ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์ออนไลน์' รวบรวมงบการเงินกำไร-ขาดทุน ของ บมจ.การบินไทย 18 ปีย้อนหลังในช่วง 7 รัฐบาลที่ผ่านมา พบช่วง 5 ปียุค 'ทักษิณ ชินวัตร' มีกำไร 5 ปีซ้อน ขณะที่ 'ประยุทธ์' อยู่มา 2 สมัย ขาดทุน 5 ปีได้กำไร 1 ปี ส่วนแผนฟื้นฟูจากยุค คสช. ผ่าตัดองค์กรกลับไม่สำเร็จ

ปัญหาการขาดทุนสะสมของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำไปสู่การ “ยื่นคำขาด” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

ข้อเสนอของ บมจ.การบินไทยในการ “แบมือ” ขอให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ประค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องบินฝ่ามรสุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19

บมจ.การบินไทย วันนี้ประสบกับสภาวะขาดทุน –ขาดสภาพคล่องและกระแสเงินสดไม่คล่องมือ หนี้ค้างชำระสะสมของบมจ.การบินไทยขณะนี้กว่า 3 แสนล้านบาท

“วอยซ์ออนไลน์” รวบรวมงบการเงิน ของ บมจ.การบินไทย กำไร-ขาดทุน ที่แสดงไว้ต่อสาธารณะ 18 ปีย้อนหลัง ดำดิ่งสวนทางความอู้ฟู่-สิทธิประโยชน์ของผู้บริหาร-กรรมการ (บอร์ด) บมจ.การบินไทย

การบินไทย-สุวรรณภูมิ


  • ยุค ประยุทธ์ กำไร 1 ปี ขาดทุน 5 ปี

เริ่มตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1-2 งบกำไร-ขาดทุนปี 2562 รายได้ 188,954.45 ล้านบาท รายจ่าย 199,989.05 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 981.87 รวมขาดทุน 12,016.47 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2561 รายได้ 200,585.94 ล้านบาท รายจ่าย 212,191.80 แต่มีรายได้ภาษีเงินได้ 36.73 ล้านบาท รวมขาดทุน 11,569.13 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2560 รายได้ 190,534.63 ล้านบาท รายจ่าย 193,429.58 ล้านบาท แต่มีรายได้ภาษีเงินได้ 822.90 ล้านบาท รวมขาดทุน 2,072.05 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2559 รายได้ 181,446.20 ล้านบาท รายจ่าย 182,863.62 แต่มีรายได้ภาษีเงินได้ 1,464.24 ล้านบาท รวมมีกำไร 46.82 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2558 รายได้ 192,591.32 ล้านบาท รายจ่าย 206,707.62 ล้านบาท แต่มีรายได้ภาษีเงินได้ 1,069.37 ล้านบาท รวมขาดทุน 13,046.93 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2557 รายได้ 203,889.34 ล้านบาท รายจ่าย 220,626.74 ล้านบาท มีรายได้ภาษีเงินได้ 1,164.83 ล้านบาท รวมขาดทุน 15,572.55 ล้านบาท

ยิ่งลักษณ์ DV1308102.jpg
  • ยุคยิ่งลักษณ์ กำไร 1 ปี

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร งบกำไร-ขาดทุนปี 2556 รายได้ 211,605.59 ล้านบาท รายจ่าย 244,534.94 ล้านบาท มีรายได้จากภาษีเงินได้ 929.40 ล้านบาท รวมขาดทุน 11,999.94 ล้านบาท  

งบกำไร-ขาดทุนปี 2555 รายได้ 213,529.75 ล้านบาท รายจ่าย 206,426.08 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 593.44 ล้านบาท รวมกำไร 6,510.22 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2554 รายได้ 194,341.80 ล้านบาท รายจ่าย 202,258.88 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 2,245.03 ล้านบาท รวมขาดทุน 10,162.11 ล้านบาท

  • ยุคอภิสิทธิ์ กำไร 3 ปี

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ งบกำไร-ขาดทุนปี 2553 รายได้ 184,270.38 ล้านบาท รายจ่าย 167,613.37 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 1,865.33 ล้านบาท รวมกำไร 14,791.67 ล้านบาท   

งบกำไร-ขาดทุนปี 2552 รายได้ 163,874.52 ล้านบาท รายจ่าย 150,021.14 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 691.42 ล้านบาท รวมกำไร 7,415.82 ล้านบาท

รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช-รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ งบกำไร-ขาดทุนปี 2551 รายได้ 202,605.62 ล้านบาท รายจ่าย 220,654.85 ล้านบาท มีรายได้จากภาษีเงินได้ 2,285.25 ล้านบาท รวมขาดทุน 21,314.38 ล้านบาท

รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ งบกำไร-ขาดทุนปี 2550 รายได้จากการขายและการให้บริการ 53,493.27 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 49,769.45 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (4,106.17 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 1,839.07 ล้านบาท

ทักษิณ ภูมิธรรม สุวรรณภูมิ _Hkg199313.jpg
  • ยุคทักษิณ กำไร 5 ปีซ้อน

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร งบกำไร-ขาดทุนปี 2549 รายได้จากการขายและการให้บริการ 192,037.02 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 179,248.93 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (13,716.57 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 6,342.06 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2548 รายได้จากการขายและการให้บริการ 162,488.22 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 151,663.94 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (14,107.97 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 6,776.65 ล้านบาท   

งบกำไร-ขาดทุนปี 2547 รายได้จากการขายและการให้บริการ 152,603.02 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 132,105.29 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (19,047.31 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 10,076.83 ล้านบาท   

งบกำไร-ขาดทุนปี 2546 รายได้จากการขายและการให้บริการ 134,536.28 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 116,822.12 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (21,961.40 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 12,453.49 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2545 รายได้จากการขายและการให้บริการ 129,015.49 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 110,327.09 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (20,021.13 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 10,181.91 ล้านบาท    

ประยุทธ์ อนุทิน สุวรรณภูมิ โคโรนา 18000000.jpg
  • ยุค คสช. ดันฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ แต่ผ่าตัด 'การบินไทย' ไม่สำเร็จ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563 “พล.อ.ประยุทธ์” ติดเบรก-เตะวาระร้อนออกจากครม. เป็นที่มาของการยื่นคำขาดในต่อสายป่านให้กับบมจ.การบินไทย ที่มาพร้อมกับแผนฟื้นฟู 10 ประการ                     

อย่างไรก็ตาม “พล.อ.ประยุทธ์” ที่มีอำนาจพิเศษในยุค คสช. พยายามแก้ไขปัญหา-ฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง โดยเฉพาะ บมจ. การบินไทย

ทว่า ตลอด 5 ปีเต็ม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ควบอำนาจหัวหน้า คสช. กลับไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม-ผ่าตัด บมจ.การบินไทย และไม่เอาจริง-เอาจังกับ “กลุ่มผลประโยชน์” ในองค์การที่เปรียบเป็น “สมบัติของชาติ” ได้  

ให้ บมจ.การบินไทย เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงแผนการการแก้ไขปัญหาองค์กร ดังนี้ 1.เน้นที่การลดต้นทุนอย่างจริงจัง และลด Capacity ที่ไม่มีกำไร โดย “แผนการลดต้นทุน” จะต้องมีเป้าหมายลดต้นทุนที่ท้าทาย เช่น ร้อยละ 20-30

2.นำเสนอมาตรการที่จะใช้ประโยชน์จากพันธมิตรทั้งในและนอก Star Alliance อย่างเป็นรูปธรรม 3.ให้ความสำคัญกับตำแหน่งยุทธศาสตร์ (Strategic Positioning) ต้องวิเคราะห์โดยละเอียด และมีกลยุทธ์ที่ลึกซึ้งกว่าเพียงเป็นจะPremium Airlines

โดย คนร.เสนอครม.รับทราบ ให้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของรัฐวิสาหกิจและสิทธิประโยชน์พิเศษต่าง ๆ ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายและวงเงินที่ชัดเจนสำหรับสิทธิประโยชน์อื่น โดยต้องพิจารณาให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น

หลังจาก คนร.ประชุม 2 ครั้ง (ธ.ค. 2557 และ ม.ค. 2558) ได้เสนอกรอบการปรับโครงสร้าง-ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่อครม.เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2558

โดยให้ บมจ.การบินไทย จัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้มีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและกำหนดระยะเวลาให้รวดเร็วขึ้น

“โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทนและวิธีการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย (Agent) ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน”

ให้บมจ.การบินไทย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (Non-fuel Cast Cost) ในปี 2558 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากปี 57 โดยจะต้องไม่กระทบคุณภาพให้บริการและความเปลอดภัย

รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานให้มีผู้บริหารที่เหมาะสมเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินกาด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร

“ทั้งนี้ ในส่วนของการลดจำนวนพนักงานควรพิจารณาทำในลักษณะโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early retirement) ตามความสมัครใจเป็นหลักก่อน”

กรณีการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร ให้ บมจ.การบินไทย บริหารจัดการในเรื่องการเจรจาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ระยะสั้นและระยะยาวที่จะครบกำหนดในปี 2558 ให้ได้ภายใน มี.ค. 2558 ก่อน และจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็นในการถือครอง

“โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาการสนับสนุนด้านการเงินทุนจากผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของ บมจ.การบินไทย รวมทั้ง ผลการเจรจาขยายระยะเวลาการชำระหนี้และการจำหน่ายสินทรัพย์ดังกล่าว”

27 ต.ค. 2558 กระทรวงคมนาคมเสนอมาตรการปฏิรูป บมจ.การบินไทย “ลด-ริบ” ค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงานระดับสูงทั้งในอดีต-ปัจจุบัน

เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดทุนสะสมของบริษัทฯ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบมจ.การบินไทย กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้และมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐให้เสนอคสช.ใช้อำนาจพิเศษ

การประชุมคนร.ครั้งที่ 8/58 เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 ให้ บมจ.การบินไทย ปรับปรุงแผน Quick win โดยให้เพิ่มรายได้-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งลดสิทธิประโยชน์-ลดจำนวนผู้บริหารและพนักงานให้สอดคล้องกับภารกิจและทิศทางอนาคต

ให้ บมจ.การบินไทยจัดทำแผนปฏิรูปองค์กรให้ครับทุกด้าน พร้อมทั้งจัดทำเป้าหมายและประมาณการด้านรายได้และค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน และจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan)

การบินไทย สุวรรณภูมิ

การประชุม คนร. ครั้งที่ 1/59 เสนอครม.วันที่ 26 เม.ย. 2559 มอบหมายให้บมจ.การบินไทย เร่งดำเนิน จัดทำแผนงานและกำหนดเวลาการจัดการตัวแทนจำหน่าย (Agent) ที่ชัดเจน

“ให้พิจารณาชะลอการจัดหาเครื่องบินที่ยังไม่มีความจำเป็น และในกรณีจำเป็นต้องมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม ควรเป็นเครื่องบินประเภทเดียวกับที่ใช้งานอยู่แล้วในฝูงบินของบมจ.การบินไทย”

การประชุมคนร.ครั้งที่ 4/60 เสนอครม.วันที่ 9 ม.ค. 2561 รับทราบแนวทางการ “แต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ” และการจัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว-Sustainable Growth ตามแผนปฏิรูปองค์กร

การบริหารจัดการด้านราคาและรายได้ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมได้ รวมถึงเน้นการจำหน่ายบัตรโดยสารโดยบมจ.การบินไทย ให้มีสัดส่วนสูงกว่าการจำหน่ายบัตรโดยสายผ่านตัวแทน

นำมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สำคัญ ได้แก่ รายได้จากผู้โดยสารต่อปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Yield) รายได้จากผู้โดยสารต่อปริมาณการผลิต (RASK) ค่าใช้จ่ายต่อปริมาณการผลิต (CASK) อัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) และการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (Aircraft Utilization) มากำหนดเป็นเป้าหมาย และจัดทำแผนการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายให้ชัดเจนต่อไป

การบินไทยมอบดอกไม้อำลาผู้บริหารการบินไทย2.jpg

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2561 มีมติการปรับโครงสร้างองค์กร-บมจ.การบินไทย เพื่อปรับปรุงพัฒนาการบริหารจัดการของ บมจ.การบินไทย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสามารถแข่งขันกับธุรกิจการขนส่งอากาศในปัจจุบัน

“มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพหลักรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงาน คนร. สำนักงาน ก.พ.ร. บมจ.การบินไทย เพื่อกำหนดแนวทาง-มาตรการในการปรับโครงสร้างและบริหารจัดการองค์กรให้เสร็จโดยเร็ว”

การประชุม คนร. ครั้งที่ 2/2562 เสนอ ครม. เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 ให้บมจ.การบินไทย ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการปี 2562 โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้หลัก เช่น การดำเนินการจัดหาฝูงบิน และการเพิ่มคุณภาพการบริการ และการเพิ่มรายได้เสริม เช่น กิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการพัฒนาการให้บริการของครัวการบิน ทั้งด้านความหลากหลายและรสชาติของอาหาร การดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านต้นทุน เช่น การแก้ไขปัญหาผลขาดทุนจากราคาน้ำมัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายองค์กร

เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับธุรกิจสายการบินมาใช้ในการบริหารจัดการ เช่น ระบบบัญชีคำนวณต้นทุนได้ทันที พัฒนาระบบ Digital Marketing การเพิ่มสัดส่วนจำหน่ายบัตรโดยสาร (ผ่าน บมจ.การบินไทย ร้อยละ 30 : ผ่านตัวแทนร้อยละ 70)

นำมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รายได้จากผู้โดยสารต่อปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Yield) รายได้จากผู้โดยสารต่อปริมาณการผลิต (RASK) ค่าใช้จ่ายต่อปริมาณการผลิต (CASK) อัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) และการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (Aircraft Utilization) มากำหนดเป้าหมาย

“เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และบริษัทลูกอื่น เช่น บมจ.สายการบินนกแอร์ ให้สามารถสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและฐานะทางการเงินของบมจ.การบินไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน-แก้ปัญหาขาดทุน เร่งดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด”     

18 ปี 7 รัฐบาล บมจ.การบินไทย “ตกหลุมอากาศ” บัดนี้ถูกตั้งคำถามควรเป็น “สายการบินแห่งชาติ” ต่อไปหรือไม่ ?

การบินไทย ทักษิณ ประยุทธ์ 5614_3126210491785936896_n.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง