วันที่ 31 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต และสมรสเท่าเทียม พ.ศ. …. แถลงความคืบหน้าในกฎหมายดังกล่าวว่า เนื่องจาก กมธ. ได้มีมติวางกรอบการพิจารณา พ.ร.บ. ทั้ง 4 ร่าง ควบคู่กันไป และแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดย ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะพิจารณาทุกวันพุธ และ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะพิจารณาทุกวันพฤหัสบดี เพื่อให้แล้วเสร็จทั้ง 2 ร่างแบบคู่ขนาน เพื่อจะนำไปสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระต่อไป และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะเสนอให้ทันให้ทันก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ โดยจะเสนอทั้งสองร่างไม่ปัดตกฉบับใดฉบับหนึ่ง
ชานันท์ กล่าวว่า ในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ มีส่วนที่คล้ายคลึงกันของเนื้อหาในเรื่องสิทธิของ LGBTQ แต่หัวใจหลักในรายละเอียดของเนื้อหารายมาตรานั้นยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่ง ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นการแก้ไข และสร้างพัฒนาการให้กับกฎหมายเดิม คือประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เพื่อให้บุคคลไม่ว่าเพศวิถี หรือเพศสภาพใดก็ตาม สามารถจดทะเบียนสมรสคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อสลายการผูกขาด ยุติการเลือกปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค
ชานันท์ เสริมว่า หากร่างนี้ผ่านในวาระต่อไปและมีการปรับปรุงแก้ไข ป.พ.พ. จะถือได้ว่าเป็นการปักหมุดวิวัฒนาการของกฎหมายไทย โดยเฉพาะประมวลแพ่งและพานิชย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเรื่อยมาก ให้เท่าทันกับข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นกฎหมายที่แก้ไขได้ ไม่ถูกแช่แข็ง เพราะสังคมและประชาชนในประเทศมีพัฒนาการเพื่อพี่น้องประชาชนทุกคนสามารถใช้กฎหมายร่วมกันได้ โดยไม่ถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ
ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ ที่แบ่งแยกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีการปฏิบัติที่ต่างกัน เป็นร่างที่พัฒนามาจากสมัย พ.ศ. 2556 ในบริบทสากลขณะนั้น ประเทศต่างๆ ได้ออก Civil Partnership Bill สำหรับการจดทะเบียนคู่รักเพศเดียวกัน มีการใช้คำใหม่ อย่าง “คู่ชีวิต” ขึ้นมาในร่างกฎหมาย ซึ่งจะต้องไปเพิ่มคำว่า คู่ชีวิต เข้าไปกับกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งยังขาดการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการบางประการ และทาง กมธ. ก็พยายามปรับปรุงพัฒนาร่างนี้ให้เข้ากับบริบทปัจจุบันสากลที่มีสมรสเท่าเทียมแล้ว
ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า หากชายหญิงสามารถเลือกจดคู่ชีวิตได้แล้ว ความแตกต่างระหว่างการจดคู่สมรส คู่ชีวิตต่างกันอย่างไร ซึ่งในหลายประเทศที่เปิดโอกาสให้ทุกเพศสภาพเพศวิถี ชายหญิง LGBTQ สามารถเลือกจดได้ทั้งคู่ชีวิตหรือสมรสเท่าเทียม มีความแตกต่างกันอยู่ นำไปสู่พิจารณาว่า จะให้คู่ชีวิตกำหนดสิทธิ์ต่างๆ น้อยกว่าการจดทะเบียนเป็นคู่สมรสหรือไม่ ซึ่งเท่ากับว่าหากร่างนี้ผ่านแล้วถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้สิทธิของ LGBTQ ไม่เสมอภาคกับชายหญิงที่จดทะเบียนสมรส
“มีสถานการณ์น่ากังวลใจเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เพราะมีกรรมาธิการท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม และพยายามคัดค้านทุกมาตราด้วยการสงวนความเห็นของสมรสเท่าเทียม เพื่อไปคัดค้าน และตัดออกทุกมาตราในสภาฯ เพื่อให้ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตถูกใช้เป็นกฎหมายแทน และในชั้นกรรมาธิการนี้ พบว่ายังมีหลายท่านขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการยอมรับศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีอคติต่อความหลากหลายทางเพศ ไม่ยอมรับ คู่รัก LGBTQ ในฐานคู่สมรส” ชานันท์ กล่าว
ชานันท์ เผยอีกว่า ในชั้นกรรมาธิการ ยังมีคนที่มองไม่เห็นปัญหาการเลือกปฏิบัติการไม่ให้คนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสใน ป.พ.พ. นั้นดีอยู่แล้ว และการสมรสควรใช้กับชายหญิงทั่วไปเท่านั้น การแก้ไขกฎหมายจดทะเบียนสมรสที่มีมาแต่ดั้งเดิม เป็นการแก้ไขวัฒนธรรมของไทยที่มีมายาวนาน กระทบต่อกฎหมายอย่างร้ายแรง ทำลายสถาบันครอบครัว และกล่าวว่าไม่ควรแก้กฎหมายที่มีอยู่เดิมของคนจำนวนมาก เพียงเพื่อคน 10% ซึ่งหมายถึง LGBTQ ควรไปใช้กฎหมายคู่ชีวิตแทน เพราะความรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ควรใช้คำว่าคู่สมรส เพราะจะทำลายสถาบันครอบครัว การใช้คำว่าคู่สมรสแทน สามีภรรยาเป็นการละเมิดสิทธิ์สามีภรรยา
อนึ่งเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า กฎหมายนั้นสัมพันธ์กับ สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ และคุณค่าความเป็นคน ดังนั้นกฎหมายจึงต้องเป็นแนวทางและใช้ได้กับประชาชนทุกคนไม่เลือกอัตลักษณ์ รสนิยมทางเพศ เพื่อให้เราพี่น้อง ประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกันได้มีมาตรฐานร่วมกันได้ และกฎหมายนั้นอิงไปกับวิถีชีวิต จารีตประเพณีตามความเข้าใจสังคม
ซึ่งทั้งสังคม ประเพณีมีพลวัตร พัฒนาเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา กฎหมายแพ่งและพานิชย์ ที่ถูกเขียนขึ้นมาตามพัฒนาการของมนุษย์ ตั้งแต่เกิด เป็นหนี้ ทำงาน มีทรัพย์ แต่งงาน และตาย เราจะเห็นได้ว่า ในอารยประเทศจากที่เคยผูกขาดการสมรสไว้เฉพาะชายหญิงรักต่างเพศ มาสู่ สมรสเท่าเทียมที่ทุกเพศสรีระ เพศสภาพ เพศวิถีสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไป
ชานันนท์ เสริมว่า ดังนั้นในฐานะ กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้งคู่ชีวิต และสมรสเท่าเทียมจึงวอนขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันจับตาการเคลื่อนไหวของ กมธ.ชุดนี้ และร่วมช่วยกัน ยกระดับเพดานความคิด และสามัญสำนึก เปิดใจกว้างยอมรับศักด์ศรีคุณค่าความเป็นคนไม่ว่าจะมีเพศสภาพเพศวิถีใด สามารถอยู่ร่วมกันและปฏิบัติตามกฎหมายร่วมกันได้ โดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติโดยกฎหมาย เพราะคนใดที่พยายามขัดขวางสมรสเท่าเทียม เท่ากับว่าเป็นการขัดขวางสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี และความเสมอภาคของพี่น้องประชาชนที่จะเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ และต้องการรักษาการเลือกปฏิบัติ ไม่สนใจความเป็นคนของพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