ไม่พบผลการค้นหา
‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ถือเป็นไฮไลท์ของหลายพรรค ที่พยายามนำมาปัดฝุ่น ประยุกต์ ยกระดับ และประกาศนโยบายใหาเสียง ‘วอยซ์’ จึงรวบรวมแนวคิด-วิธีการ ของ 3 พรรคใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของนโยบาย ก่อนการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ นับเป็นต้นแบบนโยบายทางการเมืองที่พรรคการเมืองทุกพรรคพยายามประยุกต์เพื่อออกแบบนโยบายมาแข่งขันในสนามเลือกตั้ง เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาในวงกว้าง เข้าไปลดภาระมหาศาลในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ก็ยังเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำที่ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า นโยบายที่ดี และเป็นผลมาจากระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน 

ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ถือเป็นไฮไลท์ของหลายพรรคการเมือง ที่พยายามปัดฝุ่น ประยุกต์ ยกระดับ ตลอดจนอุดช่องโหว่ของระบบเดิมที่ดำเนินมากว่า 20 ปี

มีอย่างน้อย 3 พรรคการเมืองที่ขับเน้นนโยบายนี้ คือ

  • เพื่อไทย (อัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค)  
  • ภูมิใจไทย (30 บาทรักษาทุกที่)
  •  ไทยสร้างไทย (30 บาทรักษาทุกโรคพลัส) 

‘วอยซ์’ เจาะลึก แนวคิด-วิธีการ ของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อให้เห็นเนื้อเน้นๆ ตั้งแต่วิธีคิด วิธีการ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากนโยบายสาธารณสุขของ 3 พรรคการเมืงใหญ่ หากเขาเหล่านั้นพิชิตชัยในสนามเลือกตั้งที่จะถึงนี้

LINE_ALBUM_2023.3.31_230410.jpg
เพื่อไทย: อัปเกรด ‘30 บาทรักษาทุกโรค’

เริ่มต้นด้วยพรรคแรกที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ได้นำเสนอนโยบายอัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค ผ่านกลไกที่ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว รับการรักษาได้ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และนำเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพทั้งระบบ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับการรักษา และเพิ่มทางเลือกตลอดจนอำนาจในการ ‘เลือก’ ของประชาชน เพื่อให้นโยบายนี้ เป็น ‘สิทธิ์’ ที่ไม่ต้องร้องขอ และเป็น ‘หลักประกัน’ สุขภาพ ดังหัวใจสำคัญตั้งแต่แรกเริ่ม 

คำถามสำคัญคือ  ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ในเวอร์ชันของพรรคเพื่อไทยบนเวทีปราศรัยการเลือกตั้ง 2566 นี้ ต่างจากเดิมอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ประชาชนจะได้อะไร ประชานิยมหรือไม่ และทำจริงได้อย่างไร 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คีย์แมนผู้ริเริ่มทำโครงการนี้ยุคพรรคไทยรักไทย จะมาให้คำตอบอีกครั้งในยุคของพรรคเพื่อไทย 

ระบบคลาวด์ เปลี่ยนโฉมหน้าบริการ รพ.ต้องปรับตัวแข่งขัน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำหน้าที่บริหารและจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริการสุขภาพต่างๆ 

นพ.สุรพงษ์ เล่าว่า ในช่วงเริ่มต้นของ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ เมื่อ 20 ปีก่อน เทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่มีศักยภาพมากพอในการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนและงบประมาณต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่เหมือนในปัจจุบันที่วิวัฒนาการเทคโนโลยีมีศักยภาพถึงขั้นที่สามารถรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพของคนทั้งประเทศ มาไว้บนระบบ  cloud storage ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาพยาบาลและการทำงานของหน่วยบริการได้ในระดับ  VISIT อย่างรวดเร็ว (ข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการในรูปแบบ ไป-กลับ โดยไม่มีการนอนที่สถานพยาบาล)

พรรคเพื่อไทยจึงนำเสนอนโยบายอัปเกรด ‘บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค’ ไม่ใช่เพียงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล แต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) วิธีบริหารจัดการด้านสาธารณสุขทั้งหมด 

จากเดิม โรงพยาบาลทุกแห่ง ทำหน้าที่ในลักษณะเป็น ‘นายประกัน’ ให้กับประชาชนในพื้นที่ของตน เป็นเหมือนบริษัทรับประกันสุขภาพย่อยๆ ที่รับช่วงต่อจาก สปสช. หากประชาชนขึ้นทะเบียนที่ใด ก็จะต้องไปรักษาในที่แห่งนั้น ไม่สามารถไปรักษาที่อื่นได้ ยกเว้นว่า โรงพยาบาลต้นสังกัดจะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น

“ปัจจุบัน ประชาชนจำนวนมากต้องย้ายถิ่นทางหรือเดินทางไกลเพื่อทำงาน ประกอบกับระบบย้ายสถานพยาบาลก็ยุ่งยากและใช้เวลานาน หากประชาชนไม่พอใจโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ตอนนี้  เขาอยากจะย้ายไปที่อื่น เขาต้องอธิบายเยอะพอสมควรว่าทำไมถึงย้าย ดังนั้น โรงพยาบาลที่รับประชาชนไว้ในทะเบียนประกันสุขภาพ ต่อให้โรงพยาบาลทำดีหรือไม่ดี เขาก็ต้องอยู่กับโรงพยาบาลนั้นไปเรื่อยๆ”

ตามนโยบายของเพื่อไทย สปสช. จะทำหน้าที่เป็นนายประกันให้กับประชาชน 47 ล้านคน ทั้งประเทศ จากเดิมที่ สปสช. ทำหน้าที่เบิกง่ายงบประมาณและผลักดันให้โรงพยาบาลต่างๆ ดูแลประชาชนในพื้นที่ แปลว่าประชาชนทั้งประเทศคือความรับผิดชอบของ สปสช. สิ่งที่จะตามมาคือ ประชาชนจะเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ เพียงแค่ถือบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น 

“ระบบนี้ จะทำให้ สปสช. พร้อมที่จะตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลไหนก็ได้ที่ประชาชนเข้ารับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจ ผู้ป่วยรักษามะเร็ง เขาสามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ แล้วแต่ว่าโรงพยาบาลนั้นๆ ยังมีที่ว่างพอที่จะให้ประชาชนเข้ารับการรักษา” 

นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวว่า หากนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ในช่วงแรกอาจเกิดสภาวะที่ประชาชนไปกระจุกตัวที่โรงพยาบาลชื่อดัง หรือโรงพยาบาลที่มีหมอเก่งๆ ประจำอยู่มาก แต่ในระยะต่อมา จะทำให้โรงพยาบาลต่างๆ เกิดสภาวะการแข่งขัน และต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ

บัตร 1 ใบ รักษา-รับยาที่ไหนก็ได้ เพิ่มอำนาจให้ประชาชน

หัวใจสำคัญของนโยบายคือ สร้างกลไกให้ประชาชนเลือกสถานพยาบาลได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องขึ้นตรงอยู่เพียงโรงพยาบาลใดพยาบาลหนึ่ง เข้ารับการรักษาได้ทุกที่จนกว่าจะพบโรงพยาบาลและแพทย์ที่ผู้ป่วยไว้เนื้อเชื่อใจและให้การยอมรับ ทันทีที่ประชาชนหาโรงพยาบาลและแพทย์ที่ตนเชื่อมั่นและไว้ใจเจอ สภาวะ ‘ใกล้บ้าน ใกล้ใจ’ จะฟื้นตัว กลไกนี้จะทำให้โรงยาบาลต่างๆ เกิดสภาวะการแข่งขัน พัฒนาการบริการและการรักษา ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจในการ ‘เลือก’ ให้กับประชาชน 

ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาได้รวดเร็ว เพียงแค่เสียบบัตรประชาชนเข้าไปในเครื่องอ่านข้อมูล แล้วยืนยันตัวตนผ่านการแสกนม่านตาหรือลายนิ้วมือ ขณะเดียวกันแพทย์ก็ต้องยืนยันตัวตนก่อนการเข้าถึงข้อมูลการรักษาในอดีตของผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ Cloud จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการรักษา สั่งจ่ายยา และอัปเดทข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยลงไปใน Cloud ต่อไป   

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถรับยาได้ใกล้บ้าน หากโรงพยาบาลนั้นๆ มีคิวรับยายาวเหยียด เพราะที่ผ่านมา ร้านขายยาคุณภาพประมาณ 15,000 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่ได้ร่วมเป็นเครือข่ายกับ สปสช. ดังนั้น นโยบายอัปเกรดหลักประกันสุขภาพ จึงจะจับมือร่วมกับร้านขายาคุณภาพ เมื่อประชาชนรับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะสั่งจ่ายยาในระบบ Cloud ประชาชนสามารถเลือกรับยาที่โรงพยาบาล หรือสามารถเดินทางไปร้านขายาที่มีเภสัชกรใกล้บ้านได้ นำบัตรประชาชน 1 ใบ เสียบเข้ากับเครื่องอ่านข้อมูลของร้าน เภสัชกรก็สามารถเห็นข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์ และทำการจ่ายยาได้ทันที 

เมื่อสั่งจ่ายแล้ว เภสัชกรจะเบิกค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเภสัชกรและค่ายา กับ สปสช. โดยตรงตามมาตรฐานที่ สปสช. กำหนด 

“ระบบทั้งหมดมีลักษณะยืดหยุ่น ประชาชนได้รับความสะดวก แล้วทำให้เครือข่ายสุขภาพเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ความแออัดของโรงพยาบาลที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จะน้อยลง”

นายแพทย์สุรพงศ์ ยกตัวอย่างกรณีที่โรงพยาบาลหลายแห่ง มักมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า ‘คนไข้ของโรงพยาบาล ต้องเจาะเลือดที่โรงพยาบาลของตนเท่านั้น ห้ามไปเจาะเลือดที่อื่น’ สิ่งที่ตามมาคือ คนไข้จำนวนมากต้องนั่งรอเจาะเลือดตั้งแต่เช้ามืด กว่าเสร็จสิ้นกระบวนการ ก็หมดเวลาค่อนวัน

นโยบายนี้ ออกแบบให้ประชาชนสามารถเจาะเลือดที่คลินิกใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน จากนั้นแล็บที่ได้รับรองคุณภาพจากสภาเทคนิคการแพทย์ จะเข้ามารับเลือดเพื่อนำไปตรวจ และอัปเดทผลเลือดผ่านระบบ Could เมื่อถึงเวลานัดหมายรักษา  คุณหมอก็สามารถดูผลเลือดได้จากข้อมูลในระบบ Could ได้  และคนไข้ก็สามารถเข้าไปตรวจโรคไปอย่างรวดเร็ว 

“มันจะทำไม่ได้เลยถ้าเทคโนโลยีไม่มี เมื่อ 20 ปี เราทำแบบนี้ไม่ได้หรอก ฝันไปเลย แต่วันนั้นมันมาถึงแล้ว ทุกอย่างทำให้เกิดขึ้นจริงได้หมด อยู่ที่ว่าเราจะเริ่มต้นเมื่อไหร่”

สปสช.จ่ายแบบ ‘Per Visit’ รักษาเท่าไหร่ ได้เงินเท่านั้น

คำถามที่ตามมาคือ แล้วภาครัฐ จะจัดสรรเงินงบประมาณอย่างไร

ที่ผ่านมา การจัดสรรงบมาณมีลักษณ์ะ คือ โรงพยาบาล A มีประชาชนขึ้นทะเบียน 100,000 คน หากงบประมาณรายหัวคนละ 3,000 บาท โรงพยาบาลนั้นจะได้รับงบประมาณ 300 ล้านบาท จากนั้น โรงพยาบาลจะนำเงินไปบริหารจัดการเอง โดยมีหลักประกันว่า โรงพยาบาลจะต้องดูแลผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะรักษาพยาบาลเบื้องต้น การผ่าตัด หรือการส่งต่อผู้ป่วยไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง 

เพื่อไทยจึงเสนอวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเหมาจ่าย เป็นการจ่ายแบบ Per Visit หากโรงพยาบาลนั้นๆ มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก หรือมีเคสเข้ารับการผ่าตัดมาก  ก็จะสามารถเบิกจ่ายงบได้มาก 

“ต่างจากเมื่อก่อนนี้ที่คนไข้น้อยยิ่งดี งานจะได้ไม่หนัก แต่ต่อไปนี้ คนไข้มาน้อยไม่ดีแล้ว เพราะจะทำให้งบประมาณโรงพยาบาลมีน้อยลง นึกดูว่า หมอคนเดียวกัน หากอยู่โรงพยาบาลเอกชน มีเคสเยอะ มีผ่าตัดเยอะ หมอยิ่งชอบ แต่พออยู่โรงพยาบาลรัฐ มีเคสเยอะ ผ่าตัดเยอะ หมอยิ่งไม่ชอบ ตอนนี้ Mindset ต้องเปลี่ยนไป”นายแพทย์สุรพงศ์ กล่าว 

นอกจากนี้ ปัจจุบันการบริหารงบประมาณของโรงพยาบาลประสบกับปัญหาหลายประการ เช่น หลายโรงพยาบาลขาดทุนสะสมจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ เมื่อนำระบบ Cloud เข้ามาช่วยในกลไกนี้ ข้อมูลการใช้จ่ายของโรงบาลจะส่งตรงไปที่ สปสช. แล้วสามารถโอนเงินให้กับโรงพยาบาลได้ทันที เพื่อให้โรงพยาบาลเกิดการตื่นตัวและมีเงินหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ลักษณะการจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ ต้องเปลี่ยนเป็นจ่ายตามตามปริมาณงาน เพื่อแก้ปัญหา ‘วัฒนธรรมกินแรง’ และการเอาเปรียบของแพทย์อาวุโสในโรงพยาบาล เพื่อไทยเสนอหลักการใหม่ โดย  สปสช. จะจ่ายงบประมาณในรูปแบบ Per Visit และจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงานหมอ นั่นจะทำให้โรงพยาบาลต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารโรงพยาบาล และพัฒนาคุณภาพการบริการอยู่เสมอ 

