ไม่พบผลการค้นหา
‘ศิริกัญญา’ หวั่นควบรวมทรู-ดีแทค ฉลุย หลังมติสภาฯ ขวาง กมธ. เสนอรายงานผลกระทบไม่ทันบอร์ด กสทช. เคาะควบรวมกิจการต้นเดือน ก.ย. นี้ ผิดหวังรัฐบาลไม่ตื่นตัว ‘ประยุทธ์’ เตะถ่วงจนถูกพักงาน

วันที่ 25 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วน ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่างทรู และดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง ได้ขอเสนอให้ที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ (25 ส.ค.) พิจารณาเลื่อนเอาวาระพิจารณาผลการศึกษาผลกระทบจากการควบรวม ทรู-ดีแทค ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ขึ้นมาเป็นเรื่องแรกในการประชุม

อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.จากฝั่งวิปรัฐบาลบางส่วนเห็นค้าน ประธานการประชุมจึงได้เปิดให้ลงมติ โดยผลปรากฏว่าที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนวาระการพิจารณาดังกล่าวขึ้นมาแทน แม้ ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนจะพยายามให้เหตุผลว่า หากไม่เลื่อนการพิจารณา รายงานที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ทำมาหลายเดือนจะสูญเปล่า

ทั้งนี้ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบฯ ได้เปิดเผยต่อ ‘วอยซ์’ ถึงสาเหตุที่ต้องเสนอให้เลื่อนวาระพิจารณาขึ้นมา และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น หลังการขอเลื่อนวาระไม่สำเร็จ

ศิริกัญญา อนาคตใหม่  สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ 0053.jpgศิริกัญญา -7F9D-4C58-87AF-02B66A77A660.jpeg
  • เหตุใดจึงจำเป็นต้องเลื่อนวาระการพิจารณาขึ้นเป็นเรื่องแรกของการประชุมวันนี้

เพราะการตัดสินใจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันแล้วว่าจะอนุมัติอนุญาตให้มีการควบรวมหรือไม่ วันที่ 24 ส.ค. เอง ในวาระปกติก็ไม่ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ แต่จู่ๆ กลับมีการสอดแทรกประเด็นเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค เป็นวาระจรเข้ามาเป็นการภายใน แม้แต่บอร์ด กททช. เองก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปของวาระนี้

ถ้าหากรายงานที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ใช้เวลาทำมาหลายเดือน ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาเลย ไม่ถูกนำส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการ กสทช. การทำงานของกรรมาธิการฯ ก็จะถิอว่าสูญเปล่า ไม่สามารถหยิบยกข้อสังเกต ข้อเสนอแนะต่างๆ ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

แม้ตัวรายงานจะจัดทำขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. แต่ข้อมูลหลายประการยังคงเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องของผลกระทบด้านราคาการใช้บริการ ข้อท้วงติงเรื่องที่มาของที่ปรึกษาอิสระ ซึ่งอาจไม่น่าไว้วางใจในความเป็นกลาง รวมถึงข้อเสนอที่จะช่วยให้ธุรกิจโทรคมนาคมสามารถเดินต่อได้แม้ไม่ควบรวม เช่น การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเสาสัญญาณ

แต่เรื่องเหล่านี้ก็ยังไม่มีโอกาสสักที ถ้าเรายังไม่เลื่อนรายงานนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนให้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในเรื่องด่วนลำดับท้ายๆ ประมาณ 29 ไม่แน่ใจว่าจบสมัยประชุมนี้ของสภาแล้วจะยังได้พิจารณาหรือยัง ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าเสียงข้างมากยังไม่เห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณานี้ขึ้นมาก่อน แต่สัปดาห์หน้าจะลองเสนอให้เลื่อนการพิจารณาอีกครั้ง เพราะเห็นสัญญาณมาแล้วว่า ไม่เกินวันที่ 10 ก.ย. คณะกรรมการ กสทช. จะมีการตัดสินใจในเรื่องนี้แล้ว

ถ้าหากเสียงข้างมากในสภายังถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุน และไม่ได้อยากให้เสียงของกรรมาธิการดังขึ้นมา เราก็ไม่สามารถจะเลื่อนได้ ต้องขอแรงพี่น้องประชาชนช่วยกันกดดัน ส.ส.ในเขตพื้นที่ของท่าน ให้ยอมเลื่อนเอาวาระพิจารณานี้ขึ้นมา

  • หากพิจารณาผลการศึกษาไม่ทันในสมัยประชุมนี้ ทางกรรมาธิการวิสามัญฯ หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านมีแนวทางอื่นในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวหรือไม่

จริงๆ แล้วได้พยายามพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้ายถึงวิธีอื่นๆ เช่น การยื่นหนังสือที่ กสทช. เพื่อคัดค้านยับยั้งการควบรวมนี้ แต่ที่ประชุมเสนอว่าลองใช้วิธีเสนอเลื่อนวาระก่อน แต่สุดท้ายแล้วถ้าเลื่อนไม่ได้ การยื่นหนังสือก็เป็นทางเลือกอยู่ แม้จะไม่ได้ไปในนามพรรคร่วม แต่อาจมีการรวบรวม ส.ส.ที่สนใจไปร่วมกัน

ชัยวุฒิ อภิปรายไม่ไว้วางใจ -1745-43E1-B9C8-6BAEA71A4FB3.jpeg
  • การตอบกระทู้สดของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ต่อกรณีการควบรวม เป็นอย่างไรบ้าง

ท่าน ชัยวุฒิ ก็เหมือนเปิดเทปม้วนเดิมในการตอบ ยังยืนยันว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของเอกชนที่จะควบรวมกันได้ ดิฉันเองศึกษาข้อมูล นำรายงาน 5 ฉบับ ที่ศึกษาผลกระทบต่อราคาว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งทั้ง 5 สำนัก บอกตรงกันว่าราคาค่าบริการเพิ่มแน่ แต่ ชัยวุฒิ ยังคงใช้ความเชื่อว่าค่าบริการจะไม่ขึ้นแน่ โดยไม่ต้องมีข้อมูลใดๆ มาสนับสนุนความเชื่อของท่านเลย เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่รัฐมนตรีกลับใช้ความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง

แน่นอนว่าสิ่งที่ ชัยวุฒิ พูดว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. ก็จริง แต่เราอยากเห็นรัฐบาลที่ตื่นตัวมากกว่านี้ที่จะพยายามทำทุกวิถีทางในด้านนโยบายที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้การควบรวมนี้เกิดขึ้นได้ หรือช่วยแสวงหาทางออกอื่นให้กับสังคม แต่จากปากคำของรัฐมนตรีแล้วดูจะเชื่อถืออะไรไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงนายกรัฐมนตรี ที่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่

ยังมีเรื่องของข้อกฏหมายที่ต้องมาดูว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุมัติอนุญาตหรือไม่ ได้พยายามส่งเรื่องให้สำนักงานกฤศฏีการตีความ แต่เรื่องถูกส่งกลับมาให้ กสทช. เพราะอ้างว่าไม่มีอำนาจจะพิจารณากฏหมายฉบับนี้ ทั้งที่ความจริงสามารถขอร้องเป็นการภายในได้ นายกฯ สามารถสั่งให้พิจารณาได้เลย แต่จนกระทั่งถูกสั่งปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ยังไม่ทำ ต้องดูว่ารักษาการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะตัดสินใจอย่างไร

  • ตอนนี้ต้องรอคณะกรรมการ กสทช. เป็นผู้ชี้ขาดเท่านั้นใช่หรือไม่

เวลานี้หากยังไม่มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ผู้ที่ต้องตีความในส่วนนี้คือสำนักงาน กสทช. ซึ่งทำหน้าที่เลขาฯ ให้กับคณะกรรมการ กสทช. อีกที ซึ่งทางสำนักงานเคยหารือกับกรรมาธิการวิสามัญหลายครั้ง และยืนยันทุกครั้งว่าทาง กสทช. ไม่มีอำนาจ ทำได้เพียงแค่รับทราบในเรื่องการควบรวมเท่านั้น ซึ่งทางกรรมาธิการเองก็รับรู้ถึงความไม่ปกติมาโดยตลอด และคาดหวังว่า กสทช. จะมีเครื่องมือยับยั้งหรือมีแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ ไม่ใช่ตีความกฏหมายเพื่อตัดอำนาจตัวเองเช่นนี้