ไม่พบผลการค้นหา
ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Maxar บริษัทด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เผยให้เห็นความเคลื่อนไหวของกองทัพรัสเซียล่าสุดที่ยังคงเคลื่อนกำลังและเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ของไครเมีย พื้นที่ฝั่งตะวันตกของรัสเซีย ไปจนถึงพื้นที่ในประเทศเบลารุส ซึ่งนับเป็นความกดดันต่อยูเครนจาก 3 ทิศทาง ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียจะตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการบุกยูเครน

ด้าน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่าสถานการณ์อาจรุนแรงได้ทุกเมื่อ พร้อมแนะนำให้ชาวอเมริกันออกมาจากพื้นที่ทันทีเพราะสหรัฐฯ จะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันพร้อมเครื่องบินไปรับตัวพลเมืองออกมาจากพื้นที่ขัดแย้ง

สตีเฟน วูด ผู้อำนวยการอาวุโสของ Maxar ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมามีการเคลื่อนกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากบริเวณลานบิน Oktyabrskoye ที่ถูกทิ้งร้างทางตอนเหนือของเมืองหลวงของไครเมีย โดยจากการประเมินพบว่าอาจมีการวางเต็นท์ของกำลังพลอย่างน้อย 550 หลัง ขณะที่ยานพาหนะอื่นๆ มีจำนวนหลายร้อยคัน และมีความเคลื่อนไหวในอีกหลายพื้นที่ของไครเมีย

ภาพถ่ายดาวเทียมยังเผยด้วยว่าการระดมพลของกองทัพรัสเซียในไครเมียเกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่เรือรบและเรือบรรทุกอากาศยานของรัสเซียจำนวนมากได้เดินทางมาถึงเซวัสโตปอล ซึ่งเป็นเมืองท่าหลักของไครเมียอีกด้วย

ขณะเดียวกัน พื้นที่ของลานบิน Zyabrovka ในเบลารุสที่อยู่ห่างจากพรมแดนติดกับยูเครนเพียงแค่ 25 กิโลเมตรก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยภาพจาห Maxar ชี้ว่ามีการเคลื่อนกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ยานพาหนะทางการทหาร และเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ในปฏิบัติการของพื้นที่นี้ และยังมีการจัดเตรียม 'โรงพยาบาลสนาม' ในพื้นที่ดังกล่าว

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุกับสื่อมวลชนว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียให้การรับรองกับตนว่า กองทัพรัสเซียจะไม่มีการยกระดับการระดมกำลังพลของตนเองในบริเวณชายแดนที่ติดกันกับยูเครน เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นไปมากกว่าปัจจุบัน

“ผมรับประกันว่า (สถานการณ์) จะไม่เลวร้ายลงหรือถูกยกระดับขึ้น” มาครงในฐานะตัวกลางการเจรจาระหว่างชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) รัสเซีย และยูเครน ระบุ ในขณะที่รัสเซียออกมาเปิดเผยว่า ข้อเสนอแนะใดๆ ที่ทางชาติตะวันตกเสนอมาในการรับประกันหลักการให้แก่รัสเซียยังคง “ไม่ถูกต้อง” โดยปัจจุบันนี้ รัสเซียมีกองกำลังแล้วอย่างน้อย 100,000 นายประชิดชายแดนยูเครนอยู่

ทั้งนี้ ความขัดแย้งในระลอกนี้เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งเมื่อ 8 ปีก่อนในบริเวณคาบสมุทรไครเมียระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก่อนที่ทั้งสองชาติจะลงนามกันในสนธิสัญญาสันติภาพมินสค์ ในปี 2558 เพื่อการหยุดยิง อย่างไรก็ตามรัสเซียอ้างว่ายูเครนทำผิดจากสนธิสัญญาที่มีเยอรมนีและฝรั่งเศสหนุนหลัง โดยรัสเซียระบุว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีประชาชนอย่างน้อย 14,000 รายถูกสังหาร ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างทั้งสองชาติแล้ว

ความขัดแย้งตึงเครียดยกระดับมากยิ่งขึ้นเมื่อยูเครนที่มีพรมแดนติดกันกับรัสเซีย พยายามขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งมีชาติสมาชิกเป็นสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปหลายชาติ ในการคานอำนาจกับรัสเซียในปัจจุบัน หรืออดีตสหภาพโซเวียต ความตึงเครียดจึงปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อรัสเซียระดมกำลังพลของตนเองประชิดชายแดนยูเครน โดยสหรัฐฯ คาดว่าว่า รัสเซียมีกองทัพพร้อมต่อการรุกรานยูเครนแล้ว 70% และอาจบุกโจมตียูเครนในช่วงกลางเดือนนี้