จากรายงานของสำนักข่าว Reuters ระบุว่า ชุดอาวุธซึ่งรวมถึงระเบิดลูกปรายที่ยิงจากปืนใหญ่โฮวิตเซอร์ขนาด 155 มม. จะได้รับการประกาศส่งมอบจากสหรัฐฯ ไปยังยูเครนในวันนี้ (7 ก.ค.)
หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานอ้างถึงบุคคลที่คุ้นเคยกับการพิจารณาดังกล่าว ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อว่า ผู้ช่วยคนสำคัญหลายคนของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมทั้ง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แนะนำให้สหรัฐฯ ส่งอาวุธดังกล่าวไปยังยูเครน ในช่วงของการประชุมเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติระดับสูงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ระเบิดลูกปรายสามารถปล่อยระเบิดลูกเล็กๆ ออกมาเป็นจำนวนมากในพื้นที่วงกว้าง โดยมันก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อพลเรือนทั้งในช่วงสงครามและหลังจากจากสงครามจบลงในไม่นาน เนื่องจากลูกระเบิดบางลูกไม่ได้ระเบิดได้ในทันทีเมื่อมันถูกปล่อย
ด้วยความรุนแรงของอาวุธ และความเสี่ยงต่อพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม ส่งผลให้มีประเทศกว่า 120 ประเทศได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยระเบิดลูกปรายประจำปี 2551 เพื่อห้ามการใช้อาวุธเหล่านี้ ซึ่งหมายรวมถึงบางประเทศที่เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ และยูเครน เช่น ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ยูเครน รัสเซีย และสหรัฐฯ ยังไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยระเบิดลูกปราย แม้ว่ากฎหมายในปี 2552 จะห้ามสหรัฐฯ ไม่ให้ส่งออกระเบิดลูกปราย ที่มีอัตราความล้มเหลวของระเบิดสูงกว่า 1% โดยคำสั่งดังกล่าวครอบคลุมทุกคลังแสงของกองทัพสหรัฐฯ ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ไบเดนสามารถลบล้างข้อห้ามดังกล่าวได้ ในกรณีที่เห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์วิพากษ์วิจารณ์ยูเครนและรัสเซีย สำหรับการใช้ระเบิดลูกปรายในความขัดแย้ง โดยฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า รัสเซีย “ใช้ระเบิดลูกปรายอย่างเป็นวงกว้าง อันเป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก” ในขณะที่การโจมตีด้วยจรวดระเบิดลูกปรายของยูเครนในเมืองอิซุมที่รัสเซียยึดครองในขณะนั้นเมื่อปี 2565 ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 8 คนและบาดเจ็บอีก 15 คน อย่างไรก็ดี ยูเครนระบุฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาไม่ได้ใช้ระเบิดลูกปรายในหรือรอบๆ เมือง ณ เวลานั้น
“ระเบิดลูกปรายที่รัสเซียและยูเครนใช้ กำลังสังหารพลเรือนในขณะนี้ และจะเป็นเช่นนั้นต่อไปอีกหลายปี” แมรี แวร์แฮม จากฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุในแถลงการณ์ “ทั้งสองฝ่ายควรหยุดใช้มันทันที และอย่าพยายามรับอาวุธที่ไม่เลือกปฏิบัติเหล่านี้อีก”
แม้จะมีความกังวลด้านมนุษยธรรม แต่ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนคนอื่นๆ ได้เรียกร้องให้มีการส่งชุดยุทโธปกรณ์ใหม่เข้ามาแก่ยูเครน โดยกล่าวว่ามันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการฝ่าด่านรัสเซีย ที่ทำให้การยกทัพตีตอบโต้ของยูเครนช้าลง นอกจากนี้ ยูเครนยังระบุว่าพวกเขามีกระสุนปืนใหญ่ธรรมดาเหลือน้อยลงแล้ว
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งระบุกับ The New York Times ว่าเห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ในสนามรบ ณ ปัจจุบันส่งผลให้ระเบิดลูกปรายมีความ “จำเป็น 100%” โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า กองทัพสหรัฐฯ เชื่อว่าระเบิดลูกปรายจะมีประโยชน์สำหรับยูเครน แต่พวกเขาไม่ได้รับการอนุมัติแก่ยูเครนก่อนหน้านี้ เนื่องจากข้อจำกัดของรัฐสภาและความกังวลในหมู่ชาติพันธมิตร
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า ชุดความช่วยเหลือทั้งหมดของสหรัฐฯ คาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท) รวมถึงยุทโธปกรณ์สำหรับระบบจรวดปืนใหญ่เคลื่อนที่สูง หรือ ไฮมาร์ส และยานพาหนะภาคพื้นดิน เช่น ยานต่อสู้แบรดลีย์ และยานเกราะบรรทุกบุคลากรสไตรเกอร์ โดยชุดความช่วยเหลือนี้จะเป็นชุดความช่วยเหลือชุดที่ 42 ของสหรัฐฯ แก่ยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ. 2565
ที่มา: