ผลงานความสำเร็จในการขับเคลื่อนสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มคราฟเบียร์ไทย ขึ้นแท่นเบียร์รางวัล เวที World Beer Awards 2020 จากผลิตภัณฑ์ 'เบียร์ศิวิไลซ์' สร้างความภาคภูมิใจเเละเชื่อมั่นให้กับ โทนี่ , เมตต์ และ อาวี่ 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง Mahanakhon (มหานคร) Thai Craft Beer
ทว่ารางวัลดังกล่าว พวกเขาดันได้รับในฐานะเบียร์เวียดนาม แทนที่จะเป็นไทย เพราะข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้มีอิสระมากพอจะแจ้งเกิดในบ้านตัวเอง
"เสียดายเหมือนกันครับ ที่ไม่ได้รับในฐานะประเทศไทย" เมตต์ ส่ายหน้าเบาๆ
World Beer Awards 2020 เป็นเวทีประกวดเบียร์จากทั่วโลก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ โดย 'ศิวิไลซ์' (Beer Sivilai) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในประเภทลาเกอร์
"กรรมการและทีมงานแจ้งว่าเป็นรางวัลของประเทศเวียดนาม ไม่ใช่ไทยแลนด์ เขาให้เครดิตจากชื่อประเทศผู้ผลิตข้างกระป๋อง ซึ่งเราผลิตที่เวียดนามทั้งหมด ทั้งๆ ที่ชื่อไทยมาก" เมตต์หัวเราะเชิงผิดหวังเล็กๆ
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 เบียร์มหานคร วีทเบียร์สไตล์เบลเยี่ยม ก็คว้ารางวัลในเวทีเดียวกัน และรับรางวัลในฐานะประเทศไต้หวัน
"คนบ้านเรามีฝีมือเยอะมาก ทำเบียร์มานานไม่แพ้ชาติอื่น แต่ก็หมดโอกาสตรงนั้นไป เนื่องจากหลายๆ อย่างและกฎหมายทำให้ผู้ประกอบการอย่างเราต้องไปหาทางออกที่ประเทศอื่น ไม่สามารถเคลมเป็นของไทยได้"
ที่มาของชื่อ ศิวิไลซ์ ไม่ซับซ้อน พวกเขาต้องการให้คนไทยได้ดื่มเบียร์ที่หลากหลาย เจริญลุ่มลึกทางรสชาติและวัฒนธรรมการบริโภค กอรปกับต้องการให้สอดคล้องทางอารมณ์ไปกับแบรนด์ 'มหานคร'
"อยากให้คนมีศิวิไลซ์ในการดื่มครับ"
กฎหมายไทย อนุญาตให้มีการทำเบียร์ได้ 2 ลักษณะคือ 1.หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี 2.โรงเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brew Pub) โดยให้บริโภคภายในพื้นที่ผลิต ไม่อนุญาตให้บรรจุขวดและต้องผลิตในปริมาณขั้นต่ำที่ 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี
ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต้องออกไปผลิตที่ประเทศอื่น แล้วส่งกลับเข้ามาขายที่บ้านเกิดตัวเองอีกที
"กฎหมายโบราณมากนะครับ" เขาบอก "ทางรัฐให้เหตุผลว่า ต้องควบคุมคุณภาพของการผลิตด้วยการให้เป็นสเกลใหญ่ ทั้งที่ไม่จำเป็น"
เมตต์ยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม ซึ่งเครือมหานครได้ย้ายฐานการผลิตไปที่นั่นทั้งหมด โดยระบุว่า ข้อกฎหมายและบรรยากาศของเวียดนามเป็นไปอย่างอิสระ เปิดโอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และสามารถพาตัวเองเติบโตได้อย่างเต็มที่ตามความนิยมของผู้บริโภค
"หลายๆ คนที่นั่น เขาเริ่มจากบริวผับก่อน และเมื่อทำอร่อย ก็เริ่มขยับขยายเป็นโรงงานผลิตเล็กๆ มันไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายครับ เราสามารถเริ่มจากเล็กๆ เมื่อมีทุนก็ขยาย พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แบบเริ่มจากศูนย์แล้วใหญ่ไปเลย 10 ล้านลิตรเหมือนในไทย"
ความหลากหลายของเบียร์นำไปสู่การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความริเริ่มใหม่ๆ
"มันเปิดเสรีมากครับ อย่างผมไปทานอาหารร้านข้างถนน เขาก็มีเบียร์ของเขาเอง ต้มในนั้น เป็นครัวเล็กๆ ก็สามารถทำขายได้
