ไม่พบผลการค้นหา
ผู้บริหารบัตรแรทบิทเผยมีความพร้อม หากรัฐให้จัดทำระบบตั๋วร่วมกลาง เชื่อมโยงขนส่งทุกระบบ หลังบัตรแมงมุมทำได้เพียงรถไฟฟ้า 2 สาย ชี้มีผู้ใช้บัตรแรบบิทปัจจุบันกว่า 13 ล้านใบ ตั้งเป้าปีหน้าเพิ่มเป็น 15 ล้านใบ คาดสิ้นปี 2563 ใช้บัตรร่วมกับรถเมล์ได้อีก 2,000 คัน

นางสาวรัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บีเอสเอส) หรือ ผู้ให้บริการบัตรแรบบิท เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ที่ระบบบัตรแรบบิทจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบัตรแมงมุม หรือ ตั๋วร่วม ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า ในส่วนของบริษัทฯ มองไว้ 2 แนวทาง คือ หนึ่ง รัฐบาลให้แรบบิทเป็นผู้ดำเนินการกลาง ซึ่งในส่วนนี้บริษัทยินดี และพร้อมเสนอตัวทันทีในการเข้าไปมีส่วนร่วม เนื่องจากมองว่าบริษัทมีความพร้อมในเรื่องของระบบอยู่แล้ว และปัจจุบันมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะครบทุกโหมด

รถไฟฟ้า.jpg

หรือ สอง รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ในส่วนนี้บริษัทก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปร่วมในระบบก็ทำได้ เนื่องจากระบบบัตรแมงมุม คนส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยทำระบบเป็นคนของแรบบิท ดังนั้นทั้ง 2 ระบบจึงมีความคล้ายคลึงกันอยู่ ซึ่งหากใช้แนวทางนี้ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมามีการคุยกันบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากรัฐจะพิจารณาในแนวทางที่ 1 เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค หากให้แรบบิทดำเนินการ มั่นใจว่าระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่งจะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ครบทุกโหมด ซึ่งรวมถึงการใช้บริการรถไฟฟ้าของ รฟม. และรถเมล์ของ ขสมก.

Rabbit Card แถลงข่าว
  • รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด

“เราเกิดมาเพื่อเป็นตั๋วร่วมอยู่แล้ว เมื่อถามว่าจะสามารถเสนอตัวเป็นระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing) ได้ไหม ต้องอยู่ที่รัฐบาลว่าจะเลือกแบบไหน ซึ่งอยากเริ่มได้เลยแล้วดึงเราขึ้นมา เราพร้อมเพราะมีการเชื่อมต่อด้วยตัวของตัวเองอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลอนุญาตให้แรบบิทดำเนินการก็พร้อม แต่ถ้ารัฐบาลจะมีระบบกลางเป็นของตัวเองเราก็พร้อมสนับสนุนและยกระบบเข้าร่วม” นางสาวรัชนี กล่าว

ล่าสุดบริษัทได้เริ่มทดลองนำ "ระบบแรบบิท" ที่ใช้ในรถไฟฟ้า BTS มาทดลองใช้กับรถเมล์โดยสารสมาร์ทบัสใน 2 เส้นทางแล้ว ได้แก่ สาย 104 ปากเกร็ด-หมอชิต 2 และสาย 150 ปากเกร็ด-บางกะปิ ซึ่งถือเป็นการนำระบบการชำระเงินตามมาตรฐานสากลมาใช้ในรถโดยสารประจำทางสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าไตรมาสแรกของปี 2563 จะมีการติดตั้งเพิ่มในรถสมาร์ทบัสอีก 5 สาย และภายในสิ้นปี จะสามารถติดตั้งระบบการชำระเงินด้วยบัตรแรบบิทนี้ได้อย่างสมบูรณ์ในรถสมาร์ทบัสสายอื่นๆ รวมกว่า 2,000 คัน ทั่วกรุงเทพฯ ส่งผลให้มีผู้ใช้บัตรแรบบิทเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 แสน ถึง 1 ล้านคนต่อวัน

ขณะเดียวกัน การเพิ่มเส้นทางการให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอส ในระหว่างปี 2563-2564 ระยะทางจะเพิ่มขึ้นจาก 50 กม. เป็น 170 กม. จากรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต – คูคต) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้งานบัตรแรบบิทเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ล้านคนต่อวัน เป็น 15 ล้านใบ จากปัจจุบันอยู่ที่ 13 ล้านใบแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :