บรรดาผู้บริโภคชาวจีนต่างแสดงความไม่พอใจ ทั้งรณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าแบรนด์ดังจากต่างชาติอย่าง ไนกี้ (Nike) และ เอชแอนด์เอ็ม (H&M) หลังสองแบรนด์ยักษ์ใหญ่ออกมาแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการใช้ซัพพลายเออร์ฝ้ายที่มาจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์
H&M แบรนด์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชัน (Fast Fashion) รายใหญ่อันดับสองของโลกได้ออกแถลงการณ์ตั้งแต่ช่วงมี.ค. 2563 แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการใช้วัตถุดิบฝ้ายที่จากภูมิภาคซินเจียง โดยแถลงการณ์ของแบรดน์สัญชาติสวีเดนระบุว่า "เรารู้สึกกังวลอย่างมากที่มีการกล่าวหาการบังคับใช้แรงงาน และเลือกปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมุสลิมในภูมิภาคซินเจียง และได้หยุดกระบวนการสั่งซื้อฝ้ายจากภูมิภาคดังกล่าวแล้ว"
สอดคล้องกับคำแถลงของไนกี้ ที่ออกแถลงการณ์เมื่อ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าได้ตกลงกับซัพพลายเออร์ในการไม่ใช้วัตถุดิบฝ้ายจากซินเจียง รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากภูมิภาคนี้ เนื่องจากกรณีการถูกบังคับแรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยหลังไนกี้ออกแถลงการณ์เพียงไม่นาน ได้เกิดแฮชแท็กที่เรียกร้องการบอยคอตสินค้าดังกล่าว จนติดเทรนด์บนโลกออนไลน์เว่ยป๋อของจีน
ทั้งสองกรณี ส่งผลให้บรรดานักแสดงอย่าง หวังอี้ป๋อ (Wang Yibo) และ หวงซวน (Huang Xuan) ประกาศยกเลิกสัญญาโปรโมทสินค้าที่เคยทำไว้กับไนกี้ เช่นเดียวกับบุคคลมีชื่อเสียงในโลกโซเชียลมีเดียจีนหลายรายออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนบอยคอต ไม่สนับสนุนสินค้าจากแบรนด์ดัง เช่นเดียวกับวิกตอเรีย ซ่ง (Victoria Song) นักร้องนักแสดงสาว ที่ประกาศจุดยืนเดียวกันว่าเธอไม่มีความสัมพันธ์กับแบรนด์เสื้อผ้าเหล่านี้อีกต่อไป พร้อมลั่นว่า "ประโยชน์ของชาติมาเหนือสิ่งอื่นใด"
เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีของ H&M ซึ่งมีการประกาศนโยบายไม่สนับสนุนฝ้ายซินเจียงตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วนั้น แต่กลับเพิ่งเกิดกระแสแบนในเวลานี้นั้น มีขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลสหรัญฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พร้อมด้วยชาติพันธมิตร สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา ออกออกมาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีค่ายกักกันในซินเจียง เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ กระทั่งได้มีกลุ่มกลุ่มสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน (Communist Youth League) ออกมาเคลื่อนไหวจุดกระแสในเรื่องดังกล่าวช่วงวันพุธที่ผ่านมา โดยระบุข้อความตอนหนึ่งว่า "บริษัทต่างชาติต้องการโกยกำไรจากจีน แต่ปล่อยข่าวปลอมและคว่ำบาตรผ้าฝ้ายซินเจียง พวกเขาหวังมากไปหรือเปล่า"
ยังมีรายงานอีกว่า การซื้อขายเสื้อผ้า H&M ถูกถอดออกจากผ่านแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่างน้อย 3 คือ Tmall, Pinduoduo และ Jingdong
ด้านรัฐบาลปักกิ่งโดยสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี สื่อของทางการ ออกมาตอบโต้พร้อมปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยระบุว่าเป็น 'เจตนาแอบแฝง' ที่ต่างชาติสร้าวเรื่องโกหกกรณีซินเจียง ทั้งเรียกร้องคำขอโทษจากแบรนด์ดังสัญชาติสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ในยุครัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยออกมาตรการคว่ำบาตรสินค้าบางรายการที่มาจากซินเจียงเช่นกัน เนื่องจากพบรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและบังคับใช้แรงงานชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง ผ่านกระบวนการที่กวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ให้เข้าไปปรับทัศนคติและฝึกฝนวิชาชีพภายใน "ค่ายฝึกทักษะ" หลายแห่ง
ทั้งนี้ ไม่นานหลังกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน ด้านรัฐบาลปักกิ่งได้ออกมาตรการตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรลักษณะเดียวกัน ที่สั่งห้ามฝ่ายนิติบัญญัติจากชาติข้างต้นทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป เดินทางติดต่อใดๆ กับจีน
เหตุการณ์นี้ นับว่าสร้างความลำบากให้กับแบรนด์ตะวันตก เนื่องจากหากไม่ปฏิบัติตามมติแบนฝ้ายซินเจียง ก็อาจมีปัญหากับประเทศมหาอำนาจ ขณะเดียวกันการแสดงจุดยืนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในตลาดใหญ่อันดับสองของโลกด้วยเช่นกัน
ที่มา: SCMP , Marketwatch