ไม่พบผลการค้นหา
ล็อกดาวน์ไปก็ไร้ประโยชน์ หลังศบค.ศึกษาโมเดลอู่ฮั่นและซิดนีย์ ชี้วัคซีนคุณภาพคือกุญแจสำคัญเปิดเมือง – ลดจำนวนติดเชื้อ ไม่ใช่ความเข้มงวด

20 กรกฎาคม ที่ประชุมมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ศึกษาการปรับใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดแบบเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนและเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อปรับใช้กับการควบคุมโรคระบาดในประเทศไทยได้ โดยทั้งเมืองอู่ฮั่นและเมืองซิดนีย์มีระดับความเข้มงวดของมาตรการไม่เหมือนกัน จึงทำให้ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ไม่เหมือนกัน

คนเร่ร่อน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคอร์ฟิว ล็อกดาวน์ 12 กค 64


'อู่ฮั่น' เจ็บ (สาหัส) แต่จบ

เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เมืองที่พบการระบาดของโควิด-19 แห่งแรก ทางการจีนจึงงัดมาตรการเข้มงวดสูงสุดอย่างการล็อกดาวน์มาประกาศใช้ทันที สำหรับโมเดลการล็อคดาวน์อู่ฮั่นนั้น นับเป็นมาตรการที่ประชาชนและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันกัดฟันยุติทุกกิจกรรมในเมืองเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เป็นระยะเวลากว่า 76 วันที่ประชากร 11 ล้านคนต้องอยู่กับระเบียบปฏิบัติที่แสนเข้มงวด ซึ่งผลลัพธ์ของมาตรการนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงที่ไม่ถึง 100 คนต่อวัน และได้ผ่อนคลายมาตรการ ในวันที่ 8 เมษายน 2563 กระทั่งล่าสุดรัฐบาลจีนได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเมืองแล้วกว่า 77% เป็นวัคซีนป้องกันโควิดจากซิโนฟาร์ม แต่วัคซีนดังกล่าวเป็นคนละชนิดกับที่รับรองโดยอนามัยโลกและที่ใช้ในการส่งออกต่างประเทศ

AFP-เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาชาดในเมืองอู่ฮั่นสวมชุดป้องกันเชื้อ เพราะเป็นพื้นที่รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 n-CoV.jpg

หากย้อนรอยระเบียบปฏิบัติของ “อูฮั่นโมเดล” ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 มาตรการล็อกดาวน์เริ่มต้นด้วยการ ส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนผ่านทางสมาร์ทโฟน ในเวลา 02.00 น. หลังจากนั้นจึงมีการประกาศมาตรการด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • 1.ด้านคมนาคม มีประกาศปิดให้บริการสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสาร สถานีเรือโดยสาร และปิดเส้นทางหลัก ถนนหลวงทั่วเมืองอู่ฮั่น และยังมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจ ห้ามประชาชนเดินทางเข้าออกเมืองโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่กรณีฉุกเฉินส่วนบุคคลและทางการแพทย์ ห้ามรถยนต์และยานพาหนะส่วนบุคคลทุกชนิดแล่นบนถนน เพื่อระงับการเดินทางสัญจรระหว่างเมืองและลดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • 2.ด้านสถานที่ มีประกาศปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ปิดสถานประกอบธุรกิจ โรงงาน และร้านค้าที่ไม่จำเป็น อนุญาให้เปิดได้เฉพาะร้านที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด และร้านอาหาร
  • 3.ด้านความสามารถในการออกนอกบ้าน ในช่วงต้นของมาตรการ ประชาชนได้รับอนุญาตให้ออกมานอกบ้านได้ ก่อนที่จะเพิ่มความเข้มงวดโดยให้อยู่แต่ในบ้าน บางพื้นที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้สมาชิกในครอบครัวเพียง 1 คน ออกจากบ้านเพื่อซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นได้ทุก 2 วัน แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างอย่างเข้มงวด แต่บางพื้นที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้าน ทำให้ต้องสั่งอาหารและสิ่งของจำเป็นจากทางออนไลน์ด้วยแอพลิเคชั่นสั่งอาหารเดลิเวอร์รีเท่านั้น นอกจากนี้ทางการได้ดำเนินการแจกจ่ายอาหาร ยา และอุปกรณ์ตรวจเชื้อไวรัสตามบ้านประชาชน
  • 4.ด้านการตรวจเชิงรุก เจ้าหน้าที่จะเคาะประตูตรวจสุขภาพประชาชนทุกบ้าน และบังคับนำตัวผู้มีอาการป่วยทุกคนไปกักตัวทันที ระหว่างการล็อกดาวน์มีการระดมตรวจหาเชื้อจนเกิดภาวะผู้ป่วยล้น แต่ท้ายที่สุดสามารถจัดการปัญหาด้วยการสร้างโรงพยาบาลสนามอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับผู้ป่วย
  • 5.ด้านระบบการติดตาม ใช้เทคโนโลยี เช่น โดรนหรือกล้องวงจรปิดตรวจจับความเคลื่อนไหว คอยเตือนประชาชนในเมืองที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่นอกบ้าน เพื่อรักษาวินัยในการสวมหน้ากากเสมอ
  • 6.แอพลิเคชันประเมินความเสี่ยง ทางการจีนได้ร่วมมือกับอาลีบาบาและเทนเซนต์ พัฒนาแอปพลิเคชันบันทึกประวัติอาการป่วย และประวัติการเดินทางเพื่อประเมินความเสี่ยง โดยผู้ใช้งานแอปพลิเคชันจะได้รับคิวอาร์โค้ดประจำตัว เพื่อระบุความเสี่ยงของบุคคลนั้น ๆ หากมีความเสี่ยงสูง จะแจ้งเตือนเป็นสีแดง ซึ่งหมายความว่าต้องกักตัว 14 วัน หากมีความเสี่ยงต่ำ จะแจ้งเตือนเป็นสีเหลือง และต้องกักตัว 7 วัน โดยบรรดาร้านค้าต้องตรวจสอบคิวอาร์โค้ดของประชาชนก่อนเข้าพื้นที่ หากเป็นสีแดงหรือเหลืองจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าภายในร้าน ซึ่งมาตรการดังกล่าวทั้งหมดนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอยู่ทั่วเมืองอย่างเข้มงวด
ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ล็อกดาวน์ โควิด

