ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติคงค้างในญัตติขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ผู้เสนอญัตติอภิปรายว่า สภาฯ ต้องตรวจสอบบ้านของตนเอง เพราะถูกสังคมตั้งคำถามว่า การก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท สัญญาหลัก 900 วัน ที่ต้องแล้วเสร็จ 24 พ.ย. 2558 นั้น มีเหตุผลอย่างไรที่ทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและต้องต่อสัญญาไปอีก 4 ครั้ง ทำให้รวมเวลาก่อสร้างอาคารทั้งหมดกว่า 2,000 วัน ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่อ้างเพื่อขยายสัญญาก่อสร้างให้ผู้รับจ้างนั้น เพราะมีการแก้ไขแบบ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถแก้ไขแบบได้โดยใช้เวลาไม่นาน มีเจตนาทำให้แบบมีปัญหาหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้ผู้ว่าจ้างขยายสัญญาโดยผู้รับจ้างไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย
นายสมคิด ระบุว่า การใหญ่อันดับ 2 ของโลกแต่กลับมีข่าวคาวไม่ดีมาตลอด เราอยากให้เห็น ส.ส.เห็นว่ามีปัญหาอย่างไร ล่าสุดมีการขยายเวลา 4 ครั้ง ขยายไปถึง 2,000 กว่าวัน จะ 8 ปียังเดินไปไหนไม่ได้ ถ้าไม่เรียบร้อยก็ไม่ควรย้ายไปประชุมห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งใหม่ ทั้งนี้ การต่อสัญญา แต่รัฐสภาก็ให้ขยายไปหลายครั้ง ในครั้งที่ 1 มอบสถานที่ ครั้งที่ 2 แก้ไขแบบ ครั้งที่ 3 รื้อบ้านข้าราชการรื้อ โรงเรียน จึงอยากทราบทำไมต้องให้ก่อสร้าง 900 วัน ครั้งที่ 4 ขยายเวลาเพราะออกระบบไอที
"บันไดหนีไฟทำไมไม่อยู่ข้างลิฟท์ อันนี้แบบออกมาแล้วแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่บ่นให้ท่านประธานฟัง กรณีไอทีเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาทก็อยากรู้ ผมอยากให้อธิบายให้ประชาชนรับทราบว่า สภาเป็นที่ ส.ส. และส.ว.มาประชุมมีปัญหา เรามีคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะเยอะแยะ แต่เราไปตรวจสอบคนอื่น เราเผลอตรวจสอบคนอื่นแต่บ้านเราไม่กวาดให้สะอาดให้สดใส เราควรจะตรวจสอบตั้งแต่ทำทีโออาร์และออกแบบ ผมเห็นแก้ไขแบบทีโออาร์ใช้เวลาเกือบปี ทั้งที่เขียนอยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือเจตนาจะทำแบบให้เป็นปัญหาหรือไม่ ทำไมผู้ว่าจ้างผิดบ่อยจัง ถึงขยายสัญญาบ่อย" นายสมคิด ระบุ
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเสนอญัตติในประเด็นเดียวกัน อภิปรายว่า ความพยายามขยายสัญญาก่อสร้างรอบที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2562 - 31 ธ.ค. 2563 พบปัญหาสำคัญ คือ ผู้ปฏิบัติงานในรัฐสภาไม่ทราบและไม่แจ้งเหตุผลว่างานสร้างไม่แล้วเสร็จเพราะอะไร แต่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ระบุว่าเป็นความผิดของทางราชการ ทำให้ต้องขยายเวลาให้เอกชน ขณะเดียวกันยังพบข้อร้องเรียนจากอดีต ส.ส. อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของการก่อสร้าง ล่าสุดอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตามแผนงานต้องแล้วเสร็จ 95 เปอร์เซ็นต์ โดยงานอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่ค้างอยู่พบว่า มีงานอีกหลายอย่าง อาทิ ระบบปรับอากาศ งานระบบสารสนเทศ สถานีไฟฟ้า และสัญญาณไฟลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นงานจุกจิกที่อาจทำให้งานก่อสร้างหลักเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้น ต้องตรวจสอบ
นายฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ตนในฐานะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ควบคุมงาน บริษัทที่ปรึกษา มาให้รายละเอียด โดยพบว่า ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นปัญหาเรื่องดินในพื้นที่และสถานที่นำดินไปทิ้ง รวมถึงการขายดิน มูลค่าของดิน นอกจากนี้ จากการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับสถาปนิกและวิศวกร ในพื้นที่ห้องประชุมและห้องกรรมาธิการฯ ทราบว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จต้นเดือนก.พ.2563 ส่วนการต่อสัญญาครั้งที่ 4 ที่สัญญาจะสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2563 นั้น เชื่อว่าอาจมีการต่อสัญญารอบที่ 5 เพราะมีสัญญาด้านระบบสาธารณูปโภคที่จะสิ้นสุดสัญญา 5 มี.ค. 2563 อีก ทั้งนี้ ประเด็นที่เกิดขึ้นคือสภาฯ เสียประโยชน์ เพราะต้องเช่าพื้นที่ภายนอก เพิ่มค่าเดินทางให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนบุคคลที่ได้ประโยชน์คือผู้รับจ้าง และการตรวจสอบภายใต้อำนาจของกรรมาธิการกิจการสภาฯ เอาไม่อยู่ ดังนั้น ต้องให้ทั้งสภาฯ ช่วยตรวจสอบด้วย
นายไกรก้อง ไวทยาการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า จากการติดตามงานที่ผ่านมาพบว่า การขยายสัญญารอบที่ 1 งานคืบหน้าได้ 30 เปอร์เซ็นต์ รอบที่2 งานคืบหน้าเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ รอบที่ 3 งานคืบหน้าเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ โดยการต่อสัญญาครั้งที่ 2 นั้นมีความคืบหน้างานเพิ่มเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยปัญหาสำคัญคือการส่งมอบพื้นที่และการขนย้ายดิน แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พื้นที่ก่อสร้างอาคารหลักส่งมอบแล้ว แต่มีปัญหาที่ไม่สามารถส่งมอบได้ทันเวลาและล่าช้าที่สุดเพียงพื้นที่ 1 งาน ในส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับงานก่อสร้างหลัก โดยช่วงที่มีปัญหานั้นอยู่ภายใต้การกำกับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้น ต้องตรวจสอบการกำกับและความจริงใจในยุคดังกล่าว นอกจากนี้ งานระบบเน็ตเวิร์คที่มีรายการสำคัญคือท่อร้อยสาย ล่าสุดพบว่าสภาฯ ยังไม่สามารถหาผู้รับจ้างเดินท่อร้อยสายได้ เชื่อว่าเหตุและปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดการต่อสัญญาครั้งที่ 5 แน่นอน
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้กรรมาธิการฯ ศึกษาเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สภาฯ เสียค่าโง่ เพราะตนมั่นใจว่าการก่อสร้างที่ขยายสัญญารอบที่ 4 จะไม่แล้วเสร็จ และต้องต่อสัญญาครั้งที่ 5 ปัจจัยสำคัญคือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น กรรมาธิการฯ ต้องพิจารณาเพื่ออุดช่องโหว่ที่นำไปสู่การเสียค่าโง่ ทั้งนี้ ปัญหาที่อาจทำให้ต้องต่อสัญญารอบต่อไปคือ การขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ก่อนรับมอบงาน ทำให้มีงานที่ต้องซ่อมแซมและอาจถูกเรียกค่าเสียหายที่สภาฯ ต้องเตรียมงบประมาณเพื่อจ่ายในปี 2563 -2564
จากนั้น ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 354 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า ตนให้เลขาธิการสภาฯ ศึกษากระบวนการใช้พื้นที่อาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องของการเตรียมการไว้ในอนาคตด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง