เป็นกระแสฮือฮาอย่างมาก กรณี ‘บิ๊กโจ๊ก’ สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ทำหนังสือขอคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ ‘สุชาติ ตระกูลเกษมสุข’ หนึ่งใน ป.ป.ช. ที่จะต้องดูแลคดีบิ๊กโจ๊กและพวกที่เกี่ยวพันกับเว็บพนันออนไลน์ โดยระบุว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
เนื้อหาที่ชี้แจงความไม่เหมาะสมของ ป.ป.ช.คนดังกล่าวน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะโกรธเคืองกันเรื่องอะไร แต่เพราะมีการพาดพิง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เนื่องจากบิ๊กโจ๊กเคยพาสุชาติเมื่อครั้งเพิ่งสมัครเป็น ป.ป.ช.เข้าพบ เพื่อขอให้สนับสนุนการดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.
ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และเป็นที่รับรู้กันว่าเป็น ‘มือฟัน’ นักการเมืองมานักต่อนัก อำนาจมีมากขนาดว่า หากอัยการเห็นควร ‘ไม่ฟ้อง’ ในคดีใด ป.ป.ช.ก็สามารถเป็นโจทก์ส่งฟ้องต่อศาลเองได้ ในขณะที่หลายเรื่องที่ผู้คนอยากให้เป็นคดี อย่างคดีฟ้องร้องผู้รับผิดชอบออกคำสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ป.ป.ช.ก็สามารถปัดตกได้โดยง่ายและเป็นอันสิ้นสุดกระบวนการ จนปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีแก้กฎหมาย ป.ป.ช.ให้อัยการมีอำนาจฟ้องต่อเองได้ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ แม้ ป.ป.ช.จะปัดตกก็ตาม
นอกจากนี้ ป.ป.ช. ไม่จำเป็นต้อง passive ทำเฉพาะการทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังสามารถ ‘ชี้นำ’ นโยบายของรัฐบาลก่อนจะลงมือทำได้ด้วย เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ท เป็นต้น
ด้วยเหตุที่สปอตไลท์ส่อง ป.ป.ช.อย่างหนัก ‘วอยซ์’ จึงรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความรู้จัก เส้นทางการได้มาของ ป.ป.ช.อีกครั้ง
เริ่มต้นผู้ที่จะสมัครเป็น ป.ป.ช. จะต้องผ่าน ‘คณะกรรมการสรรหา’ ซึ่งประกอบด้วย 9 คน (จะกล่าวถึงต่อไป) ก่อนจะส่งชื่อให้ สว.อนุมัติหรือปัดตก
แม้ สว.จะไม่ใช่คนเลือกแต่ต้น แต่ก็มีส่วนอย่างมากในการเลือก เพราะหากปัดตกก็จะต้องคัดเลือกกันใหม่แต่ต้น คนที่ถูกปัดตกจะสมัครใหม่ไม่ได้ ที่ผ่านมา เคยมีการปัดตกผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในด่าน สว.มาแล้ว อย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่
สถาพร วิสาพรหม
รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ถูกปัดตกไม่ได้เป็น ป.ป.ช. แม้จะผ่านขั้นตอนสุดเข้มเอาชนะคู่แข่งกว่า 21 คนมาได้ เหตุเพราะ ‘บัตรสนเท่ห์’ ที่ลงชื่อผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 รุ่นเดียวกับสถาพร ร้องเรียนว่า สถาพรไม่มีคุณสมบัติ เนื่องจากไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อนตามกฎหมายกำหนด
ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูก สว. ปัดตกไม่ให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. โดยสำนักข่าวอิศราอ้างแหล่งข่าวจากวุฒิสภาเปิดเผยว่า มีคนส่งเรื่องร้องเรียนมายังกรรมการตรวจสอบประวัติฯ โดยอ้างว่า ศ.อารยะ มีพฤติการณ์และแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงนำไปสู่การอภิปรายในที่ประชุมลับ กระทั่งที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นชอบในที่สุด
วิษณุ วรัญญู
รองประธานศาลปกครองสูงสุด ถูก สว.ปัดตก ไม่เห็นชอบดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด สร้างความคลางแคลงใจของผู้คนในสังคม เนื่องจากวิษณุถือเป็นบุคคลที่มีผลงานวิชาการมากมาย และเป็นนักกฎหมายมหาชนผู้เอกอุ ไม่มีปัญหาคุณสมบัติใดๆ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้วิษณุถูกโจมตีจากกรณีเคยเป็นประธานงานแต่งงานให้กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล หลายฝ่ายคาดว่าอาจเป็นชนวนเหตุของการปัดตกครั้งนี้
รัชนันท์ ธนานันท์
อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ถูก สว.ปัดตก ไม่เห็นชอบดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด โดยสำนักข่าวอิศราเคยรายงานข่าวว่า สาเหตุที่ สว. ปัดตก อาจเพราะเมื่อปี 2558 เมื่อครั้งรัชนันท์ยังเป็นทูต เคยไปต้อนรับและถ่ายภาพคู่กับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตอนไปเยือนฟินแลนด์
พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง
ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ถูก สว. ตีตก ชวดนั่งเก้าอี้ ป.ป.ช. แม้จะผ่านด่านกรรมการสรรหามาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ตำแหน่งทางราชการ ไม่เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี แม้จะมีการตรวจสอบกันแล้วในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ
อันที่จริงสื่อมวลชนโจษจันกันมานานแล้วว่า สว.นั้นเหมือนจะมี ‘สายใครสายมัน’ เช่น กรุงเทพธุรกิจวิเคราะห์กรณี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ไว้ว่า “ล็อกถล่มหลัง สว. โหวตคว่ำ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ชวดนั่งกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่ถูกจับจ้องว่ามีพลังพิเศษจาก ‘ลุง’ คอยสนับสนุน ทว่าอีกหนึ่ง ‘ลุง’ อาจจะไม่แฮปปี้ หาก พล.ต.ท.ธิติ เข้าวิน เพราะยืนอยู่คนละฝั่ง หากปล่อยอาจจะเป็นหนามยอกอก” และยังมีบทวิเคราะห์อื่นๆ อีกมากมาย
ป.ป.ช. คือใคร สรรหาอย่างไร
ด่านหินสรรหา กรรมการ ป.ป.ช.
รอบที่หนึ่ง - กรรมการสรรหาแต่ละคน ลงคะแนนได้ไม่เกินจำนวนที่ต้องการสรรหา (หากสรรหาแค่ 1 คน ก็ลงได้แค่ 1 คะแนน) โดยผู้ชนะรอบแรกต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 (ต้องได้รับ 6 คะแนน)
รอบที่สอง - ถ้าไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ให้ลงคะแนนใหม่
รอบที่สาม - ถ้าไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ให้ดำเนินการสรรหาใหม่