 'ซิดนีย์' ล็อกดาวน์แต่ติดหล่มวัคซีน

ออสเตรเลีย รัฐบาลท้องถิ่นรัฐนิวเซาท์เวลส์ ใช้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดมาแล้ว 5 ครั้ง โดยรัฐบาลประกาศใช้มาตรการบนฐานคิดที่ว่า จะพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้วันละ 5 คนต่อวัน โดยจำนวน 5 คนนี้มีนัยยะสำคัญคือ ทำให้การแพร่ระบาดไม่เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ได้ ซึ่งในรัฐวิคตอเรียได้พิสูจน์มาแล้วว่า แม้จะปลดล็อกดาวน์ การคงจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้วันละ 5 คนไม่ได้ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่แต่อย่างใด ประการต่อมาคือ ในจำนวน 5 คน รัฐบาลท้องถิ่นสามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในการกักตัว ซึ่งอาจจะหมายความว่าผู้ติดเชื้อที่อยู่ในชุมชนอาจจะเป็นศูนย์หรือมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ของเมืองซิดนีย์จะมีความเข้มงวดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยทั่วไปมีข้อจำกัดดังนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน
  • จำกัดการพบปะกันเกิน 10 คน
  • อยู่บ้านตลอดเวลา ออกจากบ้านได้หากมีความจำเป็น
  • แต่ละบ้านมีสมาชิกออกมาจากบ้านได้แค่ 1 คน
  • ไม่ควรออกจากบ้านเกินรัศมี 10 กิโลเมตร
  • ร้านอาหารสั่งซื้อแบบนำกลับเท่านั้น
  • ขอความร่วมมือให้หน่วยงาน work from home
  • ปิดร้านค้าปลีก เปิดเฉพาะธุรกิจที่จำเป็นเช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการเชื้อเพลิง ธนาคารฯลฯ
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามเมือง
  • หากเดินทางออกจากซิดนีย์ต้องกักตัว 14 วันที่ปลายทาง
  • ต้องเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียกำลังประสบปัญหาการส่งมอบวัคซีนล่าช้า โดยปัจจุบันออสเตรเลียกำหนดแจกวัคซีนแก่ประชากรที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนพลเมืองที่อายุต่ำกว่า 40 ปี คาดว่าจะได้รับวัคซีนชนิด mRNA ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม เป็นเหตุให้การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย)โดยการล็อกดาวน์ ยังทำให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้นอยู่ เนื่องจากออสเตรเลียใช้วัคซีนจากแอสตราเซเนกาเป็นหลัก ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธฺเดลตาได้ 92% ส่วนวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ 96% จะส่งมอบถึงออสเตรเลียในช่วงปลายปีนี้

นอกจากโมเดลการล็อกดาวน์ของอู่ฮั่นและซิดนีย์แล้ว มีประเทศหนึ่งที่สามารถล็อกดาวน์จนสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างได้ผลคืออิตาลี ซึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้อิตาลีสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อจากหลักหมื่นมาเป็นหลักพันได้คือวัคซีน mRNA เป็นกรณีศึกษาที่ต่างจากอู่ฮั่นและซิดนีย์ที่ใช้วัคซีนประเภทเชื้อตายเป็นหลัก

อิตาลี โควิด-19.jpg


'อิตาลี' จากวิกฤต สู่ 'วันสีขาว'

อิตาลีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเคยเป็นสัญลักษณ์วิกฤติโควิดแห่งโลกตะวันตก จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงแตะหลักหมื่นเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง จนมีผู้ป่วยสะสมหลักล้านคนในประเทศ ทางการจึงใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค โดยมีการแบ่งพื้นที่ความรุนแรงของการระบาดตามเฉดสี “โซนสีแดง (red zone)” ประชาชนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้าน ยกเว้นแต่ออกมาทำงานหรือเหตุผลด้านสุขภาพ ร้านค้าต่าง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นจะถูกปิด ส่วน “โซนสีส้ม (orange zone)” ประชาชนจะถูกห้ามเดินทางออกจากเมืองและแคว้นของตนเอง แต่สามารถเดินทางออกนอกบ้านได้ตามปกติ และ “โซนสีขาว(White Zone) “ คือเขตที่มีความเสี่ยงโควิดต่ำ ร้านค้าธุรกิจเปิดได้ตามปกติ แคว้นต่าง ๆ จะถูกกำหนดเป็นโซนสีแดงหรือสีส้มขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาด โดยภูมิภาคใดที่มีเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่รายสัปดาห์ มากกว่า 250 คนต่อประชากร 100,000 คน จะเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์โซนสีแดงโดยอัตโนมัติ

AFP-อิตาลี โควิด-ไวรัสโคโรนา หน้ากากอนามัย.jpg

มาตรการล็อคดาวน์ถูกประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 แต่จะบังคับใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ การล็อคดาวน์แต่ละช่วงนั้นจะเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ อย่างเทศกาลคริสมาสต์ เทศกาลอีสเตอร์ หรือในช่วงการฉลองปีใหม่ เพื่อลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และประกาศใช้เป็นระยะ ๆ มาจนสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนปี 2564 โดยมีข้อปฏิบัติที่เป็นจุดร่วมกันดังนี้

  • ประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านได้ในโซนสีแดง ยกเว้นไปทำงาน ไปใช้บริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาล แต่โซนสีส้มสามารถออกบ้านได้แต่จำกัดเวลาการออกนอกเคหะสถานตั้งแต่ 22.00 น. ถึง 05.00 น. และไม่สามารถเดินทางข้ามเมืองได้
  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบริเวณบ้าน
  • ห้ามทำกิจกรรมรวมตัวหรือชุมนุมในที่สาธารณะ ต้องรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรในที่สาธารณะอย่าง ในโบสถ์ ซูปเปอร์มาร์แก็ต
  • โรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านค้าและธุรกิจที่ไม่จำเป็น อย่างสถานบันเทิง ยิม ไนท์คลับ หรือธุรกิจที่เสี่ยงการสัมผัสถูกสั่งปิด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ พิพิธภัณฑ์เลื่องชื่อก็งดการเข้าเยี่ยมชมเช่นเดียวกัน บาร์และร้านอาหารจะสามารถเปิดบริการได้ในช่วงเวลา 6.00 – 18.00 น. เฉพาะสั่งซื้อแบบนำกลับ

หากจำได้ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญการระบาดรอบแรก เมื่อปีที่แล้วและระบบสาธารณสุขไทยยังไม่สาหัสเช่นนี้ เราได้เห็นสภาพสถานการณ์โควิดในอิตาลีที่วิกฤตอย่างมาก ช่วงเดือนพฤศจิกายนถือเป็นจุดสูงสุดของการระบาดในอิตาลี บางโรงพยาบาลแพทย์ถึงขั้นต้องเลือกว่าจะช่วยผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า ในแง่การล็อคดาวน์ของอิตาลีนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องของการลดสถิติผู้ติดเชื้อ เพราะจำกัดการอยู่บ้านเป็นระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น รวมถึงในบางพื้นที่ยังสามารถออกนอกบ้านทำงานได้ตามปกติ จึงส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นลง ตามระยะของการประกาศล็อคดาวน์ เข้มงวดจึงลดพอผ่อนคลายก็เพิ่มขึ้นอีก

แต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อิตาลีได้ปลดล็อคดาวน์และเป็นโซนสีขาวทั้งประเทศ รวมถึงยกเลิกบังคับสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่กลางแจ้งทั้ง 20 แคว้นแล้ว การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นความคืบหน้าในการควบคุมโรคโควิด-19 จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ที่การแพร่ระบาดรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่ง กุญแจสำคัญคือผลมาจากการเร่งกระจายวัคซีน หลังดำเนินโครงการฉีดวัคซีนในระยะแรก 5 สัปดาห์ พบว่าจำนวนผู้ป่วย ในประชากรทุกกลุ่มอายุของอิตาลีลดลงถึงร้อยละ 80 และจากข้อมูลปัจจุบันของ Our World in Data ได้รายงานว่าประชากรกว่า 44 % อิตาลีได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว ในขณะที่อีก 16 % รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส วัคซีนที่ใช้มาจากแอสตราเซเนกา ไฟเซอร์และโมเดอร์นา

วัคซีนโควิด ฉีดวัคซีน


วัคซีน (คุณภาพ) คือกุญแจ

 จากการสำรวจโมเดลการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศจะเห็นได้ว่า ตัวแปรสำคัญที่สุดของการลดจำนวนผู้ติดเชื้อคือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีอิตาลี จากที่เคยเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงจนต้องล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่ง การใช้วัคซีนจากกลุ่ม mRNA ทำให้ปัจจุบันทั้งประเทศกลายเป็นโซนความเสี่ยงต่ำเกือบทั้งหมดแล้ว

ต่างจากกรณีของออสเตรเลียที่ใช้วัคซีนจากแอสตราเซเนกา ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาไม่เท่าวัคซีนกลุ่ม mRNA ทำให้แม้ยังอยู่ในมาตรการล็อกดาวน์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นได้ ส่วนโมเดลการล็อกดาวน์ของเมืองอู่ฮั่น มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดพร้อมกับการตรวจเชิงรุก และที่สำคัญคือมีการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยในการควบคุมโรคระบาด อีกทั้งการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า ทำให้การล็อกดาวน์ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง

ประยุทธ์ วัคซีน โควิด ซิโนแวค เอเอฟพี 93N3FQ.jpg

จากกรณีตัวอย่างทั้ง 3 ประเทศ การล็อกดาวน์จึงไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ แต่จำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพร่วมด้วย หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ศบค. ศึกษาการล็อกดาวน์จากต่างประเทศ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องเรียนรู้จากประเทศเหล่านั้นคือ การเรียนรู้ว่าวัคซีนที่ประเภทใดจะช่วยให้มาตรการล็อกดาวน์นั้นได้ผล ไม่ใช่แค่การศึกษาว่าจะใช้มาตรการกับประชาชนเข้มงวดขึ้นอย่างไรบ้าง อีกทั้งการศึกษามาตรการล็อกดาวน์ เหตุใดจึงไม่ศึกษาประเทศอิตาลีบ้าง ซึ่งทั้งการล็อกดาวน์และการกระจายวัคซีนทำได้อย่างดีจนประเทศลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมองปัญหาในประเทศให้ถูกประเด็น และเลือกประเทศศึกษาให้ถูกกรณี

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ภายใต้มาตรการที่เข้มงวดพิเศษ(ล็อกดาวน์) ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงขึ้นทุกวัน หากรัฐบาลไม่ประเมินการจัดหาวัคซีนผิดพลาด ประเทศไทยคงไม่ประสบกับภาวะที่มีคนตายดาษดื่นถนนหนทางเช่นนี้ ซ้ำร้ายประชาชนยังตกเป็นจำเลยความผิดพลาดของรัฐ ซึ่งมักถูกกล่าวโทษเสมอเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ความผิดพลาดในหน้าที่ของรัฐบาลที่ไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้อย่างเพียงพอ วิกฤติโควิดในครั้งนี้จึงเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว หาใช่ประชาชน และความพยายามที่จะเรียนรู้การล็อกดาวน์จากประเทศอื่นย่อมไร้ประโยชน์ หากรัฐบาลไทยไม่ตระหนักว่า กุญแจสำคัญที่จะไขจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงได้คือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การบังคับประชาชนล็อกดาวน์อย่างไร้จุดหมาย

เรื่องโดย: ชินดนัย ฝังสิมมา , ชนิกานต์ มะโหรา 

ตรวจโดย: ชยพล พลวัฒน์

ที่มา: Our World Data , BBC , The Local Italy , NSWGov , University of Melbourne