“หมอรุ่นใหม่ออกมาพูดว่า เขาต้องคั่วเวร 72 ชั่วโมง เพราะหมออาวุโสไม่ยอมมาช่วยอยู่เวร ถามว่าทำไมโรงพยาบาลเอกชนถึงไมีมีหมอบ่นว่าตนเองทำงานหนัก นั่นเพราะเอกชนให้ผลตอบแทนตามปริมาณของงาน ผ่าตัดเยอะ รักษาเยอะ ได้ผลตอบแทนเยอะ”

ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ‘ฟรี’

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2562  ระบุว่า  มะเร็งปากมดลูกจัดอยู่ในอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย หรือ 5,422 คนต่อปี และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 6 ราย หรือ 2,238 คนต่อปี

มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักจาก ไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้หายขาด การฉีดวัคซีนป้องกัน  HPV จึงเป็นเรื่องสำคัญ

Cancer Research UK องค์กรวิจัยด้านโรคมะเร็งในสหราชอาณาจักร ระบุว่า วัคซีน HPV ช่วยลดอัตราเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เกือบ 90% ขณะเดียวกัน ในหลายประเทศได้วางนโยบายฉีดวัคซีนฟรีให้แก่ประชาชน เช่นที่สหราชอาณาจักรจัดบริการฉีดวัคซีน HPV ฟรีแก่เด็กหญิงอายุระหว่าง 11-13 ปี และยังเริ่มให้วัคซีนชนิดนี้แก่เด็กผู้ชายมาตั้งแต่ปี 2019

ปัจจุบัน วัคซีน HPV มีราคาแพง โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย วัคซีน HPV มีราคาถึงเข็มละ  7,000-10,000 บาท ทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้น้อย ส่งผลให้อัตราการเกิดมะเร็วปากมดลูกในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 11: 100,000 สูงกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 4:100,000 หรือสูงกว่าเกือบ 3 เท่า

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายฉีดวัคซีนตัวนี้ให้ประชาชนฟรี แต่เป็นการฉีดที่ไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุม โดยนายแพทย์สุรพงศ์กล่าวว่า 

"หากรัฐฉีดฟรีจริง ทำไมโรงพยาบาลเอกชนจึงยังโฆษณาค่าวัคซีนตัวนี้ได้ กลับกัน ทำไมโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่โฆษณาวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน นั่นเพราะวัคซีนเหล่านี้รัฐฉีดฟรี จึงไม่มีใครไปฉีดแบบเสียเงินหรอก"

นโยบายเรื่องนี้ของพรรคเพื่อไทย จึงให้ความสำคัญไปที่การ ฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนผู้หญิงอายุ 9-11 ปี และเปิดบริการตรวจหาเชื้อ HPV ฟรีแก่ประชาชนทุกคน รวมถึงให้บริการฉีดวัคซีนฟรีแก่ผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อ เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

Hospice ‘อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี จากโลกนี้อย่างสงบ’

Hospice care หรือ ‘สถานชีวาภิบาล’  หมายถึง การให้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) แก่ผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ในสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่มีการจัดไว้อย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ครอบคลุมช่วงระยะท้ายของชีวิต (Terminal phase) รวมถึงในช่วงเวลาระยะแรกภายหลังการเสียชีวิตของผู้ป่วย (Bereavement phase) 

ว่ากันตามตรง ประเทศไทยไม่มีระบบ  Hospice Care ในมิติหลักสวัสดิการมาก่อน ดังนั้น หากคุณนอนติดเตียง เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ฯลฯ  โรงพยาบาลจะให้คุณกลับบ้าน เพื่อให้เตียงเพียงพอกับผู้ป่วยจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือ ลูกหลานและครอบครัวครัวต้องรับภาระดูแลผู้ป่วย บางกรณี ลูกหลานอาจต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลคนไข้ เป็นหนี้สินจากค่าใช้จ่าย

เพื่อไทยประกาศนโยบาย  Hospice care  เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเตียงมานาน หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี และจากโลกนี้ไปอย่างสงบ โดยไม่รู้สึกว่าตนเป็นภาระต่อลูกหลาน ครอบครัวสามารถออกไปทำมาหากินได้โดยที่รู้ว่า พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของตนมีคนดูแลในสถานชีวาภิบาลที่ได้รับการรับรอง มีมืออาชีพคอยดูแล และไม่ต้องเสียเงินจ่าย ภายใต้การกำกับดูแลของ สปสช. 

LINE_ALBUM_2023.4.1_230410.jpg

ภูมิใจไทย: 30 บาทรักษาทุกที่ ต่อยอด ‘บัตรทอง’

‘30 บาทรักษาทุกที่’ และ ‘ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว’  เริ่มมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นนโยบายที่พรรคภูมิใจภายใต้การนำของ อนุทิน ชาญวีรกูล หยิบยกนำมาหาเสียงในการเลือกตั้ง โดยหวังสานภารกิจและต่อยอดหลักประกันสุขภาพในอนาคต

เดิมที ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ์บัตรทองได้ในสถานพยาบาลที่กำหนดเท่านั้น  โดยผ่านหน่วยบริการปฐมภูมิดูแลรักษาก่อน หากเกินขีดความสามารถหรือต้องรับการรักษาที่ซับซ้อนขึ้น จึงต้องขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาล ซึ่งการขอใบส่งตัวถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ เช่น ประชาชนเดินทางไปต่างพื้นที่แล้วเกิดเจ็บป่วยจนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลนั้นๆ  ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์ที่รักษาได้ จึงจำเป็นต้องส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลแห่งที่สอง ที่มีศักยภาพมากกว่า ในการส่งตัวนั้น โรงพยาบาลต้นทางจะออกใบส่งตัวพร้อมประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยถือติดตัวไปยังโรงพยาบาลปลายทางด้วย หากไม่มีใบส่งตัวก็ต้องกลับมาขอใบส่งตัวโดยออกค่าใช้จ่ายเอง

ด้วยสภาพเช่นนี้ พรรคภูมิใจไทยจึงนำเสนอนโยบายต่ออยอด  ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ สู่ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ นั่นคือ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการจากสถานบริการปฐมภูมิที่ใดก็ได้ ส่วนผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ถูกปฏิเสธหรือถูกเรียกเก็บเงิน หรือต้องกลับไปรับใบส่งตัวให้ยุ่งยาก

นพ.เอกภพ อธิบายว่า คำว่าใบส่งตัวมี 2 นัยยะด้วยกันคือ 1. เมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลหนึ่ง แล้วโรงพยาบาลนั้นรักษาไม่ได้ ก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ โดยจะมีใบส่งตัวพร้อมประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยถือติดตัวไปด้วย 2. การจ่ายชดเชยค่ารักษา เมื่อโรงพยาบาลที่ 2 รักษาแล้ว โรงพยาบาลที่ส่งตัวก็จะตามจ่ายค่ารักษาให้หรือ ขอรับการจ่ายชดเชยจาก สปสช.

การที่ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว จะช่วยให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองทุกคนที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยในสามารถรับบริการได้ทันที โดย สปสช. จะดูแลค่าใช้จ่ายให้โดยที่โรงพยาบาลต้นทางไม่ต้องไปตามจ่ายอีก และไม่ขอหลักฐานการใบส่งตัว ส่วนประวัติการรักษาของผู้ป่วย เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลในการประสานติดต่อขอข้อมูลกันเอง ช่วยลดขั้นตอนการเข้ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยให้สะดวกรวดเร็วขึ้น

ส่วนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงขนาด 1,500 ตารางกิโลเมตร ต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตผู้คน ไม่เพียงเฉพาะในระบบทะเบียนที่มีอยู่ราว 5.5 ล้านคนเท่านั้น หากแต่เมื่อนับรวมจำนวนประชากรแฝงด้วยแล้ว คาดการณ์ว่ามีจำนวนมากถึง 10 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การจัดการสุขภาพในพื้นที่ของ กทม. แบ่งออกเป็น 50 เขต พบว่า มีหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 124 แห่ง และมีสถานบริการระดับตติยภูมิ คือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวน 11 แห่ง

ช่องว่างที่ขาดหายไปคือหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิที่จะเข้ามารองรับการดูแลขั้นกลาง ทำให้ปัญหาของระบบสุขภาพใน กทม. ที่ผ่านมา คือ ความแออัด คนบางส่วนเข้าไม่ถึงการดูแล เนื่องจากการส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องอาศัยศักยภาพระดับโรงพยาบาล หรือต้องเข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยใน จะต้องถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่จำนวนไม่ครอบคลุมเพียงพอ และยังห่างไกลจากที่อยู่อาศัยของประชาชน 

ภูมิใจไทยจึงเสนอนโยบายเพื่อต่อยอดก่อการทำงานจากกระทรวงสาธารณสุข นั่นคือ การสร้างศูนย์สุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ครอบคลุมการเข้าถึงบริการของประชาชน และเชื่อมโยงไปถึงโรงพยาบาลเฉพาะทางของกระทรวงสาธารณสุขด้วย 

(หมายเหตุ: ปฐมภูมิ คือ บริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธรณะสุข  เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น)

“cancer anywhere” มะเร็งรักษาทุกที่

ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่าสถานการณ์การป่วยมะเร็งในปัจจุบัน พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 140,000 คน  หรือ คิดเป็น 400 คนต่อวัน เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 230 คน หรือ มากกว่า 80,000 คนต่อปี 

พรคคภูมิใจไทยมองว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง คือการเข้าถึงการรักษาไม่ทันท่วงที เหตุจากช่องโหว่ของระบบบัตรทอง ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวเป็นเวลานานกว่าจะได้รับการรักษา 

อีกส่วนหนึ่งของปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษา คือ ในปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งอยู่ทั้งสิ้น 114 เครื่อง ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ เท่ากับว่า มีเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งแค่ 1 เครื่องต่อประชากร 500,000 คน

นำมาสู่นโยบาย ติดตั้งเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งให้โรงพยาบาลทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 เครื่อง เป็นอย่างน้อย ภายใน 4 ปี และต้องรักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว มีโอกาสหายจากอาการป่วยได้มากที่สุด และครอบครัวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าที่พัก เมื่อต้องติดตามไปดูแลผู้ป่วยหากต้องไปรักษาในโรงพยาบาลที่ห่างไกลบ้าน

นอกจากนี้ ยังได้นำนโยบายเมื่อครั้งอนุทินดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ให้ผู้ป่วยมะเร็งที่มีสิทธิบัตรทอง สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลไหนก็ได้ที่พร้อม โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของคนไทย

ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ 

พรรคภูมิใจไทย ยังได้หยิบยกข้อมูลรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไต ครั้งล่าสุด ของประเทศไทย เมื่อปี 2565 ที่พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการรักษามากถึง 11.6 ล้านคน ทุกๆ ปี จะมีผู้ป่วยโรคไต เพิ่มขึ้นมากกว่า 8,000 คน ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่มีผู้ป่วยโรคไต เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลก

ปัจจุบัน มีคนไทยมากกว่า 200,000 เป็นผู้ป่วยที่ต้องล้างไต หรือฟอกไต หรือฟอกเลือด และรอการเปลี่ยนไต แต่จำนวนเครื่องฟอกไตยังมีไม่เพียงพอ และกระจุกอยู่ในจังหวัด ลงไปถึงระดับอำเภอไม่มากนัก เดิมทีการฟอกไตฟรีใช้ได้เฉพาะการฟอกไตที่หน้าท้องเท่านั้น แต่การฟอกไตทางเส้นเลือดที่โรงพยาบาล จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งเกือบ 1,000 บาท หรือตกเดือนละเกือบ 10,000 บาท ทำให้คนไข้เข้าถึงบริการฟอกไตได้น้อย 

ที่ผ่านมา สปสช.  ได้คิกออฟนโยบายเพิ่มทางเลือกผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองฟอกเลือดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เมื่อวันที่ 1 ก.พ.65 ทำให้มีคนไข้เข้าสู่บริการฟอกไตเพิ่มขึ้นจาก  20,000 ราย เป็น 40,000 ราย ในระยะเวลา 1 ปี

เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2566 ที่จะถึงนี้ หนึ่งในนโยบายหมัดเด็ดของพรรค จึงได้นำเรื่องของโรคไต ซึ่งต่อยอดการทำงานของรมว.สาธารณสุขของไทย มาเป็นหนึ่งในการหาเสียง โดยการประกาศเพิ่มศูนย์ฟอกไตให้ได้ 70 แห่งภายใน 1 ปี  และจัดตั้งศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ภายใน 4 ปี เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตทุกคนเข้าถึงการรักษาได้เร็วทั่วถึง

เจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาใกล้บ้าน 

โรคมะเร็งและโรคไต คือ 2 โรคหลักที่พรรคภูมิใจไทยให้ความสำคัญและมุ่งเน้นในการเสริมประสิทธิภาพการรักษา รวมทั้งนำมาเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยนอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย การลดค่าใช้จ่ายเพื่อลดควาสูญเสียแฝงทางเศรษฐกิจ พรรคภูทิใจไทย ยังได้นำเสนอโมเดลแก้ปัญหาการซื้อยากินของประชาชน ที่หลายครั้งเป็นการกินยาไม่ถูกวิธี และอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยในการเกิดโรคไต 

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มสิทธิ์ให้ผู้ถือบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการปฐมภูมิดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ในร้านยาที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถรับยาได้ทันที

พรรคภูมิใจไทยระบุว่า ร้านยาที่เข้าโครงการบัตรทองในปัจจุบัน คือ 1,500 กว่าแห่ง ในอนาคต ร้านขายยาที่มีเภสัชกรในประเทศไทยตอนนี้มีอยู่ประมาณ 12,000 แห่งทั่วประเทศ จะเข้าสู่โครงการบัตรทอง หมายความว่า คนไข้บัตรทองสามารถรับยาโรคเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาใกล้บ้านได้ฟรี ทำให้ประชาชนได้รับยาที่ปลอดภัยและคำแนะนำที่ถูกต้อง 

