วันที่ 4 เม.ย. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบริษัทประกันวินาศภัย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีกำชับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้เอาประกันของบริษัททั้ง 2 แห่ง ให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดแนวทางและลำดับการช่วยเหลือผู้เอาประกันจากทั้ง 2 บริษัท รวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับคำปรึกษา การช่วยเหลือผู้เอาประกันไว้แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับว่าขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพยายามอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากที่สุด เช่นกรณีช่องทางการติดต่อสื่อสาร สายด่วนขอให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอ และสามารถตอบข้อสงสัย ให้ข้อแนะนำผู้เอาประกันแต่ละกลุ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้เอาประกันที่เกิดความเสียหายที่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมไว้แล้ว กลุ่มที่เกิดความเสียหายแต่ยังไม่ได้ยื่น ตลอดจนผู้ถือกรมธรรม์แต่ยังไม่เกิดความเสียหาย
“กระทรวงการคลังได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่าการดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย 2 แห่ง เมื่อวันที่ 1 เม.ย. เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัท ซึ่งไม่กระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของธุรกิจประกันภัยในภาพรวม ซึ่งท่านนายกฯ ก็ได้กำชับกระทรวงการคลังให้กำกับเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย พยายามอย่างเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกไม่เพิ่มภาระให้ผู้เอาประกันมากจนเกินไป” ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ คปภ. กำหนดแนวทางช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย เพื่อรองรับไม่ให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย กรณีกรมธรรม์ที่ไม่ใช่กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ซึ่งเป็นของบริษัท อาคเนย์ประกันภัยฯ 5,717,217 กรมธรรม์ ของบริษัท ไทยประกันภัยฯ 199,016 กรมธรรม์ ได้ดำเนินการโอนภาระผูกพันไปยังบริษัทผู้รับโอน โดยไม่กระทบต่อสิทธิตามกรมธรรม์ของผู้เอาประกันและได้มีการแจ้งไปยังผู้เอาประกันแล้ว โดยมี 269 กรมธรรม์ที่ผู้เอาประกันไม่ประสงค์ใช้สิทธิในการโอนไปยังผู้รับโอนอื่น ในส่วนนี้ คปภ.จะติดตามให้บริษัทแจ้งสิทธิเพื่อให้ผู้เอาประกันตัดสินใจทางเลือกว่าจะรับคืนเบี้ยประกันหรือโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทแห่งใหม่ต่อไป
ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ของบริษัท อาคเนย์ประกันภัยฯ จำนวน 897,242 กรมธรรม์ และของบริษัท ไทยประกันภัยฯ จำนวน 279,531 กรมธรรม์นั้น คปภ. ได้หาแนวทางกับผู้ประกอบการในการแก้ไขปัญหาสำหรับประกันภัยโควิด19 แบบเจอจ่ายจบที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ ได้ข้อสรุปว่า ผู้ถือกรมธรรม์สามารถขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ นำเบี้ยประกันที่ได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย
สำหรับผู้เอาประกันภัยที่เกิดความเสียหายแล้ว หากเป็นกรณีที่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้แล้วกับทั้ง 2 บริษัทแล้ว สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยในฐานะผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของทั้ง2 บริษัท จะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว
ส่วนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับทั้ง 2 บริษัท สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยต่อไป
สำหรับช่องทางการติดต่อเพื่อขอรับชำระหนี้นั้น ผู้เอาประกันสามารถยื่นที่กองทุนประกันวินาศภัย อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ (โทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 26-30) แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แนะนำให้ยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์กับทางกองทุนที่ www.gif.or.th ซึ่งเมื่อเข้าไปในเว็บไซต์แล้วจะมีแบนเนอร์แจ้งการยื่นเอกสารเพื่อขอรับชำระหนี้โดยเฉพาะ
นอกจากนี้ คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้อำนวยความสะดวกในการให้คำปรึกษาและรับยื่นเอกสารจากผู้เอาประกันโดยส่วนกลางสามารถยื่นเอกสารที่สำนักงาน คปภ. 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก(โทรศัพท์ 0-2515-3999)
สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ (โทรศัพท์ 0-2476-9940-3) และ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา (โทรศัพท์ 0-2361-3769-70) ส่วนในภูมิภาคสามารถยื่นได้ ณ สำนักงาน คปภ. ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สอบถามสายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect)