ก่อนการชนะเลือกตั้งเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เปโตรเคยเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มกองโจร M-19 ในโคลอมเบีย ทั้งนี้ เขาได้รับการสาบานตนโดย รอย บาร์เรราส ประธานวุฒิสภาของโคลอมเบียที่โบลิวาร์พลาซ่าของกรุงโบโกตา ท่ามกลางแขกร่วมงานกว่า 100,000 คน ซึ่งในนั้นประกอบไปด้วย สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน รวมถึงประธานาธิบดีจากชาติลาตินอเมริกาอีก 9 ราย
“ผมไม่ต้องการให้มันมีสองประเทศ เช่นเดียวกับที่ผมไม่ต้องการให้มันมีสองสังคม ผมต้องการโคลอมเบียที่เข้มแข็ง ยุติธรรม และสามัคคี” เปโตรกล่าวปราศรัยหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง “ความท้าทายและการทดสอบที่เรามีในฐานะประเทศ ต้องการช่วงเวลาแห่งความเป็นเอกภาพและเป็นเอกฉันท์ขั้นพื้นฐาน”
โคลอมเบียกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและกองกำลังติดอาวุธ ทั้งนี้ เปโตรสัญญาว่าตนจะรื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ (ELN) และบังคับใช้ข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี 2559 ที่เคยทำการตกลงไว้กับอดีตสมาชิกของกลุ่มกองโจรกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติโคลอมเบีย (FARS) ที่ได้ปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าวไป
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลเปโตรกล่าวว่า รัฐบาลจะจัดการพูดคุยกับแก๊งค้ายา และมอบการลดโทษเท่าที่เป็นไปได้ให้แก่สมาชิกของแก๊ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อมูลการค้ายา โดยเปโตรย้ำว่า กองกำลังติดอาวุธต่างๆ จะต้องรับข้อตกลงดังกล่าวของรัฐบาล
“เราขอเรียกร้องให้บรรดาผู้ติดอาวุธ ได้ทิ้งอาวุธไว้ในความมืดมิดของอดีต ยอมรับผลประโยชน์ทางกฎหมายเพื่อแลกกับความสงบสุข เพื่อแลกกับความรุนแรงที่จะไม่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก” เปโตรกล่าว นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มียุทธศาสตร์ระหว่างประเทศใหม่ ในการต่อสู้กับการค้ายาเสพติด โดยการกล่าวว่าสงครามต่อต้านยาเสพติดที่นำโดยสหรัฐฯ นั้นล้มเหลว
“ถึงเวลาแล้วที่อนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่ จะยอมรับว่าสงครามต่อต้านยาเสพติดนั้นล้มเหลว ซึ่งทำให้ชาวลาตินอเมริกาเสียชีวิตไปแล้วกว่าหนึ่งล้านคนในช่วง 40 ปี และทำให้ชาวอเมริกาเหนืออีก 70,000 คนเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดในแต่ละปี สงครามต่อต้านยาเสพติดทำให้มาเฟียแข็งแกร่งขึ้น และรัฐอ่อนแอลง” เปโตรกล่าว
ในส่วนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปโตรย้ำว่าจะต้องมีการต่อสู้กับประเด็นดังกล่าวกันในระดับสากล โดยเฉพาะประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก โดยเปรโตชี้ว่าโคลอมเบียจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่ปราศจากถ่านหินหรือน้ำมัน นอกจากนี้ โฮเซ อันโตนิโอ โอกัมโป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ จะเสนอให้ประเทศมีการปฏิรูปภาษีมูลค่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (2 แสนล้านบาท) ซึ่งจะเพิ่มอัตราการเสียภาษีให้แก่ผู้ที่มีรายได้สูง เพื่อนำเงินดังกล่าวไปเป็นทุนในการพัฒนาโครงการด้านสังคม
โปเตร ซึ่งเคยเป็นอดีตวุฒิสมาชิกในวัย 62 ปี ย้ำว่า ภารกิจสำคัญอันดับแรก คือ การต่อสู้กับความอดอยากในโคลอมเบียที่มีประชากร 50 ล้านคน โดยประชากรเกือบครึ่งถูกจัดว่าเป็นผู้ยากจน เปโตรยังให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และจะมีการการเปลี่ยนแปลงด้านการสาธารณสุขของประเทศ ตลอดจนตนจะสร้างพันธมิตรในรัฐสภาในวงกว้าง ทั้งจากพรรคฝ่ายซ้ายและฝ่ายกลางผ่านเวทีของตน เปโตรยังได้สัญญาในเรื่องการปฏิรูปเงินบำนาญ และการหยุดการพัฒนาโครงการด้านน้ำมันใหม่ ส่งผลให้นักลงทุนรู้สึกกังวลใจต่อมาตรการของเปโตร
นอกจากนี้ เปโตรสัญญาว่าตนจะกลับมาเปิดความสัมพันธ์กับเวเนซูเอลาอีกครั้ง เพื่อให้ทั้งสองประเทศกลับมาทำการค้ากันอีก ตลอดจนกลับมาดำเนินภารกิจด้นกงสุลใหม่อีกรอบ ทั้งนี้ เปโตรจะมี ฟรังเซีย มาร์เกวซ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและอดีตแม่บ้าน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนใหม่อีกด้วย โดยเธอเป็นหญิงชาวแอฟริกัน-โคลอมเบียคนแรก ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของโคลอมเบีย
ที่มา: