การ‘ตั้งฉายา’ ให้กับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และบรรดานักการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของเหล่านักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล โดยการตั้งฉายาจะมีขึ้นทุกๆ สิ้นปี เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล และสะท้อนภาพของรัฐมตรีคนนั้นๆ ในช่วงเวลาหนึ่งทางการเมือง
สำหรับที่มาที่ไปของประเพณีนี้ คอลัมนิสต์ท่านหนึ่งเคยเขียนถึงไว้ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เมื่อปี 2542 กล่าวถึงกลุ่มนักข่าวสายทำเนียบรัฐบาลจำนวน 10 ที่ริเริ่มคิดค้นกิจกรรมนี้ราวปี 2526 ซึ่งเป็นช่วงการบริหารประเทศโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ว่ากันว่า นักข่าวในตำนานกลุ่มนี้ได้ไอเดียมาจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ที่ต่างก็นิยมตั้งฉายารัฐบาลและบุคคลทางการเมือง พวกเขาจึงจับเข่าวางแผนขั้นตอนและการคัดสรรฉายาให้รัดกุม และด้วยความที่นักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเวลานั้นมีเพียง 10 กว่าคน การคัดสรรจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากนัก นำมาสู่กิจกรรมตั้งฉายาที่ได้รับความนิยมและเป็นแบบอย่างไปสู่นักข่าวสายอื่นๆ ไปโดยปริยาย
ในวาระที่ฉายารัฐบาลประจำปี 2566 ได้ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ วอยซ์ จึงอยากชวนผู้อ่านไปสำรวจฉายาต่างๆ ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ปี 2539-ปัจจุบัน
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน สส. 125 ที่นั่ง และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 โดยเริ่มบริหารประเทศในช่วงปลายปี 2539
การบริหารประเทศภายใต้การนำของ พล.อ.ชวลิต ได้ประสบปัญหาด้านการคลัง ทำให้ พล.อ.ชวลิต ได้ตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งผลให้รัฐบาลตกอยู่ในกระแสวิกฤติศรัทธา และขณะนั้นฐานะทางการเงินการคลังเกิดวิกฤติอย่างรุนแรง ในที่สุด พล.อ.ชวลิต จำต้องลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 หลังจากที่เข้ามาบริหารประเทศได้ประมาณ 11 เดือนเศษ
หลังการลาออกของ พล.อ.ชวลิต ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ชวน หลีกภัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเห็นว่า รัฐบาลของ ชวน หลีกภัย เพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียงเดือนเศษ ดังนั้นในปี 2540 นี้ เมื่อรัฐบาลชวนเพิ่งเข้ามาทำงานในระยะเวลาอันสั้น จึงเห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะจัดตั้งฉายาให้
เช่นเดียวกับรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เข้ามาทำงานในปลายปี 2539 กลุ่มผู้สื่อข่าวจึงได้งดจัดตั้งฉายาของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต เช่นกัน
หลังรัฐบาล ชวน หลีกภัย เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ด้วยเสียงสนับสนุนทั้งจากเสียง ส.ส.ในสภา และเสียงสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อเข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์ ทำให้ผู้นำอย่างชวน หลีกภัย กลายเป็น ‘อัศวินขี้ม้าขาว’ เข้ามาช่วยกอบกู้ปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นความหวังสุดท้ายเท่าที่มีอยู่
ทว่าการบริหารงานในหนึ่งปีที่ผ่านมาของรัฐบาลชวน ผู้สื่อข่าวทำเนียบมีความเห็นว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะไม่คืบหน้าแล้ว ยังมีปัญหาอีกมากมายที่เกิดขึ้นในรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาการบริหารงานที่บกพร่องผิดพลาดความล้มเหลวเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังต่อรัฐบาลทั้งนั้น จึงทำให้เห็นว่า ตัวนายชวน และรัฐบาลของเขา ไม่ใช่อัศวินที่แท้จริง หรือหากเป็นอัศวิน ก็เป็นได้เพียง ‘อัศวินขี่ม้าไม้’ ซึ่งเป็นม้าไม่มีชีวิต ไม่ใช่อัศวินขี่ม้าขาวอย่างที่คนเข้าใจตั้งแต่แรก
สำหรับฉายานายกชวน หลีกภัย ผู้สื่อข่าวทำเนียบได้ขนามนามเขาว่า นายกฯ ‘ช่างทาสี’ เพราะการกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยของชวน (สมัยที่ 1 2535-2538) นับว่าเจอเรื่องยุ่งยากพอควร เพราะกว่าจะได้ตำแหน่งนายกฯ นายชวนต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำหลายอย่าง เรียกว่า ทิ้งหลักการเพื่อตนเอง นำคนที่ตนเองเคยกล่าวหามาร่วมรัฐบาล แล้วประกาศว่าคนเหล่านั้นเป็นคนดี ส่วนใครที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามจะกลายเป็นคนเลวในพริบตา เปรียบเหมือนช่างทาสี ที่เลือกจะทาสีขาวให้พรรคพวกตนเอง แล้วทาสีดำให้คนอื่น ไม่เว้นแม้แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการบริหารงานส่วนอื่นๆ ที่ฉาบทาด้วยสีสวยสดใส ทำให้คนเห็นภาพว่ามันจะสวยงามจริงๆ
เหตุผลที่ได้รับฉายา ‘รัฐบาลชวนเชื่อ’ เนื่องจากการบริหารประเทศของรัฐบาลชวน หลีกภัย ในช่วง 2 ปี รัฐบาลมักใช้ภาพลักษณ์ของนายชวน มาเป็นจุดขาย และใช้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ โดยข้อมูลส่วนใหญ่มักเป็นด้านดีต่อรัฐบาล แต่ความจริงแม้ปัญหาบางอย่างจะถูกแก้ไข แต่ยังมีปัญหาอื่นตามมาอยู่ตลอด โดยมีวาทะฮิตคือ “ไม่ขอโทษแต่เสียใจ”
สำหรับฉายานายกฯ ชวน คือ 'นายประกันชั้นหนึ่ง' เหตุเพราะรัฐบาลชุดนี้ มักนำคุณสมบัติของนายกฯ ชวน เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต มาเป็นเครื่องการันตีรัฐบาล โดยเฉพาะบทบาทของนายกฯ ชวน ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา เห็นได้ชัดแม้รัฐมนตรีบางคนจะไม่สามารถชี้แจงเหตุผลแก้ข้อกล่าวหาได้ชัดเจน บางคนตอบไม่ได้หรืออ้างเหตุผลฟังไม่ขึ้น แต่นายกฯ ชวนจะใช้ความเชี่ยวชาญ ในการตอบโต้ในเวทีสภา มาช่วยให้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเบาบางลง และไม่เคยใช้บทบาทผู้บริหารสูงสุด พูดกำราบปรามรัฐมนตรีที่เหลิงอำนาจสนั่นจนมาเฟียเสียฟอร์ม
ในส่วนของคนรอบข้างของนายกฯ ชวน ก็ได้รับฉายาเช่นกัน อาทิ สนั่น ขจรประศาสน์ (เสธ.หนั่น) รมว. กระทรวงมหาดไทย ถูกขนามนามว่า ‘ชาละวันสันหลังหวะ’ เพราะมีแผลเต็มตัวสะกิดตรงไหนก็โดนตรงนั้น, ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รมว. กระทรวงการคลัง ถูกขนามนามว่า ‘นักกู้สิบทิศ’ เหตุบากหน้าไปกู้หนี้เป็นงานหลัก, ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงพาณิชย์ ถูกขนามนามว่า ‘อาทิตย์ผิดฟ้า’ โดนขุนคลังบังรัศมีจนไม่มีโอกาสแสดงความสามารถ, สุเทพ เทือกสุบรรณ รมว. กระทรวงคมนาคม ถูกขนามนามว่า ‘กล่องดำนายหัว’ ที่ต่างกุมความลับซึ่งกันและกันกับนายกฯ, ปองพล อดิเรกสาร ถูกขนามนามว่า ‘หนังใหญ่เมืองสุพรรณ’ เพราะทำอะไรไม่เป็นและมี ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ คอยชักใย
ในปี 2543 ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ไม่สามารถหยิบฉายาเด็ดของรัฐบาลชวน หลีกภัย ขึ้นมาเสียดสีได้ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากอยู่ในใกล้ช่วงเลือกตั้ง 6 มกราคม 44 อาจส่งผลได้ผลเสียในการเลือกตั้งได้
เหตุที่ตั้งเช่นนี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาให้เหตุผว่า เป็นเพราะ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ของรัฐบาล ประสบความสำเร็จในการบริหารบริษัทมหาชน และได้นำรูปแบบการบริหารบริษัทมาปรับใช้กับการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นระบบซีอีโอ มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริการจัดการ รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แม้บางครั้งหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ไม่กล้าคัดค้าน เมื่อมีปัญหาขัดแย้งในกระทรวงต่างๆ นายกฯ จะต้องลงมาตัดสินปัญหาทุกครั้ง หรือเมื่อมีกลุ่มบุคคลวิพากษ์วิจารณ์พร้อมเสนอแนะ รัฐบาลก็ไม่รับฟัง และร่วมกันตอบโต้ถือว่าแนวทางของรัฐบาลถูกต้อง โดยมักจะอ้างประชาชนสนับสนุน ดังนั้นการบริหารงานของรัฐบาลจึงเหมือนบริษัทจำกัด แต่ ไม่มีความเป็นมหาชน เพราะผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น
สำหรับฉายานายกฯ ทักษิณ ชินวัตร คือ ‘เศรษฐีเหลิงลม’ เพราะหลังพ้นคดีซุกหุ้น ทักษิณได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า จะเป็นรัฐบาล 8 ปี การใช้อำนาจบริหารประเทศแสดงถึงความมั่นใจว่า มีความรู้ความสามารถที่จะนำพาประเทศชาติให้พ้นจากวิกฤติได้ ทุกมาตรการที่ประกาศต่อสาธารณะ มักยืนยันอย่างมั่นใจและพร้อมตอบโต้กับบุคคลที่ติติงด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว ทั้งที่นโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหายังไม่สัมฤทธิผลอย่างแท้จริง ประกอบกับการได้กุมกลไกอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลมองว่า นายกฯ มีบุคลิกที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงคล้ายคนที่กำลังเหลิงอำนาจ
สำหรับฉายารัฐบาลในปี 2545 ได้แก่ ‘หลอน’ เนื่องจากผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลมองว่า นโยบายที่รัฐบาลนำเสนอต่อสาธารณะ เป็นการสร้างความหวังให้กับทุกชนชั้นในสังคม ทั้งที่นโยบายเดิมยังไม่สัมฤทธิ์ผล แต่มีนโยบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อจูงใจให้ประชาชนยอมรับ หลงไหลชื่นชมศรัทธา ด้วยความหวังว่าจะหายจน นักธุรกิจจะกำไรเพิ่มขึ้น ข้าราชการจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลทำด้วยความปรารถนาดี มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่เมื่อนโยบายถูกตรวจสอบ และส่อว่าจะมีปัญหายุ่งยากในการปฏิบัติ กลับออกนโยบายและมาตรการใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสมือนการหลอนให้เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อรัฐบาลตลอดเวลา
ส่วนฉายานายกฯ ทักษิณ ชินวัตร คือ ‘เทวดา’ เนื่องจากกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนหลงอำนาจเหลิงลม ทั้งในปีที่ผ่านมาและปีนี้ เป็นการแผลงฤทธิ์อวดศักดาบารมี ด้วยการกำหนดคำนิยามเศรษฐกิจ สังคมการเมือง ภายใต้กรอบความคิดของตัวเองเป็นหลัก หากบุคคลใดท้วงติง หรือเห็นต่าง ก็จะถูกตอบโต้รุนแรงทุกที ยึดติดกับความคิดของตัวเองว่าถูกต้องเพียงผู้เดียว และพยายามแสดงบทบาทให้สังคมเห็นว่าเป็นผู้นำเอเซียและระดับโลก เสมือนหนึ่งเป็น ‘เทวดา’ นั่นเอง
สำหรับฉายา ‘ตระกูลเอื้อ’ ของรัฐบาลในปี 2546 สะท้อนถึงนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ภายใต้ชื่อโครงการ ‘เอื้ออาทร’ ต่อประชาชน เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าประปาน้ำดื่มประกันภัยทุนการศึกษา แท็กซี่ จักรยาน บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ โดยลดแลกแจกแถมสารพัดวิธี นอกจากนี้ยังมีนโยบาย ‘เอื้อประโยชน์’ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มเครือข่าย ธุรกิจของนักธุรกิจการเมืองในคณะรัฐบาล รวมถึงการ ‘เอื้อตำแหน่ง’ ให้กับวงศาคณาญาติและพวกพ้อง โดยการจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ของแต่ละกระทรวงทั้งทหารตำรวจองค์กรอิสระ และรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย
ส่วนฉายานายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้แก่ ‘นายทาส’ หมายถึงเป็นผู้ประกาศปลดปล่อยประชาชนคนไทยให้หลุดพ้นจาก ‘พันธนาการ’ ความยากจน ยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล และพ้นจากทาสไอเอ็มเอฟ แต่กลับนำกลไกของรัฐมาสร้างพันธนาการใหม่ให้กับประชาชนด้วยนโยบาย ‘ก่อหนี้’ ทุกรูปแบบ ทั้งยังส่งเสริมระบบเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน เปรียบประหนึ่งว่า กำลังสนับสนุนค่านิยมเสี่ยงโชค อาจส่งผลให้ประชาชนต้องตกเป็นทาสการพนันไปในที่สุดกอร์ปกับเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในฝ่ายบริหารสามารถให้คุณให้โทษแก่ทุกองคาพยพในสังคม เสมือนกับเป็นการกุมชะตาชีวิตของประชาชนไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียวเยี่ยงนายทาส
ฉายารัฐบาลประจำปี 2547 คือ ‘รัฐบาล กิน - แบ่ง’ เนื่องจากผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลมองว่า การบริหารประเทศที่ผ่านมามักถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ดำเนินนโยบายเอื้ออาทรพวกพ้อง อาจเป็นเพราะบังเอิญรัฐบาลนี้มีกลุ่มธุรกิจที่มีความใกล้ชิดเข้ามาร่วมจำนวนมาก ผลประกอบการทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดรัฐบาลก็มีกำไรมหาศาล ในขณะที่รัฐบาลทุ่มเงินลงไปในโครงการต่างๆ จำนวนมาก ใช้นโยบายประชานิยม และโครงการเอื้ออาทร ทำให้ประชาชนเห็นว่าได้รับประโยชน์จาก นโยบายเหล่านี้เช่นกัน พร้อมกับสร้างความหวังให้กับประชาชน เหมือนโชค ลาภ ของ สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ใช้กลยุทธ อันชาญฉลาด
ส่วนฉายานายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในปีนี้ ได้แก่ ‘ผู้นำจานด่วน’ เนื่องจาก 4 ปีในการบริหารของนายกฯ ทักษิณ ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของการคิดไว ทำไวเชื่อมั่นในตัวเองสูง ตอบโต้ทันควันต่อผู้เห็นต่างเสมอ ขณะเดียวกันได้เร่งออกนโยบายประชานิยม หว่านเม็ดเงิน ผุดโครงการโดยใช้เงินนำร่อง สร้างภาระหนี้ให้กับประชาชน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนพุ่งทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางคำครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จึงเปรียบภาวะผู้นำของนายกฯ ทักษิณ เสมือนการสั่งอาหารจานด่วนมารับประทาน อันบ่งบอกถึง ทำเร็ว กินเร็ว อิ่มเร็ว เพื่อต้องการให้เห็นผลงานเร็ว เหมือนกับไม่สนใจรสชาติของอาหาร
สำหรับปี 2548 รัฐบาลได้รับฉายา ‘ประชาระทม’ เนื่องจากผู้สื่อข่าวทำเนียบฯ มองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโหมใช้นโยบายประชานิยมโฆษณาชวนเชื่อ จนประชาชนมอบความไว้วางใจด้วยคะแนนท่วมท้นให้เป็นรัฐบาลอีกสมัย โดยหวังว่าจะเข้ามาพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตให้อยู่ดี กินดี แต่หลังจากบริหารประเทศยังไม่ทันครบปี ปรากฏว่านโยบายประชานิยมกลับพ่นพิษ ทำให้ประชาชนต่างทุกข์ระทม ภาวะหนี้สินทุกครัวเรือนพุ่งขึ้นไม่หยุด เข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง เกิดความรุนแรงในสังคม กอปรกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีทีท่าจะยุติ มิหนำซ้ำยังมีข่าวฉาวคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง ขนาดองค์กรอิสระที่ชาวบ้านหวังเป็นที่พึ่ง ยังถูกครอบงำจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แม้รัฐบาลจะตีปี๊บประโคมข่าวตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะดีดตัวสูงขึ้น แต่ประชาชนชั้นรากหญ้ายังต้องระทมทุกข์ต่อไป
ส่วนฉายานายกฯ ทักษิณ ชินวัตร คือ ‘พ่อมดมนต์เสื่อม เพราะแม้ ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างท่วมท้นกว่า 19 ล้านเสียง นั่งแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 อย่างสง่างาม แต่จากการทำงานช่วงระยะเวลาไม่ถึงปี ภาพเดิมที่เคยถูกมองว่าเป็น ‘เทวดา’ เก่งและเนรมิตได้ทุกเรื่อง ใครแตะต้องไม่ได้ กลับกลายเป็น ‘พ่อมด’ ที่ใช้แต่อารมณ์ ยิ่งเมื่อถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง สุดท้ายต้องแหงนหน้าพึ่งดาวพุธถอยฉากตั้งหลัก ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นลดลงไปเรื่อยๆ เพราะถูกจับได้ไล่ทันว่า ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้ ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เชื่อถือในความซื่อสัตย์ ไม่เพียงแค่ประชาชน แม้แต่ลูกพรรคไทยรักไทยยังออกมาลองของไม่เว้นแต่ละวัน คำพูดของท่านผู้นำที่เคยศักดิ์สิทธิ์ในวันนี้กลับเสื่อมถอยลง
ในปีนี้ ได้เกิดเหตุการณ์ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ค.ป.ค.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมมือกับผู้นำเหล่าทัพต่างๆ รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการของ ทักษิณ ชินวัตร และต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในช่วงสิ้นปี 2549 เดิมมีธรรมเนียมปฏิบัติในการตั้งฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่มีผลงานและบทบาทโดดเด่น ทั้งด้านดีและลบ ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล แต่ครั้งนี้ ไม่มีการตั้งฉายาใดๆ โดยผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ก็ไม่มีการถามถึงกรณีดังกล่าว
จากเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้น ด้านผลโพลสำรวจเรื่อง ‘ข่าวดีข่าวร้ายทางการเมืองและบุคคลแห่งปี 2549’ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยว่า บรรดาเหล่าคอการเมืองได้โหวต ‘พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์’ เป็นบุคคลแห่งปี 2549 และตั้งฉายารัฐบาลของสุรยุทธ์ว่า ‘รัฐบาลนามธรรม’ เหตุเพราะยังไม่มีอะไรใหม่เป็นผลงานโดนใจ และประชาชนฐานสนับสนุนกลวง
ด้าน ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้มอบฉายาให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า ‘รัฐบาล OT’ ซึ่งแปลได้ทั้งเป็นรัฐบาล Old Technocrat และรัฐบาลล่วงเวลา (Over Time) สะท้อนถึงการทำงานของรัฐบาลที่เน้นข้าราชการ ผู้ชำนาญการอาวุโส ที่เสียสละมาแก้วิกฤติชาติ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะปฏิบัติภารกิจ 1 ปีของตัวเองได้ลุล่วง นำพาประเทศพ้นวิกฤติไปได้
โดยธีรยุทธ ให้เหตุผลว่า ในด้านเสถียรภาพ รัฐบาลไม่มีข้อกังวลมาก เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ สุขุม มั่นคง และพรรคไทยรักไทยจะสลายตัวเป็นเพียงพรรคย่อย บรรดาผู้นำจำนวนหนึ่งจะมีความผิด และถูกลงโทษตามกฎหมาย ใน 3-6 เดือนข้างหน้า ขณะที่อุดมการณ์ประชานิยมยังไม่ได้ฝังรากลึกในหมู่รากหญ้า และกลุ่มต่างๆ ของพรรคไทยรักไทยจะลอยตัว รอเวลาวิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจการเมืองใหม่
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจของ สวนดุสิตโพล ที่ระบุว่า คนไทยถึง 83 เปอร์เซ็นต์ หนุนหลังการปฏิวัติ และผลสำรวจของเอแบคโพลล์ ก็ได้ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.5 ให้ความนิยมและสนับสนุน พล.อ.สุรยุทธ์ สะท้อนให้เห็นว่า บรรยากาศทางการเมือง ณ ขณะนั้น ประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุนการรัฐประหารของ คมช. และให้การยอมรับรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อยู่พอสมควร
ในปี 2550 นี้ ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลมีมติ งดตั้งฉายารัฐบาล นายกฯ และรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลสภาวการณ์ไม่ปกติ
