ไม่พบผลการค้นหา
อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ออกมามีการเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรก หลังเหตุการณ์ประท้วงปะทุขึ้นทั่วประเทศ สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี หญิงสาววัย 22 ปี ที่ถูกตำรวจศีลธรรมทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต เพียงเพราะแค่เธอแต่งตัวผิดไปจากกฎของศาสนาอิสลาม โดยคาเมเนอีกล่าวโทษอิสราเอลและสหรัฐฯ ว่า เป็นตัวการทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล

คาเมเนอีกล่าวว่า การจราจลดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยศัตรูของอิหร่านและพันธมิตร เขายังกล่าวอีกว่าในการชุมนุมได้มีการเผาคัมภีร์อัลกุรอาน นอกจากนี้ คาเมเนอีได้เรียกร้องให้กองกำลังรักษาความปลอดภัย เตรียมรับมือกับความไม่สงบในอนาคตอีกด้วย

การชุมนุมในอิหร่านครั้งนี้ นับเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในรอบหนึ่งทศวรรษ ภายใต้การปกครองของคาเมเนอี และถูกจุดชนวนโดยการเสียชีวิตของ 'มาห์ซา อามินี' หญิงสาววัย 22 ปีที่ถูก "ตำรวจศาสนา" จับกุมในวันที่ 13 ก.ย. ในกรุงเตหะราน เพราะละเมิดกฎการไม่สวมฮิญาบในพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ อามินีเสียชีวิตใน 3 วันให้หลังการจับกุม

ครอบครัวของอามินีเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทุบศีรษะของเธอด้วยไม้กระบอง และฟาดเธอเข้ากับรถซึ่งส่งผลให้เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในขณะที่ตำรวจกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น และอามินีเสียชีวิตจาก “อาการหัวใจวายเฉียบพลัน”

ภายหลังงานศพของอามินี ผู้หญิงชาวอิหร่านได้ออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนน และพากันถอดฮิญาบออก บางคนเผาทำลายฮิญาบของตน พร้อมกับร้องตะโกนสโลแกนการประท้วงที่มีตั้งแต่ “ผู้หญิง ชีวิต และเสรีภาพ” ไปจนถึง “เผด็จการจงพินาศ” ซึ่งหมายถึงตัวคาเมเนอีนั่นเอง

ในพิธีจบหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจและทหาร เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ต.ค.) คาเมเนอีได้กล่าวว่า การเสียชีวิตของอามินีได้ “ทำให้หัวใจของเราแตกสลาย” โดยคาเมเนอีกล่าวเสริมว่า “แต่สิ่งที่ไม่ปกติ คือ การที่คนบางกลุ่มออกมาชุมนุมบนท้องถนน เผาคัมภีร์อัลกุรอาน ถอดฮิญาบออก และจุดไฟเผามัสยิดและรถยนต์” 

คาเมเนอี ผู้ซึ่งมีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดในด้านการปกครองอิหร่านกล่าวว่า อำนาจจากต่างชาติกำลังแทรกแซง และวางแผนการก่อจราจลในครั้งนี้ เนื่องจากประเทศเหล่านั้นทนไม่ได้ที่อิหร่าน “กำลังแสดงความแข็งแกร่งในทุกด้าน”

“ข้าพเจ้าพูดอย่างชัดเจนว่า การจราจลและความไม่สงบครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยน้ำมือของสหรัฐฯ และรัฐบาลไซออนิสต์จอมปลอม (อิสราเอล) พร้อมความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของพวกเขา และชาวอิหร่านในต่างแดนที่ทรยศต่อชาติ” คาเมเนอียังได้กล่าวสนับสนุนกองกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยการกล่าวว่า พวกเขากำลังเผชิญอยู่กับ “ความอยุติธรรม” ในช่วงที่มีการจราจลเกิดขึ้น

องค์กรสิทธิมนุษยชนอิหร่าน ซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศนอร์เวย์ กล่าวในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 ต.ค.) ว่า มีผู้เสียชีวิตจากกองกำลังรักษาความปลอดภัยแล้วอย่างน้อย 133 คน ซึ่งรวมถึงผู้ชุมนุม 41 คนที่เสียชีวิตในเมืองซาเฮดานเมื่อวันศุกร์ (30 ก.ย.) ในขณะที่สื่อของรัฐอิหร่านรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 คน ซึ่งในจำนวนนั้นรวมเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

การแสดงความเห็นของคาเมเนอี เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่กองกำลังรักษาความปลอดภัย เข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชารีฟ พร้อมทั้งจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 10 คน

คัสรา นาจี ผู้สื่อข่าวของบีบีซีระบุว่า มีเสียงปืนดังขึ้นรอบๆ วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในวันอาทิตย์ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนชาวอิหร่านเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพยายามบุกรุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย แต่นักศึกษาต้านเอาไว้และปิดประตูมหาวิทยาลัยทุกฝั่ง

อย่างไรก็ตาม นาจีกล่าวเสริมว่า มีนักศึกษาบางคนพยายามหนีออกจากบริเวณมหาวิทยาลัยผ่านทางที่จอดรถข้างๆ พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่จู่โจมทีละคนและทำร้ายร่างกาย ก่อนจะถูกปิดตาและควบคุมตัวออกไป นอกจากนี้ ในวิดีโอหนึ่งที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียพบว่า มีกลุ่มคนกลุ่มใหญ่กำลังวิ่งหนีเจ้าหน้าที่บนรถมอเตอร์ไซค์อยู่ภายในบริเวณลานจอดรถอีกด้วย ทั้งนี้ การสลายการชุมนุมในมหาวิทยาจบลงในคืนนั้น หลังจากอาจารย์และรัฐมนตรีบางคนเข้ามาระงับเหตุการณ์

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชารีฟประกาศว่า พวกเขาจะไม่กลับเข้าไปเรียนอีก จนกว่าเพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับกุมตัวจะถูกปล่อยให้เป็นอิสระ ในขณะที่ทางมหาวิทยาลัยกล่าวว่า ทางหน่วยงานจะเปลี่ยนมาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทนเพื่อปกป้องนักศึกษา

นอกจากมหาวิทยาลัยชารีฟแล้ว ยังมีการชุมนุมในมหาวิทยาลัยอื่นในกรุงเตหะรานและทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยในเมืองมาชฮาด อิซฟาฮาน ชีราซ ทาบริซ และเคอร์มานชาฮ์ด้วย


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-63118637