นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคณะที่ 5 ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ใน 3 เรื่องประกอบด้วย
1. กรณีร้องกล่าวหา ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
2. กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีความผิดตามฟ้องในคดีกรุงไทยและตามคำพิพากษาเดิม ในคดีแดงที่ 5/2558 ซึ่งศาลระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย มีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและมีเจตนาช่วยเหลือผู้กู้เงินได้รับเงินสินเชื่อ 9, 900 ล้านบาท โดยมิได้ศึกรักษาผลประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหายและมีการใช้อำนาจโดยมิชอบกระทำผิดหน้าที่ของตนเบียดบังเอาทรัพย์สินของธนาคารเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
ซึ่งกรณีนี้ นายเรืองไกร ระบุว่า จากคำพิพากษาดังกล่าวจึงอาจเกี่ยวข้องไปถึงคุณสมบัติของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ตามคำพิพากษาด้วยและโดยที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) บัญญัติว่ารัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมาตรา 170 (4) บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ดังนั้น จึงมีเหตุมาร้องขอให้กกต.ตรวจสอบว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายอุตตม จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่
และ 3. กรณี กกต.ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ ซึ่งไม่ใช่การถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามหาว่า สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10)หรือไม่ และต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองต่อไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (4) รวมทั้งเพื่อถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ด้วย
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า นายไพบูลย์ ยังมีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่ จนกว่าจะชำระหรือปิดบัญชีให้แล้วเสร็จ ที่สำคัญคือหากไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐตามที่ออกมาให้เใข่าวและพรรคพลังประชารัฐรับเป็นสมาชิก จะส่งผลต่อคะแนนของทั้ง 2 พรรคว่า กกต.จะตัดทิ้งหรือคำนวนใหม่ทั้งระบบอย่างไร รวมถึงลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ซึ่งอาจเข้าข่ายการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยนายเรืองไกร รอความชัดเจนในสถานะของนายไพบูลย์กับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อพิจารณายื่นเรื่องต่อ กกต.และผู้เกี่ยวข้องต่อไป และเห็นว่า ทางดีที่สุดคือ กกต. ต้องยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด