ไม่พบผลการค้นหา
อ่านหลักคิดรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ผ่านตำราวิชาการที่บันทึกด้วยหลักวิชาการของ 'ปรีดี พนมยงค์' เมื่อปี 2517 ณ ชานกรุงปารีส ซึ่งยังไม่ตกยุคสมัย และการเมืองไทยในวันนี้ยังไม่ต่างจากวันที่รัฐบุรุษอาวุโสยังมีลมหายใจกับวันที่รัฐธรรมนูญไทยเดินมาถึงปีที่ 88

"ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความแล้วว่าระบบประชาธิปไตยเกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกันกับการมีมนุษยชาติในโลกนี้ ต่อมาระบบประชาธิปไตยปฐมกาลได้ถูกทำลายโดยระบบทาสและระบบศักดินา ปวงชนชาวไทยสมัยก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้ระบบทาสกับระบบศักดินานั้นก็มิได้มีลักษณะพิเศษแตกต่างกับมนุษยชาติในโลกที่จะไม่รู้จักปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ หากปวงชนชาวไทยรู้จักปกครองสังคมหรือกลุ่มชนของตนโดยถือมติชนปวงชนเป็นใหญ่มาแล้วตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์"

เป็นข้อเขียนวิชาการผ่านตำรา "ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ" โดย 'ปรีดี พนมยงค์' อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษอาวุโส และอดีตผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ได้เขียนเอาไว้เมื่อปี 2517 

ตำราดังกล่าวยังคงใช้ได้ในเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่ประชาธิปไตยเดินมาถึงปีที่ 88 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475  แต่ยังวนเวียนกับการฉีกรัฐธรรมนูญและยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ร่ำไป

แม้ในวันที่ 10 ธ.ค. 2563 จะเป็นปีที่ 88 ของวันรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ 7

จวบจนปัจจุบันการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้มา 20 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 

แต่งานวิชาการของ "รัฐบุรุษอาวุโส" ยังคงอ่านได้ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันและไม่ตกยุคสมัย

ประชาธิปไตย ปรีดี รัฐธรรมนูญ itled.jpgประชาธิปไตย ปรีดี หนังสือรัฐธรรมนูญ ntitled.jpg

เมื่อ 'ปรีดี' ได้อธิบายถึงแบบการปกครองที่ถือมติของปวงชนเป็นใหญ่ โดยผู้นำคณะราษฎรได้บันทึกไว้ว่า

"การที่่ปวงชนชาวไทยได้รับกพระราชทานสิทธิประชาธิปไตยคืนมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) โดยคณะราษฎรเป็นผู้นำขอพระราชทานนั้น ได้ทำให้พวกที่มีซากทัศนะทาสและทัศนะศักดินาเกิดความไม่พอใจจึงได้พยายามต่อต้านด้วยกลวิธีต่างๆ รวมทั้งใส่ความว่าราษฎรไม่เข้าใจประชาธิปไตยบ้าง ไม่เข้าใจคำว่า รัฐธรรมนูญ คืออะไรบ้าง และเสกสรรปั้นแต่งว่าราษฎรเข้าใจผิดไปว่า รัฐธรรมนูญคือลูกพระยาพหลฯ"

เราก็อาจทราบได้ว่าคำว่า รัฐธรรมนูญ นั้นเพิ่งมีผู้เสนอขึ้นในระหว่างการร่างรัฐธรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามนั้น ใช้คำว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม" แต่คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธ.ค. 2475 เห็นว่าควรใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นศัพท์ที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อกะทัดรัด

ปรีดี พระยาพหลพลพยุหเสนา สถาบันปรีดี pridi_or_th_00038.jpg
  • ปรีดี พนมยงค์ และพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร

ปรีดี ระบุว่า คำว่า "ประชาธิปไตย" ประกอบขึ้นด้วยคำไทย 2 คำ คือ "ประชา" ซึ่งหมายถึงหมู่คนหรือปวงชน กับคำว่า "อธิปไตย" หมายถึงอำนาจสูงสุด คำว่า "ประชาธิปไตย" ตามมูลศัพท์จึงหมายถึง "อำนาจสูงสุดของปวงชน" 

"ชาติหนึ่งๆ ปัจจุบันนี้ประกอบด้วยชนที่มีฐานะและวิถีดำรงชีพต่างๆ กันซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคืออภิสิทธิ์ชนซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยในชาติ กับอีกฝ่ายหนึ่งคือสามัญชนซึ่งเป็นคนจำนวนส่วนข้างมากในชาติ"

"ในทางปฏิบัตินั้นอภิสิทธิ์ชนก็มีกำลังทรัพย์ใช้เป็นทุนในการเลือกตั้งได้ยิ่งกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายสามัญอยู่แล้ว ถ้าหากตัวแทนอภิสิทธิ์ชนได้เป็นวุฒิสมาชิกโดยไม่ต้องได้รับเลือกจากราษฎร อภิสิทธิ์ชนกับลูกสมุนก็สามารถผูกขาดอำนาจการปกครองไว้โดยเด็ดขาดตลอดกาล ชาติก็จะมีรัฐบาลอภิสิทธิ์ชนตลอดกาลโดยแต่งตั้งจากอภิสิทธิ์ชนตลอดกาล เป็นรัฐบาลที่กระทำการเพื่ออภิสิทธิ์ชนตลอดกาล"

อดีตรัฐบุรุษอาวุโส ยังนิยามถึงคำว่า "อำมาตยาธิปไตย" ย่อมหมายถึงการปกครองโดยข้าราชการ ข้าเฝ้า ที่ปรึกษา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยพระองค์เองหรือโดยคำเสนอของรัฐบาลหรือองคมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์

ปรีดี สถาบันปรีดี pridi_or_th_00007.jpg

ขณะเดียวกันยังหยิบยกรัฐธรรมนูญบางฉบับมาอธิบาย

1.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิ.ย. 2475 ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย เพราะตัวบทถาวรของธรรมนูญนั้นกำหนดไว้ว่าเมื่อสิ้นบทเฉพาะกาลแล้ว สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกประเภทเดียว คือ ประเภทที่ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้นมา ส่วนบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องชั่วคราวในระยะหัวต่อระหว่างระบบศักดินาที่เป็นมาหลายพันปี กับประชาธิปไตยซึ่งเพิ่มเริ่มเกิดขึ้น

2.รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย เพราะมาตรา 16 อันเป็นบทถาวรบัญญัติไว้ว่า "สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง" ส่วนบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องชั่วคราวในระยะหัวต่อระหว่าง 2 ระบบดังกล่าวแล้วนั้นมี ส.ส. 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง กับประเภทที่ 2 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

3.รัฐธรรมนูญ 2489 ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย เพราะพฤฒสมาชิกและ ส.ส.เป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา จึงไม่ใช่ "อำมาตย์" และมาตรา 24 กับ 29 กำหนดไว้ว่า พฤฒสมาชิกและ ส.ส.ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

4.รัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พ.ย. 2490 (ใต้ตุ่ม) เป็นอำมาตยาธิปไตย เพราะวุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง โดยรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

5.รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 เป็นอำมาตยาธิปไตยครบถ้วนทั้งบทถาวรและบทเฉพาะกาล เพราะบทถาวรกำหนดไว้ว่าวุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยประธานองคมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ และบทเฉพาะกาลยังยกยอดวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับแต่งตั้งตามฉบับ 2490 (ใต้ตุ่ม) เป็นวุฒิสมาชิกตามฉบับ 2492 ด้วย

6.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ถือเป็นแม่บทของฉบับ 2492 โดยมีวุฒิสมาชิกซึ่ง ส.ส.ต้องเลือกตั้งจากบัญชีชื่อลับ ซึ่งคณะองคมนตรีจัดทำขึ้นมาส่งให้ ส.ส.จำต้องเลือกบุคคลเท่าที่ปรากฏชื่อในบัญชีลับนั้นก็ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2517 มีลัษณะอำมาตยาธิปไตย

ปรีดี ยังระบุด้วยว่าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งแทนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงเห็นชอบและพอพระราชหฤทัยมกา ดังปรากฏใสคำแถลงของพระยามโนปกรณ์ฯ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2475 มีความตอนหนึ่งว่า

"ในการร่างพระธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญ)นี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจกล่าวได้ว่าได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าถวายและทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่เพียงทรงเห็นชอบอย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก"

โดยข้อเขียนหลักวิชาการทั้งหมดนี้ 'ปรีดี' ได้บันทึกไว้ ณ ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2517 

ปรีดี ประชาธิปไตย หนังสือรัฐธรรมนูญ ntitled.jpgปรีดี พนมยงค์ pridi_or_th_00059.jpg

ภายหลัง 'ปรีดี' ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2526 ณ บ้านพักอองโตนี ชานกรุงปารีส ด้วยอาการหัวใจวายรวมอายุ 83 ปี 11 เดือน 22 วัน 

หลังการปิดฉาก ปิดตำนานมันสมองคนสำคัญของคณะราษฎร 2475

ปัจจุบันได้ก่อกำเนิดมวลชนคณะราษฎร 2563 และเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ต้องการให้มี ส.ว.ชุดเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ยิ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ ส.ว.วาระแรกเริ่มมาจากการคัดสรรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังเปิดช่องเปิดตำแหน่งให้ ส.ว.ต้องมาจากตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันจึงเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามคำนิยามที่ 'ปรีดี' เคยนิยามไว้

ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกวุฒิสภา รัฐธรรมนูญ 97961263847637_1017897787712257516_n.jpg

ภาพ - เว็บไซต์สถาบันปรีดีพนมยงค์

อ้างอิง - ปรีดี พนมยงค์. “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ”ใน แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์.กรุงเทพ : ปราโมทย์ พึ่งสุนทร,2517

ข่าวที่เกี่ยวข้อง