อย่างไรก็ดี แม้ปีนี้จะไม่มีการตั้งฉายารัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อย่างเป็นทางการ ทว่าบรรดาคอการเมืองก็ต่างเรียกขานรัฐบาลด้วยฉายาติดปากว่า ‘ครม.ขิงแก่’
2551 - งดตั้งฉายา
ในรัฐบาลของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กันยายน 2551 หลังจาก สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีขาดคุณสมบัติ
ทว่าหลังบริหารประเทศได้เพียง 75 วัน ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยให้ ‘ยุบพรรคพลังประชาชน’ เนื่องจากกรณีที่ ยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กระทำความผิดตาม พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จำนวน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
หลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่เคยสนับสนุนพรรคพลังประชาชนได้หันมาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภาฯ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551
ด้วยเหตุการ์ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ในปี 2551 ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลได้งดการตั้งฉายารัฐบาลและนายกฯ ไปโดยปริยาย
รัฐบาลในปี 2552 ได้รับฉายาว่า ‘ใครเข้มแข็ง?’ เนื่องจากผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลมองว่า รัฐบาลได้ประกาศแผนพลิกฟื้นประเทศไทยให้พ้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ผ่านแผนปฏิบัติการ ‘ไทยเข้มแข็ง’ เพื่อลงทุนยกเครื่องประเทศครั้งใหญ่ ภายใต้ พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. เงินกู้รวม 8 แสนล้านบาท เมื่อโครงการนี้ไปสู่การปฏิบัติมีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาล ความไม่โปร่งใส จนเกิดคำถามว่าการสร้างหนี้เพื่อฟื้นประเทศไทยทำให้ใครเข้มแข็งระหว่าง ประชาชนหรือนักการเมือง
ส่วนฉายาของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ ‘หล่อหลักลอย’ เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีภาพลักษณ์ดี หน้าตาดี การศึกษาดี จึงมีแม่ยกเป็นจำนวนมาก มักประกาศจุดยืนและหลักการด้านประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อรับตำแหน่งได้ประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อให้ ครม. มีความรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่เมื่อรัฐมนตรีบางคนมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย หรือมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส กลับไม่ได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง นั่นเท่ากับไม่สามารถกำกับให้กฎเหล็กมีผลใช้บังคับได้ หลักที่เคยประกาศไว้จึงเหมือนคำพูดที่เลื่อนลอย ไม่เป็นไปตามหลักการที่วางไว้
ตลอดปี 2553 รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเผชิญกับวิกฤตหลายด้าน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตภัยธรรมชาติ วิกฤตการเมืองทั้งในและนอกสภา เกิดความขัดแย้งและแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมจนต้องประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในหลายพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ ยังไม่รวมวิกฤตสังคมอื่นๆ จนทุกฝ่ายมองว่ารัฐบาลไม่น่าจะบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ แต่สุดท้ายรอดจากวิกฤตต่างๆ รวมทั้งรอดพ้นจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางข้อกังขาจากสังคม
ส่วนฉายานายกฯ อภิสิทธิ์ ในปีนี้คือ ‘ซีมาร์คโลชั่น’ เนื่องจากในภาวะที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก วิกฤตความขัดแย้งทางสังคมทั้งระดับประเทศลงไปถึงระดับครอบครัว เปรียบเสมือนผู้ป่วยหนักที่ต้องการยารักษาโรคให้หายขาด บางปัญหาต้องผ่าตัด ปรับโครงสร้าง เปลี่ยนอวัยวะ สังคมคาดหวังว่านายกฯ จะเข้ามาแก้ไขปัญหาและรักษาอาการของประเทศได้ แต่ผลการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯยังทำได้ผลเพียงการบรรเทาโรค เปรียบเสมือนการใช้ ‘ซีม่าโลชั่น’ ทาแก้คันเท่านั้น
ฉายารัฐบาล ‘ทักษิณส่วนหน้า’ มาจากการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถสลัดภาพว่ามีพี่ชายอย่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังได้ จนรัฐบาลชุดนี้เปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการส่วนหน้าที่ต้องทำตามสิ่งที่ทักษิณคิดและวางไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมที่ชูสโลแกน ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ หรือในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ผู้ที่มีสิทธิได้ตำแหน่งต่างเดินทางไปถึงดูไบ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ต่อทักษิณ
ส่วนฉายาของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ คือ ‘นายกฯ นกแก้ว’ เพราะเป็นผู้หญิงที่มีความสวยบุคลิกดี มีความโดดเด่น คล้ายกับนกแก้วที่มีสีสันสวยงาม แต่กลายเป็นนกแก้วที่ต้องติดอยู่ในกรงทอง ไม่สามารถบินไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ต้องมีพี่เลี้ยงคอยประกบดูแลอย่างใกล้ชิด บทบาทที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ แสดงต่อสาธารณชนจึงเป็นเพียงนกแก้วที่พูดตามบทที่มีคนเขียวหรือบอกให้พูดเท่านั้น และลักษณะการตอบคำถามมักพูดซ้ำไปซ้ำมา หรือวกวน จนไม่รู้ข้อเท็จจริงคืออะไร หลายครั้งก็พูดผิด กระทั่งตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์
ฉายารัฐบาลในปีนี้ได้แก่ ‘พี่คนแรก’ โดยล้อคำมาจากนโยบายที่ขึ้นชื่อของรัฐบาล เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก แต่ด้วยความที่รัฐบาลต้องทำงานบริหารประเทศ โดยมีเงาของพี่ชาย พี่สาว พาดผ่านเข้ามา รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ก็มาจากเรื่องของพี่ ทั้งปัญหาของบ้านเมือง ข้าวของแพง ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ข้อครหาทุจริตไม่ได้รับการแก้ไข หรือชี้แจงอย่างชัดเจน เรียกได้ว่า เอะอะอะไรก็พี่ เรื่องของพี่ต้องมาก่อน ต้องมาเป็นอันดับแรก
ส่วนฉายานายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้แก่ ‘ปูกรรเชียง’ ที่ล้อจากชื่อเล่นของนายกฯ คือ ‘ปู’ ซึ่งลักษณะของปูคือ เดินเซไปเซมา ไม่ตรงทาง ในการบริหารงานของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องแบกภาระ และใบสั่งจากพี่ชายและพี่สาว แม้แต่คนรอบข้างก็คอยลากไปลากมา ทำงานไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ได้แต่เดินโชว์ไปโชว์มา เมื่อมีปัญหาทางการเมือง ก็มักจะตีกรรเชียง ลอยตัวหนีปัญหา
ในปี 2556 นี้ สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลได้งดเว้นการจัดกิจกรรมนี้ไป 1 ปี เนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยุบสภาไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 เพื่อเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ทำให้อยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ทำงานจนจบครบปี
ตามหลักปฏิบัติที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลกำหนดไว้สืบเนื่องตลอดมา กรณีรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร หรือในสถาน การณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติจะไม่มีการตั้งฉายา ทำให้ในปีนี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลมีมติ ‘งดการตั้งฉายา’ รัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด
ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่ผู้สื่อข่าวการเมืองทั้งจากทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา งดการตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และนักการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ทั้งนี้ ธรรมเนียมการตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และนักการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ มีเงื่อนไขว่า จะงดการตั้งฉายา ใน 3 กรณีคือ
ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล มีมติงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรี เนื่องจากคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยวิธีพิเศษ ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามกลไกปกติในระบอบประชาธิปไตย
โดยผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล มีความเห็นร่วมกันว่า เนื่องจากข้อจำกัดทางข้อกฎหมายและบรรยากาศการเมืองในภาวะที่ยังถือว่าไม่ปกติ และไม่ต้องการให้การงดตั้งฉายาของรัฐบาลและรัฐมนตรีถูกนำไปใช้ขยายความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยหรือถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ในปี 2562 นี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ร่วมกันตั้งฉายารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ‘รัฐเซียงกง’ เพื่อ สะท้อนภาพรัฐบาลคล้ายแหล่งค้าขายอะไหล่มือสอง ประกอบกันขึ้นจากข้าราชการยุคก่อน และนักการเมืองหน้าเก่า แม้ใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ
ส่วนฉายาของนายกฯ ประยุทธ์ ได้แก่ ‘อิเหนาเมาหมัด’ มาจากคำสุภาษิตไทย ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ เปรียบแนวทางปฏิบัติและนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่เห็นได้ชัดหลายเรื่อง มักจะตำหนิหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสุดท้ายก็กลับมาทำเอง เช่น โครงการลักษณะประชานิยม หรือการบอกว่าไม่เป็นนายกฯ สุดท้ายก็กลับมา, ไม่อยากเล่นการเมืองก็หนีไม่พ้น, หนีการตอบกระทู้ในสภา, มองข้ามข้อครหาเรื่องงูเห่าการเมือง การซื้อตัว สส., ตั้งคนมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นรัฐมนตรี,แต่งตั้งญาติพี่น้องเข้าสภา, ยอมให้พรรคที่สนับสนุนใช้นโยบายค่าแรงหาเสียง ทั้งที่เคยตำหนิว่า การขึ้นค่าแรงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน อีกทั้งไม่สามารถควบคุมให้รัฐบาลมีความเป็นเอกภาพ เกิดปัญหาติดขัดการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงงบประมาณที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ และฝ่ายตรงข้ามรุมเร้าคล้ายโดนระดมหมัดเข้าถาโถม แม้พยายามสวนหมัดสู้ แต่หลายครั้งถึงกับมึนชกโดนตนเองก็มี
การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2563 ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล มีมติตั้งฉายารัฐบาลว่า ‘VERY กู้’ เพื่อเปรียบเปรยการทำงานของรัฐบาลที่ต้องกอบกู้วิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กู้ชีวิตคนไทยให้อยู่รอดปลอดภัย แม้จะยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ แม้จะไม่ถึงขั้น very good ก็ตาม ขณะเดียวกัน ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องคนไทยที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน และภาวะตกงาน บางคนต้องจากโลกนี้ไปด้วยไม่อาจรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มาบรรเทาปัญหา
ส่วนฉายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก่ ‘ตู่ไม่รู้ล้ม’ เป็นการล้อคำ ‘โด่ไม่รู้ล้ม’ ชื่อยาดองชนิดหนึ่ง สรรพคุณคึกคัก กระปี้กระเปร่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สะท้อนถึงการทำงาน ของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ว่าจะประสบปัญหา อุปสรรคการเมือง หรือ ชุมนุมขับไล่ถาโถม ก็ยังยืนหยัดฝ่าฟันอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป
สำหรับปี 2564 นี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้มีมติตั้งฉายารัฐบาลว่า ‘ยื้อยุทธ์’ เพราะภาพของรัฐบาล ที่ยือแย่งกันเองทั้งในส่วนของอำนาจ และตำแหน่ง โดยไม่สนใจประชาชนและการเดินหน้าประเทศ ถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และ รมว.กลาโหมใน ฐานะผู้นำรัฐบาลจะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อยือให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมีการชุมนุมขับไล่ไสส่งอย่างไร ใครไม่อยู่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่
สำหรับฉายา พล.อ.ประยุทธ์ คือ ‘ชำรุดยุทธ์โทรม’ เหตุเพราะการบริหารราชการแผ่นดินตลอดทั้งปีที่ผ่านมาถือได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ที่รับบทหนักที่สุดแห่งปี ถูกมองว่าล้มเหล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารราชการ หรือแม้แต่เรื่องทางการเมือง ถูกโจมตีรอบด้าน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ในตำแหน่งได้ แต่ก็ทรุดโทรม เสื่อมสภาพไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
ฉายารัฐบาล ‘หน้ากากคนดี’ ประจำปี 2565 สะท้อนถึงการที่ทุกคนยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน ภายใต้หน้ากากของรัฐบาล ที่สร้างภาพจำตลอดเวลาว่าเป็นคนดี นโยบายทุกอย่างทำเพื่อบ้านเมือง และประชาชน แต่กลับเกิดข้อกังขาว่ายังเดินตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ได้หรือไม่ เช่น นโยบายกัญชา ที่อวดอ้างทำเพื่อประชาชน แต่เมื่อเกิดผลกระทบจากการใช้ผิดวัตถุประสงค์ กลายปัญหาสังคมบานปลาย แม้แต่การออกกฎหมายควบคุมการใช้ยังทำไม่ได้ สุดท้ายผลักภาระเพิ่มให้ตำรวจ เพียงเพราะต้องการเช็คลิสต์ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นโยบายประชานิยมที่ออกแนวหาเสียง ให้ทั้งเบ็ด ทั้งปลา หรือ การประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีความคลุมเครือ ว่าประโยชน์ที่ได้นั้น เป็นของประชาชนหรือนักการเมืองกันแน่ แต่ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคการเมืองใด เมื่อออกมาในนามรัฐบาล ประชาชนจึงเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ว่าภายใต้หน้ากากที่ประกาศเป็นคนดีนั้น จริงหรือไม่?
ส่วนฉายาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก่ ‘แปดเปื้อน’ มาจากปมวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี สั่นคลอนภาพลักษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ ตลอดปีที่ผ่านมา และกลายเป็นข้อครหา ถึงความชอบธรรมในการครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนาน พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นนายกฯ คนแรกของประเทศไทย ที่ศาลมีคำสั่ง ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ แม้จะเพียงแค่ 38 วัน ก็ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มักจะพูดเสมอว่าไม่ยึดติดอำนาจ ทุกอย่างทำเพื่อบ้านเมือง และประชาชน ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ยิ่งเมื่อปัญหาใต้พรมถูกขุดคุ้ยขึ้น ใกล้ตัวเกินกว่าจะปัดความเกี่ยวโยงได้ ทั้งนโยบายประชานิยม ทุนสีเทาสนับสนุนพรรคการเมือง หรือ แม้แต่นักการเมืองใกล้ตัว นายทหารใกล้ชิด ที่ได้ไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารบริษัทพลังงาน แม้พิสูจน์กันทางกฎหมายไม่ได้ แต่ก็ทำให้ถูกมองว่า ไม่ได้ใสสะอาด ผุดผ่องอีกต่อไป
ฉายา รัฐบาลแกงส้ม “ผลัก” รวม
ฉายานายก เซลล์แมนสแตนด์ “ชิน”
26 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ปีนี้ มีมติร่วมกันตั้งฉายารัฐบาลว่า แกงส้ม “ผลัก” รวม มาจากคำสแลงที่ใช้แทนความหมายว่า แกล้ง ‘ส้ม’ คือ สีของพรรคก้าวไกล ส่วนคำว่า ‘ผลักรวม’ ล้อมาจากคำว่า ‘ผักรวม’ เมนูแกงส้มยอดนิยมประเภทหนึ่ง เมื่อรวมกันแล้ว นิยามความหมายในทางการเมือง สะท้อนกระแสสังคม มองพรรคก้าวไกลถูกกลั่นแกล้ง MOU ถูกฉีก และ ถูกผลักออกจากการร่วมรัฐบาล ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย และ ข้ออ้างทางการเมือง ส้มจึงหล่นใส่พรรคอันดับรอง กลืนน้ำลายจัดตั้งรัฐบาล ‘มีลุง’ ก็ไม่เป็นไร โดยให้เหตุผลเพื่อความสมานฉันท์ ทำเอาแฟนคลับผู้รักประชาธิปไตยถึงกับหัวใจสลาย ก่อเกิดวาทกรรม ‘ตระบัดสัตย์’ ดังนั้น แกงส้ม “ผลัก” รวม จึงใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง ของการจัดตั้งรัฐบาลที่ว่า “ชนะเลือกตั้ง แต่แพ้จัดตั้ง” ได้เป็นอย่างดี
ส่วนฉายาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้รับขนามนามว่า เซลล์แมนสแตนด์ “ชิน” เนื่องจากนับตั้งแต่เศรษฐีที่ชื่อ ‘เศรษฐา’ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เดินหน้าทำงานทันที โดยเฉพาะการหารายได้เข้าประเทศ ต้องยอมรับในความมุ่งมั่นตั้งใจ คิดเร็วทำไว เดินสายพกประเทศไทยใส่กระเป๋า ไปโรดโชว์จีบนักลงทุนทั่วโลก ประกาศตัวเป็นเซลล์แมนเต็มรูปแบบ
แต่ในทางการเมือง ยังถูกมองว่า ไม่ใช่นายกฯ ตัวจริง เงาของคนในตระกูล ‘ชินวัตร’ ยังปกคลุม เปรียบเสมือนตัวแสดงแทน หรือ สแตนด์อิน เพราะเคยหลุดปากขณะออกงานพร้อม แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวสุดที่รักของนายใหญ่ หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยเช่นกัน ว่า ‘นายกฯ คนไหน มีนายกฯ 2 คน’ อีกทั้งหลายนโยบาย ก็ถูกวิจารณ์ว่า ต่อยอดมาจากนโยบายเดิม ของรัฐบาลนายทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ที่มา: