกันว่า การปฏิบัติงานด้านข่าวกรองยังต้องการสนับสนุนจากกองทัพ ทั้งในแง่การรวบรวมข้อมูลข่าวกรองทั้งระดับบนดินจนถึงเบื้องลึก ซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงและอันตรายมากหากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการสนับสนุนของกลาโหม การสร้างเครือข่ายข่าวกรองในระดับลึกเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ตลอด 20 ปีที่สหรัฐฯ มีปฏิบัติการในอัฟกานิสถานอาจสูญเปล่าได้ 

สอดคล้องกับวิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง หรือ ซีไอเอ ที่เผยตรงกันว่า การถอนทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดจากอัฟกานิสถานนั้นเป็นการ "เปิดโอกาสความเสี่ยงสูง" ที่บรรดากลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มเคลื่อนไหวหัวรุนแรงฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ภารกิจสำคัญของซีไอเอในตะวันออกกลางโดยเฉพาะอัฟกานิสถานคือ การจับตาและหาทางป้องกันไม่ให้ภัยคุกคามเหล่านี้ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง การไร้ทหารอเมริกันประจำการในพื้นที่ จะส่งผลอย่างมากต่อข้อมูลข่าวกรองในพื้นที่เปราะบางแถบเอเชียกลางและตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม เบิร์นส์ ยอมรับว่า ได้เกิดภัยคุกคามอีกรูปแบบที่ไม่มีใครเทียบได้ จากความทะเยอทะยานด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีน ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก นอกจากนี้ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19, ประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน, คาบสมุทรเกาหลี และภัยคุกคามทางไซเบอร์จากรัสเซียก็เป็นอีกภัยคุกคามสำคัญที่ยังคงต้องจับตาในอนาคตเช่นกัน

ที่มา: CNN , ABC