ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ชี้การใช้เงิน 'กองทุน กยศ.' จ้างสำนักทนายความดำเนินคดีผู้กู้เงิน กยศ. เป็นการ "ได้ไม่คุ้มเสีย"

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุถึงการชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ. 2541 ได้ถูกแก้ไขใหม่เป็น พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ. 2560 ที่เปลี่ยนแปลงหลักคิดและปรัชญาที่มุ่งเชิงพาณิชย์และธุรกิจมากขึ้น อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1 เป็น ร้อยละ 7.5 ให้อำนาจนายจ้างดำเนินการหักเงินเดือนจากลูกจ้างที่เป็นหนี้กยศ.ได้เมื่อกองทุนได้แจ้งไป ให้อำนาจ กยศ. เข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้ได้ และกองทุน กยศ. มี "บุริมสิทธิ” คือ หลังจากหักไปจ่ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม แล้ว ต้องจ่ายหนี้ กยศ. ก่อน เจ้าหนี้รายอื่น เป็นต้น

ตั้งแต่ ปี 2561 เป็นต้นไป กองทุน กยศ. ได้รับประโยชน์จากกฎหมายไม่ต้องจัดงบประมาณแผ่นดินให้กองทุน เนื่องจากกองทุนฯ มีเงินหมุนเวียนที่เพียงพอ จากงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินปี กองทุน กยศ. ปี พ.ศ. 2558 - 2562 สรุปโดยย่อดังนี้

รายได้ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และอื่น ๆ

  • ปี 2558 จำนวน 5,731,591,895 บาท
  • ปี 2559 จำนวน 6,770,487,577 บาท
  • ปี 2560 จำนวน 6,754,431,545 บาท
  • ปี 2561 จำนวน 6,813,277,956 บาท 
  • ปี 2562 จำนวน 7,425,358,756 บาท

ค่าใช้จ่ายของกองทุน 

  • ปี 2558 จำนวน 7,360,214,372 บาทเศษ
  • ปี 2559 จำนวน 13,449,827,457 บาทเศษ 
  • ปี 2560 จำนวน -4,044,726,254 บาทเศษ
  • ปี 2561 จำนวน 7,847,582,976 บาทเศษและ 
  • ปี 2562 จำนวน -24,923,049,754 บาทเศษ 

รายได้สูงกว่า/ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ  

  • ปี 2558 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 1,628,622,477 บาทเศษ
  • ปี 2559 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 6,679,339,880 บาทเศษ, 
  • ปี 2560 รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 10,799,157,799 บาทเศษ, 
  • ปี 2561 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 1,034,305,019 บาทเศษและ 
  • ปี 2562 รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 32,348,408,511 บาทเศษ

ผู้กู้เงินจากกยศ. มีระยะเวลาปลอดหนี้ไว้ 2 ปี โดยนับจากปีที่จบการศึกษาหรือเลิกศึกษา และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาปลอดหนี้ผู้กู้ต้องผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 ปี โดยต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 5 ก.ค. ของทุกปี ปัจจุบันนี้มีผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2562 จำนวน 1.5 ล้านราย ทำให้ กองทุน กยศ. ต้องใช้จ่ายเงินกองทุนว่าจ้างสำนักทนายความฟ้องและบังคับคดีกับผู้กู้ กยศ.แยกเป็น

  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี คดีละ 5,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 8,250 ล้านบาท
  • ค่าบริหารจัดการคดีละประมาณ 1,200 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 1,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีจำนวนชั้นบังคับคดีกับผู้กู้ยืมเงินจำนวน 226,310 ราย โดยในชั้นบังคับคดีนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณคดีละ 8,750 บาท รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,980 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กับพบว่าได้มีการยึดทรัพย์-อายัดทรัพย์แล้ว จำนวนเพียง 59,642 คดี รวมเงินต้นประมาณ 6,815 ล้านบาทเศษ แต่กรมบังคับคดีได้ยึดทรัพย์และมีทรัพย์ขายทอดตลาดจริงเพียง จำนวน 2,657 คดี คิดเป็นจำนวนเงินที่ได้คืนมาจริงเพียง 218 ล้านบาทเท่านั้น เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนี้ แต่กลับได้เงินคืนมาเพียงเท่านี้ ถือว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย" 

ซ้ำร้าย มหันตภัยยังเกิดกับผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ที่แพ้คดีแพ่ง นั่นก็คือ การ 'ถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด ยึด อายัดทรัพย์' ในกรณีลูกหนี้ที่ไม่มีหลักค้ำประกัน หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหากไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็สามารถยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้อีกโดย เจ้าหนี้อาศัยเจ้าพนักงานบังคับคดี ในการยึดทรัพย์สินที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน หรือบ้าน บ่อยครั้งทรัพย์สินเหล่านี้มีมูลค่าเกินกว่าจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ติดอยู่มาก โดยเจ้าหนี้มักจะอ้างว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน จึงจำเป็นต้องยึดบ้านยึดที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดี ก็ไม่อาจห้ามการยึดได้

การที่กองทุน กยศ. ได้จ่ายค่าจ้างสำนักทนายความในการติดตามทวงหนี้ ฟ้องคดี บังคับคดีและบริหารจัดการที่ใช้เงินกองทุนจำนวนมาก ทำให้ภกองทุน กยศ. ทำตัวเหมือนการทำธุรกิจที่ต้องการประโยชน์หรือมุ่งเน้นการสร้างกำไรจากการประกอบการ ทั้งที่เป็นเงินในกองทุน กยศ.มาจากภาษีอากรของประชาชน การที่นักเรียน นักศึกษากู้เงิน กยศ. เพื่อไปใช้การศึกษาจึงควรจัดเป็นสิทธิและสวัสดิการของบุคคลทุกคน

การที่กองทุน กยศ.ไปจ้างสำนักทนายความฟ้องและบังคับคดีกับผู้กู้ กยศ.เป็นการแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้กองทุน กยศ. สามารถเลือกใช้วิธีอื่นที่ประหยัดเงินมากกว่า เช่น การขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการให้ ซึ่งสามารถกระทำได้ตาม พรบ.องค์กรอัยการฯ พศ. 2553 มาตรา 14 (5) วิธีการนี้จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความให้ดำเนินคดีนับพันล้านบาท 

การศึกษาถือเป็นสิทธิของบุคคลทุกคนที่รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน และมีความสำคัญสูงสุดในการพัฒนาคนทุกด้านทั้งความรู้ ความคิด จิตใจ และตัวตน การขัดเกลาเพื่อยกระดับความรู้ ความคิดและจิตใจอย่างสมบูรณ์ การศึกษาทำให้คนไม่ถูกความชั่วร้ายควบคุม และลากไปเหมือนสัตว์ที่ถูกเชือกลากไป การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาและขัดเกลาคนที่ครอบคลุมในทุกด้านอย่างสมบูรณ์และเป็นสากลที่สามารถใช้ทุกเวลา สถานที่ การศึกษาจึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่มอบให้กับทุกคน และต้องเป็นการศึกษาแบบให้เปล่าเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังคำกล่าวที่ว่า "การศึกษา สร้างคน คนสร้างชาติ"  

จากวิกฤติการผลกระทบจากโควิด 19 สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2563 ระบุอัตราการวางงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน และคาดว่าในปีนี้มีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนอาจไม่มีงานทำ ปรากฎการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลต่อ นักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ. ที่จบใหม่จะหางานทำไม่ได้ จะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นเป็นแน่ 

ข้อเสนอแนะ ควรจะยกเลิกหนี้ที่ผู้กู้ที่ค้างหนี้ทั้งหมดโดยมีกระบวนการ หลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอน แล้วยกเครื่องปรับระบบ กยศ. ใหม่ โดยสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในรัฐธรรมนูญ เน้นการกระจายอำนาจไปให้สถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น และสภาผู้แทนราษฎรควรบูรณาการแก้ไขกฎหมายเสียใหม่เพื่อให้การศึกษาเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้การพัฒนาความรู้ บุคลิกภาพและความสำนึกอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างบริบูรณ์

อ่านเพิ่มเติม