ภาพชายเสื้อฟ้า ยืนโค้งตัวโบกมือเชื้อเชิญเรียกให้ลูกค้าขึ้นรถตุ๊กตุ๊ก พาเที่ยวชมเมืองหลวงหรือสถานที่สำคัญ เปลี่ยนไปเป็นภาพของ “คนยกสินค้าขึ้นหลังรถ” จัดวางเรียงพัสดุ เก้าอี้ หรือแม้แต่ผลไม้ นำไปส่งตามที่ได้รับมอบหมาย หลังจากโควิด-19 เรียกร้องให้ทุกคนต้องปรับตัว
บริษัทนวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ ผู้ให้บริการ “สไมลิ่ง ตุ๊กตุ๊ก” ได้ประกาศเปลี่ยนบริการจากรับส่งคน เป็น Tuk Tuk X บริการรับส่งสารพัดสิ่งของและพัสดุ เพื่อเอาตัวรอดในยามวิกฤต ด้วยความเชื่อมั่นว่า "เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานจะเปิดขึ้น"
กิติชัย ศิรประภานุรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวทรรศน์ฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ Smiling Tuk Tuk ให้บริการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวและนำเที่ยวโดยรถตุ๊กตุ๊ก พาชมสถานที่สำคัญ ชอปปิงและรับประทานอาหารชื่อดังในกรุงเทพมหานคร
หลังเผชิญกับพายุวิกฤตโควิด-19 บริษัทสูญเสียรายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากลูกค้าทั้งหมดของบริษัทเป็นชาวต่างชาติ
เขาและทีมงานพยายามมองหาโมเดลชดเชยรายได้ที่เสียไป ก่อนเห็นโอกาสจากเทรนด์เดลิเวอรีที่กำลังเติบโตในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องอยู่แต่ภายในบ้าน
“เราพบช่องว่างในด้านราคาและปริมาณการขนส่ง รถตุ๊กตุ๊กนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์หรือกระบะ สามารถรองรับสินค้าขนาดเล็ก กลางและใหญ่กว่ามอเตอร์ไซค์ด้วยค่าบริการที่ต่ำกว่ารถยนต์ รวมถึงทำเวลาได้ดีกว่า” ผู้บริหารหนุ่มบอก
"ของหนักของใหญ่แค่ไหน ขนขึ้นรถได้ เรารับหมดนะครับ"
ขณะเดียวกันขนาดของรถตุ๊กตุ๊ก ที่สามารถขนของได้หลากหลายและปลอดภัย ทำให้สินค้าบางประเภทไม่จำเป็นต้องแพ็กด้วยวัสดุฟุ่มเฟือยเหมือนการขนส่งด้วยรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งนั่นหมายความว่า “ต้นทุนของผู้ค้าจะต่ำลง”
ช่วงเวลาแบบนี้อย่าเพิ่งคิดถึงกำไร สิ่งสำคัญคือช่วยให้ผู้ขับราว 50 คนของบริษัทมีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิต โดยค่าบริการเริ่มต้นอยู่ที่ 180 บาท
“แน่นอน เติมเต็มรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ได้หรอก แต่เราหวังว่ามันจะทำให้เขาอยู่ได้ในช่วงวิกฤต” กิติชัย บอกว่า ผู้ขับอยู่ระหว่างเรียนรู้วิธีการรับ-ส่งสินค้าและแผนที่ในเมือง ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่พวกเขาคุ้นเคย และนั่นจึงเป็นที่มาของการจำกัดพื้นที่เพียง 19 เขตใน กทม.และปริมณฑล ในช่วงเริ่มต้นของการให้บริการ
หากความต้องการของผู้บริโภคมีจำนวนมากพอ อนาคตบริษัทอาจรับส่งสินค้าอย่างเต็มรูปแบบควบคู่ไปกับการทำทัวร์
“ถ้าเห็นดีมานด์ ธุรกิจมันไปได้เราพร้อมพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ อยู่เเล้ว เพราะเราอยากเห็นเดลิเวอรีสัญชาติไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
ผู้บริหารหนุ่มทิ้งท้ายว่า วิกฤตทำให้ตัวเองและพนักงานรู้จักปรับตัว หลายสิบคนเปลี่ยนจากไกด์มาเป็นแม่ค้าออนไลน์ แม้ช่วงเริ่มต้นอาจจะยาก แต่ถ้าเรียนรู้และปฏิบัติเราก็สามารถทำสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ นอกจากนี้ยังพบว่า การจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการอยู่รอดของธุรกิจรวมถึงชีวิต
“ถ้าผ่านวิกฤตตรงนี้ไปได้ เราน่าจะเข้มแข็งพอที่จะเลี้ยงดูพนักงานและเติบโตต่อไปด้วยกันครับ”
สนใจติดต่อรับบริการได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Smiling Tuk Tuk - private tours & transport rental เช่ารถ เรือท่องเที่ยว