ไม่พบผลการค้นหา
ยื่น ศาล รธน. ตีความปมขับ ‘หมออ๋อง’ พ้นพรรคไม่ได้ ! เพราะไม่ได้เป็นเรื่องคุณสมบัติ ‘สมชัย’ ชี้ หาพรรคใหม่ไม่ได้ใน 30 วัน พ้น สส. ต้องเลือกตั้งซ่อม-กกต. ไม่มีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เหตุไม่ได้ทุจริตการเลือกตั้ง

วันที่ 29 ก.ย. สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ‘วอยซ์’ ถึงกระบวนการหลังจากที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ถูกขับออกจากพรรคก้าวไกลตามมติที่ประชุมพรรคว่า หลังจากนี้พรรคก้าวไกลต้องแจ้งมติของกรรมการบริหารพรรคในการขับ ปดิพัทธ์ ออกจากพรรคก้าวไกล ต่อสมาชิกพรรค และแจ้งไปยัง กกต. 

แม้สถานภาพการเป็น สส. ของ ปดิพัทธ์ จะยังคงอยู่ แต่ก็ต้องหาพรรคอื่นสังกัดภายใน 30 วัน แต่ถ้าหากไม่สามารถหาพรรคอื่นสังกัดได้ทันตามกรอบระยะเวลา จะหมดสมาชิกภาพการเป็น สส. และ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม 

หากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น และนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งซ่อม ปดิพัทธ์ ไม่จำเป็นต้องชดเชยค่าเสียหาย หรือตกเป็นจำเลยในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจาก กกต. ได้ เนื่องจาก ปดิพัทธ์ ไม่ได้เป็นผู้ทุจริตการเลือกตั้งแต่อย่างใด เป็นเพียงการขับออกจากพรรคเท่านั้น 

สมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางคนออกมาให้ความเห็นว่า การขับออกจากพรรคเป็นวิธีผิดธรรมชาต และอาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สามารถเข้าชื่อ 1 ใน 10 ได้ แต่นั่นเป็นประเด็นที่หากพบว่า สส. บุคคลใดขาดคุณสมบัติ แต่ประเด็นของ ปดิพัทธ์ นั้นไม่ใช่ 

ส่วนจะยื่นเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองก็ต้องไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่เรื่องมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองมันกว้าง ต้องไปดูตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 3 เรื่องคือ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์, มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก และจริยธรรมทั่วไป ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ ยังไม่เห็นว่ามีอะไรตรงกับกรณีดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม สมชัย มองว่า กรณีที่ ปดิพัทธ์ ยืนยันจะอยู่ในตำแหน่งรองประธานสภาฯ ก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่ต้องคิดถึงพรรค เพราะการที่ ปดิพัทธ์ ถูกเลือกมาเป็นประธานสภาฯ นั้น ถูกเลือกมาจากที่ประชุมสภาฯ ไม่ใช่ที่ประชุมพรรค ดังนั้นเขาจึงมีสิทธิ์พิจารณา

โดยอาจจะมองตัวเองว่า อยู่ตรงนี้ (ตำแหน่งรองประธานสภาฯ) ทำงานได้มากกว่า แต่ก็อาจจะทำให้เขาเสียชื่อ เพราะไม่ทำตามมติพรรคที่ต้องการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่เรื่องดังกล่าวจะเป็นประเด็นว่า ในการเลือกตั้งสมัยหน้าอาจจะทำให้ประชาชนเลือกหรือไม่เลือกก็แล้วแต่ 

สมชัย อธิบายเพิ่มอีกว่า การเห็นแก่ตัวเองของ ปดิพัทธ์ นั้นอาจจะเกิดจากคนในพรรค และคนที่เลือกเขามา ซึ่งก็มี 2 มุมมองตามมาคือ เหมาะสมแล้ว หรือมองเป็นการเอาคืนจากการกระทำในลักษณะแบบนี้ กล่าวคือ เห็นอีกฝ่ายใช้ช่องทางกฎหมายเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบทางการเมือง เช่น กรณีในรัฐบาลที่แล้วของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นต้น