ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร ลงพื้นที่อีสานขีดเส้นตั้งเป้า ต้องปลอดยาเสพติดให้ได้ถึง 90% ก่อนเทศกาลสงกรานต์ แนะตรวจสารเสพติดเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นต้นแบบให้ประชาชน

วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2567) เวลา 11.40 น. ณ วัดบ้านเขวาทุ่ง ตำบลเขวาทุ่ง อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสั่งการโมเดลการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด 1 ใน 25 จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องจังหวัดสีขาวทั่วประเทศ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารส่วนท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าร่วมประชุม โดยมีประชาชนมารอให้การต้อนรับอย่างเนืองแน่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ดำเนินงานภายใต้โครงการธวัชบุรีโมเดล จังหวัดร้อยเอ็ด และท่าวังผาโมเดล จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นนโยบายสำคัญที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ทำให้สามารถจับกุม กวาดล้างยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก จากรายงานถือเป็นผลงานที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง ที่มีสถิติที่เพิ่มขึ้น ทั้งการจับกุมกวาดล้าง ผู้ค้ารายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย จึงขอให้ทุกภาคส่วนมุ่งมั่นดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป พร้อมยกระดับให้เข้มข้นขึ้น โดยให้ขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามภูมิภาค โดยมีจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ : เชียงใหม่ ภาคกลาง : อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : สกลนคร นครพนม ภาคตะวันออก : ระยอง ภาคใต้ : นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส

นายกรัฐมนตรียังมอบนโยบายให้ ปปส. อัพเดทข้อมูลเพื่อให้เป็นฐานข้อมูลกลางเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อมูลร่วมกัน ทั้งสถานการณ์ยาเสพติด แผนปฏิบัติการจังหวัด รายงานผลการดำเนินงาน และการประเมินผล และให้มีการพัฒนาเชื่อมระบบข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

“ยาเสพติดเป็นหน้าที่ของทุกๆ คน ที่จะต้องร่วมกันช่วยกันในการทำให้ทุกคนปลอดจากยาเสพติด โดยการป้องกัน ปราบปรามและฟื้นฟูเพื่อให้พวกเราทุกคนห่างจากยาเสพติดที่เป็นพิษร้ายบ่อนทำลายชาติ ถ้าสังคมปลอดยาเสพติดจะทำให้ปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาลักขโมย ปัญหาสังคมและอื่นๆ จะน้อยลง หรือไม่มีเลย” นายกรัฐมนตรีระบุ

ในส่วนของการปราบปราม นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ต้องตัดวงจรการค้ายาเสพติดรายสำคัญ กวาดล้างผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาด เพิ่มประสิทธิภาพมาตรการยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด ดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นอย่างจริงจังและเด็ดขาด และให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของประชาชนโดยเร่งด่วน ส่วนการบำบัดรักษา มอบหมายให้ ปปส. อปท. มหาดไทย สาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ทำงานอย่างบูรณาการ พิจารณาแนวทางการเพิ่มสถานพยาบาลในการรองรับการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดให้เพียงพอ เช่น การเปิดศูนย์บำบัดผู้ป่วยยาเสพติด ในพื้นที่ของส่วนราชการที่ควบคุมได้ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้ามาจัดการเรื่องการบำบัดดูแล ทั้งนี้ให้พิจารณาแผนการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมต่อไป   

“หนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยตัดวงจรยาเสพติดได้อย่างยั่งยืนคือ กระบวนการบำบัดรักษาไม่ให้กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ ผ่านการฝึกอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เข้ารับการบำบัด ขอให้ทุกภาคส่วนขยายผลการดำเนินงานในเรื่องศูนย์ฝึกอาชีพให้เพียงพอ ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ ปัญหายาเสพติดต้องหมดไป ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอนค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดนำร่อง 10 จังหวัดเหล่านี้ จะต้องประกาศได้ว่าเป็นจังหวัดปลอดยาเสพติด หรือปัญหายาเสพติดลดลงให้ได้มากถึง90 % โดยมีห้วงเวลาเป้าหมาย ก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ซึ่งทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันสร้างสังคม ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัดสีขาว เพื่อประเทศไทยสีขาว ปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืนต่อไป“ นายกรัฐมนตรีย้ำ

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานผลการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าพนักงานปกครองส่วนกลางและท้องถิ่น โดยให้ความสนใจสอบถามการดำเนินงาน อาทิ การดูแลผู้ติดยาเสพติด งบประมาณ และแจ้งว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินทุกประการ เพื่อคืนคนดีสู่สังคมไทย

สำหรับ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็น 1 ใน 25 จังหวัดจากการ Re X – ray ประชาชนตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ. ) อายุตั้งแต่ 16 – 65 ปี ทุกคน จำนวน 503,889 คน โดยใช้กลไกของชุดปฏิบัติการประจำตำบล จำนวน 202 ชุด โดยแต่ละชุดประกอบด้วย 19 – 24 คน เพื่อค้นหาผู้เสพ นำไปบำบัดรักษา และค้นหาผู้ค้า เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยกำหนดพื้นที่เร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการทันที คือ อำเภอธวัชบุรี แล้วขยายผลไปสู่ 19 อำเภอที่เหลือ ของจังหวัดร้อยเอ็ด ผลการดำเนินการ Re X – ray จำนวนที่คัดกรอง (ตรวจปัสสาวะ) ( ตามเกณฑ์ จปฐ. 503,889 คน) จำนวนที่พบสารเสพติด 19,824 คน แบ่งเป็น สีเขียว 18,952 คน สีเหลือง 668 คน สีส้ม 139 คน และสีแดง 65 คน นำมาบำบัดรักษาผู้เสพ ตามแผนปฏิบัติการร้อยเอ็ดโมเดล โดยใช้ระบบรักษาบำบัดใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง (CBTx) และการบำบัดโดยระบบมินิธัญญารักษ์ ที่มีอยู่ในปัจจุบันและจัดตั้งเพิ่มเติมในพื้นที่ อ.โพนทอง อ.หนองพอก บ้านฮักแพง (พล ร.6) อ.จตุรพักตรพิมาน อ.เมืองร้อยเอ็ด อ.เสลภูมิ และมทบ. 27 ทำให้ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ลดลง ผู้ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้ตามปกติ