ไม่พบผลการค้นหา
อบต.ยะลา ขอกรมศิลปากรทบทวนประกาศ 'แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา' เพื่อทำเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม เหตุมีภาพเขียนโบราณที่เหลืออยู่เป็นจุดสุดท้าย

จากกรณีที่กรมศิลปากร ได้ออกประกาศลงวันที่ 30 ก.ย. 2562 เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ของ ต.ลิดล - ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยโบราณสถาน มีประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา และเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2544 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 118 ตอนพิเศษ 172 ง วันที่ 21 ธ.ค. 2544 โดยให้มีการปรับลดพื้นที่เขายะลา ประมาณ 190 ไร่ จึงทำให้เหลือพื้นที่แค่ 697 ไร่ 35 ตารางวา

ประกาศกรมศิลปากร.jpg

ที่มา : เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน

โดยก่อนหน้านี้กลุ่มนายทุนในพื้นที่แจ้งว่า ในพื้นที่ของ จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียงเกิดประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งหินอุตสาหกรรม จึงทำให้จำเป็นต้องใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมจากเขายะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานภาพเขียนสี ในจุดนั้น

วานนี้ (4 มี.ค.) ผู้สื่อข่าว จ.ยะลา ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว และได้พูดคุยกับนายโกมุท มอหาหมัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ที่เปิดเผยว่า หลังจากที่ทราบว่ามีการประกาศจากกรมศิลปากร ในเรื่องดังกล่าวนั้นมีชาวบ้านในพื้นที่ ได้สอบถามมายัง อบต. เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและเหตุผล ตนเองนั้นบอกได้เพียงว่า ทาง อบต.ก็ไม่ทราบว่า ได้มีการประกาศดังกล่าว

อีกทั้งที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดมาสอบถาม หรือทำประชาพิจารณ์ ในการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมหินและลดพื้นที่โบราณสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านอนุรักษ์และห่วงแหนไว้ ตนเองก็อยากขอให้กรมศิลปากร ทบทวนการประกาศดังกล่าวอีกครั้ง ว่าผลประโยชน์ที่ได้นั้น ตกอยู่กับผู้ใด ชาวบ้านหรือนายทุน และที่ผ่านมาชาวบ้านก็ไม่กล้าที่จะร้องเรียนกับผู้ใด ซึ่งบอกตามตรงเลยว่า ชาวบ้านกลัวอำนาจของภาครัฐมากกว่า อำนาจของกลุ่มนายทุน

5-3-2563 11-26-34.jpg


จากการเดินเท้าขึ้นไปสำรวจ ภาพเขียนสีโบราณ ที่ยังคงเหลืออยู่บนผนังหินด้านทิศตะวันออก โดยการเดินเท้าผ่านทุ่งนา และป่ารกขึ้นไปเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ก็พบว่า บริเวณผนังหิน ตรงจุดที่เป็นภาพเขียนสีโบราณนั้น ยังคงมีร่องร่อยภาพเขียนสีเดิมคงอยู่ ลักษณะเป็นสีแดงส้ม แต่ที่น่าเสียดาย คือ บริเวณโดยรอบผนังหิน และผนังหินใกล้เคียงนั้น ได้ถูกมือดี เขียนอักษร ไว้เต็มผนัง ทำให้ภาพลักษณ์ของ ภาพเขียนสีโบราณ ไม่น่ามอง และน่าเสียดาย โดยตรงจุดนี้ เป็นภาพเขียนสีโบราณที่เหลืออยู่เป็นจุดสุดท้าย ส่วนภาพเขียนโบราณอีกจุดนึงนั้น ซึ่งเป็นรูปคนแบกของ ซึ่งอยู่ทางผนังหินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขายะลา ได้พังทลายลงมา เนื่องจากการประกอบอุตสาหกรรมหิน เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

ความสำคัญของ "เขายาลอ" หรือ "เขายะลา" แห่งนี้ ตามคำบอกเล่า และการตรวจสอบทรัพยากรธรณีวิทยา ที่ผ่านมาพบว่า เป็นพื้นที่อนุรักษ์แหล่งน้ำ เอ 1 โดยมีข้อมูลที่สันนิษฐาน ตามคำบอกเล่าว่า ใต้เขายาลอ แห่งนี้ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หากมีการทำลายภูเขายะลา จนทรุดตัวลงไป ก็อาจจะทำให้เกิดน้ำใต้พื้นดิน เอ่อท่วมพื้นที่