MODEL CHANGE  เวอร์ชั่นภูมิใจไทย 

ตัวแทนพรรคภูมิใจไทยมองว่า กระทรวงสาธารณสุขในยุคของ อนุทิน ชาญวีรกูล ยังพยายามกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ด้วยการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ให้ไปอยู่กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยในปี 2566 นี้ การถ่ายโอนดังกล่าวต้องเสร็จสมบูรณ์ 100%

การถ่ายโอนนี้ ภูมิใจไทยถือว่าเป็นการเปลี่ยนโมเดลการแพทย์ปฐมภูมิครั้งใหญ่ จากเดิมที่ รพ.สต. จะเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลอำเภอ และมี อสม. เป็นแขนขาในการทำงานเชิงพื้นที่ โมเดลใหม่นี้ อบจ. จะทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยระดับปฐมภูมิ ทำงานร่วมกับ อสม. โดย อสม. ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ อสม. เป็นหมอคนแรก ทำงานประสานกับ รพ.สต. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และขึ้นตรงกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 

พร้อมการสนับสนุนค่าตอบแทน 2,000 บาทต่อเดือน และเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานให้ อสม. ในการทำหน้าที่สามารถประสานการทำงานกับแพทย์ที่โรงพยาบาล ไม่วาจะการตรวจเบาหวาน วัดความดัน ฯลฯ อสม. สามารถส่งผลตรวจมาที่โรงพยาบาลได้ผ่านเทคโนโลยีทางการแพทย์ อสม.จึงเปรียบเสมือนหมอคนแรกของประชาชน 

LINE_ALBUM_2023.4.4_230410.jpg
ไทยสร้างไทย: ‘30 บาทพลัส’

พรรคไทยสร้างไทย ภายใต้การนำของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอนโยบายด้านสาธารณสุข ที่ค่อนข้างโดดเด่น ในการหาเสียงครั้งนี้ อาทิ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค พัฒนาสู่ 30 บาทพลัส, สร้าง Well-being Society เปลี่ยน sick care เป็น health care, สนับสนุนไทยเป็น medical hub และ Mobile Doctor สอบถามเรื่องสุขภาพได้ตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ

ดร.สุวดี พันธุ์พานิช คณะทำงานด้านสาธารณสุขพรรคไทยสร้างไทย และ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 1 คือผู้ที่จะมาอธิบายรายละเอียดของนโยบาย ดังต่อไปนี้

พยากรณ์โรคด้วย AI

ที่ผ่านมาข้อมูลสาธารณสุขทุกอย่างถูกบันทึกในเอกสารและไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ข้อมูลไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ การได้ของข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ (BIG DATA) ที่รวบรวมประวัติของคนไข้ แล้วถูกจัดเก็บในระบบคลาวด์ จะถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์เรื่องความเสี่ยงของการเกิดโรค 

ยกตัวอย่างเช่น การประเมินเด็กที่เกิดจากครอบครัวหนึ่งที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ผ่านข้อมูลพันธุกรรมก็จะรู้ว่าเด็กคนนี้มีแนวโน้มจะเป็นโรคมะเร็ง หรือชุดข้อมูลสุขภาพคนในพื้นที่ชุมชนเดียวกัน มีอายุใกล้เคียงกัน รวมถึงกลุ่มอาชีพเดียวกันที่มีความเสี่ยงในแต่ละโรค เช่น โรงผลิตกระดาษทั่วประเทศ พนักงานกลุ่มนี้ก็จะมีความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจ และนำไปสู่การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมกลุ่มอาชีพนี้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคในอนาคต 

ป้องกัน (โรค) ก่อนรักษาโรค

ที่มาของแนวคิดนี้คือโดยทั่วไปคนมักไม่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพ ถ้าให้เลือกว่าความสุขคืออะไร งานดี, เงินดี,สุขภาพดี คนส่วนใหญ่จะเลือก ‘เงินดี’ เป็นอันดับแรก มากกว่าเลือกสุขภาพดี นำไปสู่การทำงานหนักเพื่อหาเงิน โดยไม่สนใจเรื่องการคัดกรองและการป้องกันโรค จึงละเลยการออกกำลังกายหรือการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ เพราะการไปโรงพยาบาลถูกมองว่าต้องมีค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะมีสวัสดิการตรวจคัดกรองหรือตรวจเลือดฟรี คนก็ยังเบื่อที่จะไปโรงพยาบาล เพราะไม่อย่าเสียเวลารอคิวหรือเสียค่าเดินทาง 

ดังนั้นเมื่อไม่สนใจตรงนี้ จึงตามมาด้วยการเป็นโรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็งซึ่งค่ารักษาตอนป่วยจากโรคด้วยการฉายแสง จะแตกต่างกันมากหากมีข้อมูลว่าเสี่ยงมะเร็งแล้วรีบป้องกัน ดังนั้น Prevention ของไทยสร้างไทย จะทำหน้าที่แนะนำผู้มีความเสี่ยง ผ่านข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยหมอมือถือ จะทำให้ตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงโรคที่ทำให้สูญเสียเงินมารักษาได้ 

ดังนั้นไทยสร้างไทยจึงนำ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสุขภาพ เพื่อให้คนมีการตื่นตัวและลดภาระค่ารักษา เมื่อคนป่วยน้อยลงงบประมาณในการรักษาก็จะลดลงไปด้วยตามลำดับ 

Mobile Doctor หมอมือถือ 24 ชั่วโมง

ตั้งต้นจากแนวคิด Personalized หรือ การดูแลเฉพาะบุคคล โดยใช้ Mobile Doctor หรือ หมอมือถือ ที่จะเป็นกลไกให้คนสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข นอกจากรักษาอาการป่วย จะมีรายละเอียดการป้องกันความเสี่ยงโรคของแต่ละคน เช่นมีไขมันสูงจะมีคำแนะนำในการเลือกอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม

สำหรับฟังชั่น Mobile Doctor จะใช้ระบบ ChatGPT เพื่อให้ AI ตอบข้อมูลเบื้องต้น สำหรับคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นข้อสงสัยตั้งแต่ประจำเดือนไม่มาไปจนถึงการใช้ยารักษาแต่ละตัว ซึ่งสามารถสอบถามหมอมือถือได้ตลอดเวลา 

กรณีต้องการพบแพทย์จริง สามารถเข้าสู่ระบบโดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยคัดกรองเพื่อจำแนกให้ปรึกษาหมอได้ หากวินิจฉัยว่าอาการไม่รุนแรง ก็จะแนะนำให้ไปรับยาตามคลีนิคหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ถ้ามีอาการรุนแรง Mobile Doctor จะจับสัญญานโลเคชันและให้ไปตรวจกับแล็ปหรือคลีนิคใกล้บ้าน เพื่อนำผลแล็บเข้ามาในระบบ

หากต้องพบผู้เชี่ยวชาญ Mobile Doctor จะค้นหาและจัดเวลานัดหมายหมอเฉพาะทางใกล้บ้านให้ไปรักษา โดยไม่ต้องผ่านระบบคัดกรอง เพื่ออำนวยความสะดวกคนไข้โดยไม่ต้องไปรอคอย

“Mobile Doctor คือการรักษาได้ทุกที่ ไม่ทำให้คนไข้ปฏิเสธรักษาการดูแลตัวเอง เพราะหลายกรณีคนไข้เลือกที่จะไม่ไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะเสียเวลาการเดินทางและรอคิว จนทำให้กลายเป็นโรคเรื้อรัง และต้องใช้เงินในการรักษาเยอะ ถ้าเราตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นเช่นมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ต้องบอกให้เขารีบดูแลตัวเองไม่ให้เกี่ยวข้องกับสิ่งกระตุ้น เขาก็มีโอกาสที่จะไม่เป็นมะเร็งได้”

ส่วนข้อกังวลเรื่องกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะตกหล่นเรื่องการเข้าถึง Mobile Doctor ไทยสร้างไทย จะยกระดับ อสส.-อสม. ที่มีประมาณ 1.3 ล้านคน เพื่อเป็นคู่ชีวิตคู่สุขภาพให้ผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพให้เข้มแข็งก่อนป่วย

AI ยกระดับเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

พรรคไทยสร้างไทย ต้องการลดจำนวนคนไข้ปฐมภูมิ ไปโรงพยาบาล เพื่อลดภาระบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยการใช้ AI คัดกรองคนไข้ปฐมภูมิตามศูนย์บริการสุขภาพหรือคลีนิคใกล้บ้าน 

จุดประสงค์หลักของไทยสร้างไทย คือเน้นการสร้างให้คนแข็งแรงก่อนป่วย เพื่อลดภาระโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายประชาชน สำหรับบทบาทของ สปสช. ยังคงมีเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่า 30 บาทนั้นช่วยเหลือคนได้เยอะ แต่การทำให้ป่วยน้อยลงจะเป็นการลดภาระได้ดีที่สุด

ถ้าสามารถป้องกันให้คนไทยแข็งแรงได้ ด้านงบประมาณสาธารณสุขก็ลดลงจากการรักษา และถูกนำมาใช้ในส่วนการการป้องกันมากขึ้น เช่น เรื่องสารก่อมะเร็งต่างๆ  อาทิ ร้านอาหารร้านไหนขายน้ำหวานหรือเครื่องดื่มที่เป็นสารก่อมะเร็ง ต้องจ่ายภาษีแพงมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคก็ต้องจ่ายราคาสูงขึ้น เป็นการทำให้ตระหนักว่าการที่จ่ายเงินแพงขึ้นเพราะทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค