ไม่พบผลการค้นหา
1MDB คือคดีฉ้อโกงที่ส่ง 'นาจิบ ราซัก' เข้าคุกและพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ของมาเลเซีย โดยปัจจุบันมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในมากกว่า 10 ประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2563 ก่อนที่สภาฯ จะพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ 5 รัฐมนตรี เพียง 1 วัน 'พรรณิการ์ วานิช' อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ออกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ ถึงความเชื่อมโยงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับประเด็นคดีฟอกเงินระดับโลก

'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' ชวนกลับไปทำความรู้จักกับกองทุน 1MDB และสถานการณ์คดีความล่าสุด

1MDB คืออะไร

กองทุนรัฐบาล 1MDB (วัน มาเลเซีย ดีเวลอปเมนท์ เบอร์ฮาด) จัดตั้งขึ้นในปี 2552 โดยมีเป้าประสงค์หลักในการเปลี่ยนกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลยุทธ์การลงทุน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 กองทุนระดับชาติกลับเริ่มส่งสัญญาณไม่ดีผ่านการผิดนัดชำระหนี้จำนวน 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 347,000 ล้านบาท ให้กับธนาคารและผู้ถือพันธบัตรหลายราย

หลังจากนั้นไม่นาน สำนักข่าวเดอะวอลสตรีทเจอร์นัล ออกมาเปิดรายงานที่ชี้ว่ามีการโอนเงินจากกองทุน 1MDB จำนวนกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เข้าบัญชีส่วนตัว 'นาจิบ ราซัก' อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ขณะที่ตัวเลขเม็ดเงินฉ้อโกงในครั้งนี้จากฝั่งอัยการของสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ตกเป็นเป้าของการสืบสวนหาข้อเท็จจริงคือ 'โลว เตี้ยก โจว' ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวมาเลเซียที่เป็นคนจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมา และถูกกล่าวหาว่าทำการโอนเงินจากกองทุนเข้าตัวเอง ครอบครัว และคนที่รู้จักอีกเป็นจำนวนมาก

สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ซึ่งมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการฉ้อโกงครั้งนี้ถึงกับออกมากล่าวในตอนนั้นว่า "ชาวมาเลเซียถูกฉ้อโกงในมูลค่ามหาศาล"

กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน 

แม้จะมีข่าวเรื่องการฉ้อโกงมาสักพัก แต่ฝั่งมาเลเซียก็ไม่ได้ดำเนินการทางคดีความใดๆ จน 'นาจิบ ราซัก' พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งให้กับ 'ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด' เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2561 หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียแถลงการขึ้นบัญชีดำห้ามอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก และภรรยา นางรสมาห์ มันซอร์ ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองได้รับแจ้งว่ามีการแจ้งเที่ยวบินส่วนตัวของนายนาจิบและภรรยาจะเดินทางไปยังเมืองจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย 

ทั้งนี้ทรัพย์สินของนายราจิบยังถูกยึดไว้ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า มีการตรวจพบทองและเงินสดมูลค่ากว่า 273 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8,600 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นมูลค่าการยึดทรัพย์ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย

นาจิบ ราซัก

ท้ายที่สุด วันที่ 3 ก.ค. นายราจิบถูกจับกุมโดยหน่วยงานต่อต้านการทุจริต 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระบวนการตรวจสอบจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดในครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อไป ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ลงโทษห้าม 'แอนเดรีย เวลลา' อดีตผู้บริการ โกลด์แมน แซคส์ บริษัทวาณิชธนกิจสหรัฐฯ เข้ามามีบทบทในอุตสาหกรรมธนาคารตลอดชีวิต ในฐานะ "ผู้สมรู้ร่วมคิด" ในคดีฉ้อโกง 1MDB

คำตัดสินของธนาคารกลางที่ชี้ว่านายเวลลา "เกี่ยวข้องในการกระทำที่ไม่ปลอดภัยโดยละเลยที่จะทำให้มันใจ" เนื่องจากนายเวลลาไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์เรื่องข้อเสนอ 3 พันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับนายโลว เตี้ยก โจ ที่โกลด์แมน แซคส์ เป็นผู้รับประกับให้กับกองทุนของรัฐบาลมาเลเซียได้ 

รสมาห์ มันซอร์

ขณะที่เมื่อ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักข่าวแชนเนล นิวส์เอเชีย รายงานว่า นางรสมาห์ มันซอร์ เดินทางเข้ามารับการสอบสวนที่ศาล โดยมีรถพยาบาลตามมาด้วย แท้จริงแล้ว การสอบสวนต้องมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. แต่นางรสมาห์ ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลจากอาการเจ็บคอ ขณะที่การสอบสวนคดีของนายราจิบปัจจุบันอยู่ในชั้นศาลสูงสุดแล้ว 

ด้านนายโลว เตี้ยก โจว มีการเปิดเผยจากตำรวจมาเลเซียเมื่อ 19 ก.พ. ว่าอาจเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต้นกำเนิดโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ปัจจุบันคดีฉ้อโกง 1MDB ยังไม่สิ้นสุด และมีกระบวนการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในอย่างน้อย 6 ประเทศ อาทิ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ 

อ้างอิง; BBC, FT, Reuters, CNA, CNBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;