"คึกคักมาก ช่วงหลังๆ เวียดนาม เบียร์เขาบูมมาก ได้รางวัลเยอะแยะ คนเข้ามาทำธุรกิจทั้งฝรั่งและคนท้องถิ่นก็ล้วนเป็นคนอายุน้อย คนหนุ่มเขาเยอะมาก มีไอเดียใหม่ๆ ในสไตล์ของเขา เทียบกับไทยผมว่าเขาไปไกลกว่าเราเป็น 10 ปี ในเรื่องเบียร์ ฝีมือคนไทยมีนะครับ แต่มันโตกว่านี้ไม่ได้เพราะข้อจำกัดต่างๆ"
ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า "ลำบากเหมือนกัน ได้แต่บอกว่า This is Thailand" เวลาต้องอธิบายเรื่องข้อกฎหมายของไทยให้เพื่อนหุ้นส่วนอย่าง 'อาวี่' ฟัง "เขาก็งง" เมตต์บอกขณะที่อาวี่ส่ายหัวเป็นการคอนเฟิร์มว่าแปลกใจกับกฎหมายที่ล้าสมัย
"ไม่เข้าใจว่ากฎหมายหรือระบบต่างๆ ทำขึ้นมาเพื่ออะไร" อาวี่เผยว่าในสหรัฐฯ เปิดอิสระให้กับคราฟท์เบียร์ ทำให้ยอดเติบโตกินพื้นที่มาร์เก็ตแชร์ในตลาดเบียร์ได้มากถึง 13% สร้างงานให้กับผู้คนจำนวนมาก ขณะที่ไทยนั้นกินสัดส่วนไม่ถึง 1%
"ผมประทับใจและทึ่งกับความหลากหลายของอาหารไทยที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น แต่ผมกลับไม่เห็นตรงนั้นในธุรกิจแอลกอฮอล์ ผมอยากเห็นความหลากหลายของเบียร์ เหมือนวัฒนธรรมด้านอาหารในไทย"
เมตต์ เสริมว่า เบียร์เป็นประสบการณ์ทางด้านวัฒนธรรม เป็นผลิตภัณฑ์ชูโรงของหลายท้องถิ่นทั่วโลก สามารถสร้างชื่อเสียงและเรียกเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้
"เมืองไทยเรามีผลไม้ สมุนไพรต่างๆ ที่สามารถเอามาใช้ลักษณะเฉพาะและประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยว มันเสียโอกาสเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นหรือความเป็นไทยผ่านตัวนี้"
BLTbangkok รายงานเมื่อปี 2562 ระบุว่า ตลาดเบียร์ในไทย มีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท โดยคราฟท์เบียร์นั้นมีสัดส่วนไม่ถึง 1% แม้จะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 5-7% ต่อปี
การโฆษณาเบียร์สำหรับรายย่อยทำได้ยากมาก ที่ผ่านมาปรากฏข่าวมีผู้ถูกจับกุมอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะโฆษณาทางออฟไลน์หรือออนไลน์
โดยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ระบุว่า "ห้าม มิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อัน เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
"ช่องทางการขายของเจ้าเล็กและใหญ่มันต่างกันมาก เจ้าใหญ่เขาอยู่ได้โดยไม่ต้องโฆษณามากมาย แบรนด์ติดตลาด ช่องทางการขายมีทั่วประเทศ มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทต่างๆ ที่ใช้โลโก้เดียวกันออกมาขายเพื่อสื่อถึงแบรนด์ของตัวเอง"
สำหรับรายเล็กโฆษณาทำได้ยาก ยังเจอปัญหาด้านราคา เมื่อคราฟท์เบียร์แพงกว่าเบียร์ในท้องตลาดทั่วไป เนื่องจากวัตถุดิบ ปริมาณผลิต การขนส่ง ตลอดจนงบประมาณในการนำสินค้ากระจายเข้าสู่ร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า
"การเข้าโมเดิร์นเทรดไม่ง่าย ต้องมีค่าแรกเข้า มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายตามรอบบิล ตามเครดิต จะทำให้กลุ่มลูกค้าของเราเข้าถึงมีทางเดียว คือ ออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ทีนี้พอโดนบล็อก เจอเอาผิดก็หมดหนทางเหมือนกัน โปรโมตของใหม่ไม่ได้ยอดขายก็ตก"
เขาทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ไม่เข้าใจเลยคือ ทำไมต้องจำกัดการดื่มแบบผ่อนคลายและนำเอาความอรรถรส สุนทรีไปยึดติดกับบาปบุญ
ต่างๆ นานา