นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนระดับสูง 6 ประเทศ ทั้งไทย, เมียนมา, สปป.ลาว, จีน, อินเดีย และบังคลาเทศ เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกันว่า การหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ เป็นข้อริเริ่มของไทย โดยต่อยอดมาจากข้อริเริ่มของไทย เมื่อครั้งการหารืออย่างไม่เป็นทางการ 3 ฝ่ายระหว่างไทย อินเดีย เมียนมา ช่วงการประชุม BIMSTEC ที่กรุงนิวเดลี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และการหารืออย่างไม่เป็นทางการ 4 ฝ่ายระหว่างไทย, จีน, เมียนมา และสปป.ลาว ช่วงการประชุมแม่โขง –ล้านช้าง ที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา โดยการหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งแรก ที่เมียนมา และประเทศเพื่อนบ้าน มาร่วมประชุมครบทั้ง 5 ประเทศ ซึ่งสะท้อนความจริงจังของทุกประเทศ ที่ต้องการปรึกษาหารือ และร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และการหารือในวันนี้ (19 ธ.ค.2567) ได้แยกต่างหากจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียนในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.2567) แต่จะช่วยเสริมความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ หรือ Five-Point Consensus ที่ได้ให้กับเมียนมาให้มีผลเป็นรูปธรรม
โดยประเทศต่าง ๆ ชื่นชมที่ไทย ได้ริเริ่มจัดการหารือครั้งนี้ และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การหารือกันโดยตรงระหว่างเมียนมา กับประเทศเพื่อนบ้านมีความจำเป็นและสำคัญมาก เพราะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมาโดยตรง และมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ในเมียนมาดีกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเห็นประโยชน์ของการพบกันเป็นระยะ แล้วแต่โอกาสจะเหมาะสม ซึ่งไทยจะสานต่อการหารือในครั้งนี้
นายมาริษ ได้ยืนยันว่า บรรยากาศการหารือในวันนี้ (19 ธ.ค.2567) ถือว่าดีมาก เพราะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดน และการปราบปรามอาชญากรรมช้ามชาติ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด และการหลอกลวงออนไลน์
นายมาริษ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศเมียนมาได้เล่าให้ที่ประชุมฟังเกี่ยวกับแผนงานด้านการเมืองของเมียนมา และความคืบหน้าในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งในปีหน้า เช่น การจัดทำสำมะโนประชากร การจดทะเบียนพรรคการเมือง โดยแจ้งด้วยว่า มีความตั้งใจที่จะเชิญผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ เช่น จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งฝ่ายเมียนมากำลังพิจารณารายละเอียด และจะแจ้งมิตรประเทศทราบ
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้หารือกันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงชายแดนในแต่ละด้านของเมียนมาซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งปัญหายาเสพติด การลักลอบข้ามแดน การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ และปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งทุกประเทศต่างเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทุกประเทศเพื่อนเมียนมา บ้านมีผลประโยชน์ร่วมกันที่จะต้องการเห็นประเทศเมียนมาที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือ Peaceful, Stable and Unified Myanmar) และต้องการให้ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมา ยุติการใช้ความรุนแรง และถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกโดยสันติ ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ได้แจ้งว่ารัฐบาลเมียนมา เปิดประตูสำหรับการพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยกระบวนการทางการเมือง
นายมาริษ ยังเปิดเผยอีกว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (19 ธ.ค.2567) ตนได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา โดยครอบคลุมประเด็นทวิภาคีที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ประเด็นลูกเรือประมงไทย 4 คน ซึ่งได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทางการเมียนมาว่า ลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คน จะได้รับการปล่อยตัวกลับประเทศไทยในเร็วๆ นี้ และทั้งสองประเทศ จะร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก
นายมาริษ ยังได้หารือทวิภาคีกับเมียนมาและอินเดีย ถึงความสำคัญของเส้นทางการค้าสายเอเชีย หรือ Asian Highway – One ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และเห็นพ้องกันที่จะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดใช้เส้นทางนี้ได้อีกครั้งโดยเร็ว เพราะมีความสำคัญต่อประชาชนของทั้ง 3 ประเทศ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้
นอกจากการหารือทวิภาคีกับเมียนมาและอินเดียนั้น นายมาริษ ยังระบุอีกว่า ในวันนี้ (19 ธ.ค.2567) ยังมีกำหนดการหารือทวิภาคี ระหว่างหลายประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า ประเทศต่าง ๆ เห็นประโยชน์ของการที่ไทยจัดการหารือครั้งนี้ และสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ชองไทยในการเป็นสะพานเชื่อม (Bridge Builder) ระหว่างประเทศต่าง ๆ และในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.2567) จะมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียนซึ่ง สปป.ลาวจะเป็นประธาน โดยตนจะนำผลการหารือ
ในวันนี้ (19 ธ.ค.2567) ไปถ่ายทอดให้ที่ประชุมรับทราบด้วย เพื่อเสริมการดำเนินการของอาเซียน