ไม่พบผลการค้นหา
'ธนกร-อลงกรณ์' โบยกันนัว ปมข้าราชการประจำรับเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท ความผิด ก.เกษตร หรือ ก.คลัง

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและโฆษกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงกรณีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พาดพิงกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการพิจารณารายชื่อข้าราชการประจำที่เป็นเกษตรกร ให้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยระบุว่า

"ถึงพี่อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่เคารพ

กระทรวงการคลังดำเนินการถูกต้อง มีเอกสารหลักฐานชัดเจน ผมไม่อยากตอบโต้อะไร เพราะพี่อลงกรณ์คงไม่มีเจตนา และคงเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่สำคัญผมเข้าใจมารยาทของพรรคร่วมรัฐบาลดี ผมขอทำความเข้าใจโดยอ้างถึงหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแจ้งผลการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง สรุปใจความสำคัญ ดังนี้ 

1. ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯ กับฐานข้อมูลที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ 2 ฐานข้อมูล คือ ฐานข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเยียวยาฯ 5,000 บาท และฐานข้อมูลข้าราชการที่รับราชการปัจจุบันและข้าราชการบำนาญ โดยได้แจ้งให้กระทรวงเกษตรฯ พึงระมัดระวังไม่ให้มีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานในหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวยังมีงานประจำและได้รับเงินเดือนเป็นปกติ 

2. การตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการของกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยตรงของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรต้องดำเนิน การให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563

3. การโอนเงินของ ธ.ก.ส. จะโอนเงินให้กับเกษตรกรตามข้อมูลที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ตรวจสอบยืนยันตัวตนของเกษตรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้วเท่านั้น 

ชัดเจนนะครับ ทุกคนทุ่มเททำงานหนักมาก เพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ท่านอุตตม สาวนายน รมว.คลัง หรือแม้แต่ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ หรือตัวผมเอง เพราะฉะนั้นอะไรที่ยังไม่เข้าใจก็ต้องทำความเข้าใจกัน โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ร่วมด้วยช่วยกันนะครับ ทุกอย่างก็จะลุล่วงไป วันนี้น่าปลื้มใจที่เงินเยียวยาถึงมือชาวบ้านแล้ว"


ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวของเว็บไซต์ 'คมชัดลึก' ระบุว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงประเด็นตัดสิทธิ์ข้าราชการรับเงินเยียวยาเกษตรกร ว่า กระทรวงเกษตรมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและไม่มีอำนาจกำหนดว่าใครจะได้หรือไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการบำนาญ เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ ซึ่งกำหนดผู้ไม่มีสิทธิ์ได้เงินเยียวยาเกษตรกร 1.ผู้ได้รับการเยียวยาตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน 2.ผู้ได้รับสวัสดิการในระบบบำนาญข้าราชการของกรมบัญชีกลาง 3.ผู้อยู่ในระบบประกันสังคม

แต่หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ กำหนดไม่ได้ระบุการตัดสิทธิ์ข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร กระทรวงเกษตรจึงส่งข้อมูลทะเบียนเกษตรชุดแรก8.33ล้านรายให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังคัดกรองตัดออกส่งกลับมาให้กระทรวงเกษตรเหลือ 6.7 ล้านราย กระทรวงก็ส่งต่อให้ธ.ก.ส .โอนจ่ายตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. รายชื่อเกษตรกรที่กระทรวงการคลังไม่ได้คัดออกคือข้าราชการประจำที่ทำเกษตรกว่า 9 หมื่นคน จนถึงวันที่ 20 พ.ค. เมื่อสื่อมวลชนถามว่าข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมีสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องตอบตามหลักเกณฑ์ว่ามีสิทธิ์ทั้งที่เห็นว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมตามวัตถุประสงค์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19

นายอลงกรณ์ยังกล่าวด้วยว่า ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอหารือกับคณะกรรมการกลั่นกรอง(เลขาธิการสภาพัฒน์เป็นประธาน) และแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่า ข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยาครับ

"ไม่เป็นไรครับกระทรวงเกษตรช่วยแก้ปัญหาให้โดยหารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แล้วและน่าจะมีการเสนอเข้า ครม.สัปดาห์หน้าทำให้ถูกต้องเป็นธรรมเหมาะสมครับ" นายอลงกรณ์ กล่าว

อลงกรณ์ พลบุตร


ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 พฤษภาคม นายอลงกรณ์ เขียนโพสต์ในเฟซบุ๊กตอบจดหมายของนายธนกร โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ถึงน้องธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและโฆษกพรรคพลังประชารัฐ 

ขอบคุณที่น้องธนกรชี้แจงและอ้างถึงหนังสือของกระทรวงการคลังฉบับวันที่8พ.ค.

ซึ่งพี่ได้อ่านความอย่างละเอียดรอบคอบและปรากฎข้อความระบุชัดเจนเรื่องหน้าที่ของกระทรวงการคลังตั้งแต่บันทัดแรกดังปรากฎความว่า (กระทรวงการคลัง)”ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯ กับฐานข้อมูลที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ 2 ฐานข้อมูล คือ ฐานข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเยียวยาฯ 5000 บาท และฐานข้อมูลข้าราชการที่รับราชการปัจจุบันและข้าราชการบำนาญ ...”

   น้องธนกรคงชัดเจนแล้วนะครับว่า

กระทรวงการคลังมีหน้าที่อะไรเพราะในหนังสือของกระทรวงการคลังก็เขียนไว้ชัดเจนว่ากระทรวงการคลังได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและฐานข้อมูลที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ2ฐานข้อมูลคือ ฐานข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเยียวยาฯ 5000 บาท และฐานข้อมูลข้าราชการที่รับราชการปัจจุบันและข้าราชการบำนาญ

    อย่างไรก็ตามขออธิบายขั้นตอนดำเนินการอีกครั้งเพื่อจะไม่สับสนในหน้าที่ความรับผิดชอบอีก กล่าวคือ

   เมื่อกระทรวงเกษตรขึ้นทะเบียนเกษตรกรตามหลักเกณฑ์แล้วก็ส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อให้ คัดกรองและตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน(โครงการเราไม่ทิ้งกัน) และตรวจสอบกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญ และระบบประกันสังคม เมื่อกระทรวงการคลังตรวจคัดกรองแล้วก็ส่งกลับมาให้กระทรวงเกษตรฯส่งให้กับธกส.เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรี28เมษายน2563

  นี่คือขั้นตอนและหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นเช่นนี้ครับ


  ขอยกตัวอย่างจริงๆที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา


  ..กระทรวงเกษครฯส่งข้อมูลทะเบียนไปครั้งแรก8.3ล้านรายให้กระทรวงการคลังคัดกรองตรวจความซ้ำซ้อน ทางกระทรวงการคลังตรวจคัดกรองส่งกลับมาที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเหลือ6.7ล้านราย 

  ในทางปฏิรูปเห็นชัดเจนว่ากระทรวงการคลังคัดกรองออกไปส่วนหนึ่งและกระทรวงเกษตรฯส่งให้ธกส.จ่ายเงินเยียวยาตั้งแต่15พ.ค.เป็นต้นมา 

  น้องธนกรได้โปรดเข้าใจว่า

  การที่พี่ทักท้วงเป็นการส่วนตัวและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรต้องชี้แจงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเพราะเกรงว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะเกิดความสับสนจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของท่านรองนายก ท่านรัฐมนตรีคลัง ท่านเลขาธิการสศค.และท่านเลขานุการรัฐมนตรีเป็นรายล่าสุด

  พี่คิดว่าการทำงานเมื่อเกิดปัญหาก็แก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องการแก้ตัวหรือปัดปัญหาให้พ้นตัวเหมือนโยนกลอง และต้องสร้างความชัดเจนไม่ใช่สร้างความสับสน

  เรื่องกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบตามมติคณะรัฐมนตรีคงเข้าใจกันแล้วนะครับ

  อย่างไรก็ตามพี่คิดว่าประเด็นปัญหาเรื่องนี้ในสาระสำคัญคือ กรณีที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ.กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ไม่มีสิทธิ์โครงการเยียวยาเกษตรกร3กลุ่ม

และหนึ่งในนั้นคือข้าราชการบำนาญจึงมีประเด็นว่าข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่ได้อยู่ในกลุ่มไม่มีสิทธิ์และมีเสียงคัดค้านว่าไม่เหมาะสม

 นี่คือประเด็นที่เป็นปัญหาและต้องแก้ไข ไม่ใช่เริ่องที่จะโยนไปมาซึ่งกระทรวงเกษตรฯโดยท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงไปหารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ.ที่มีท่านเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาได้ความเบื้องต้นเห็นพ้องกันว่าคงไม่เหมาะสมที่ข้าราชการประจำที่ทำอาชีพเกษตรแม้จะขึ้นทะเบียนถูกต้องก็ไม่ควรได้รับเงินเยียวยาเพราะยังมีรายได้ประจำจากเงินเดือนข้าราชการ คาดว่าจะมีการพิจารณาในคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้

  กระทรวงเกษตรในฐานะผู้เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร10ล้านรายวงเงิน150,000ล้านบาทต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมติของคณะรัฐมนตรีและมติของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ.เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง การร่วมมือกันบนความเข้าใจที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งประโยชน์ของเกษตรกรทั้งมวล 

 สำหรับความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลควรให้เกียรติกันและกันตามมารยาททางการเมืองโดยเฉพาะ เมื่อเกิดปัญหาก็ร่วมมือกันแก้ไข แบบร่วมด้วยช่วยกัน เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งสำคัญที่สุดครับ

  

พี่อลงกรณ์ พลบุตร

24 พ.ค. 2563

ป.ล.ในหนังสือของกระทรวงการคลังฉบับวันที่8พ.ค.ยังมีความสับสนอีกเรื่องหนึ่งและน่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาข้าราชการประจำครับ แต่ขอเล่าให้ฟังเป็นการส่วนตัวเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวขอกาแฟที่กระทรวงการคลังแก้วเดียวพอครับหรือจะโทรมาก็ได้ทั้งนั้นครับ”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :