ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกาของเมียนมาไม่รับอุทธรณ์สองผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส ที่ถูกตัดสินจำคุก 7 ปี หลังทำข่าวการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

ในวันอังคาร (23 เม.ย.) ศาลฎีกาในกรุงเนปิดอว์สั่งยกคำร้องอุทธรณ์ของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ 2 คน คือ วา โลน อายุ 33 ปี กับจ่อ โซ อู อายุ 29 ปี ซึ่งถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษจำคุก 7 ปีในข้อหามีเอกสารลับของทางราชการในครอบครอง

ผู้สื่อข่าวซึ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ทั้งสองถูกควบคุมตัวมานานกว่า 16 เดือนนับแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม 2017 หลังจากทำข่าวสืบสวนกรณีการสังหารผู้ชายและเด็กชาย 10 รายในช่วงที่ทหารปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหนีตายข้ามพรมแดนเข้าไปในบังกลาเทศราว 740,000 คน

ในช่วงที่ผู้สื่อข่าวทั้งสองสืบหาข่าวเกี่ยวกับการสังหารหมู่ดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2017 ตำรวจเมียนมาได้นัดให้คนทั้งสองไปรับเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นได้เข้าจับกุมพร้อมกับยึดเอกสารเหล่านั้นเป็นของกลางในการดำเนินคดี

กองทัพเมียนมายืนยันว่า ปฏิบัติการในรัฐยะไข่เป็นไปโดยชอบธรรม เพราะทหารจำเป็นต้องกวาดล้างนักรบชาวโรฮิงญา อย่างไรก็ดี ทหารชุดที่ก่อเหตุสังหารหมู่ ซึ่งผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สพยายามรวบรวมข้อมูล ได้ถูกลงโทษจำคุกในเวลาต่อมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา มีนักการทูตจากหลายประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ภายหลังการประกาศคำพิพากษา หัวหน้าคณะผู้แทนของสหประชาชาติประจำเมียนมา คนุต ออสบี กล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวัง และบอกว่า ยูเอ็นจะเดินหน้าเรียกร้องให้เมียนมาเคารพเสรีภาพสื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชนต่อไป

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชียออกแถลงการณ์ว่า วา โลน และ จ่อ โซ อูไม่ควรถูกจับเลยตั้งแต่ต้น และไม่ควรถูกดำเนินคดีจากการทำงานของตัวเองในฐานะผู้สื่อข่าวสืบสวน การที่พวกเขายังอยู่ในเรือนจำแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยของเมียนมาภายใต้การนำของอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมากำลังเดินไปผิดทาง

โรเบิร์ตสัน กล่าวต่อว่า น่าเศร้าที่เมื่อพูดถึงเรื่องเสรีภาพสื่อ ทั้งรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนเมียนมายังมุ่งมั่นที่จะขัดขวางการตั้งคำถามต่อการบริหารประเทศที่ผิดพลาดและการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต่างกัน และผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนนี้เป็นเพียงเหยื่อที่โด่งดังที่สุดของการกดขี่เสรีภาพสื่อ ซึ่งกำลังแพร่กระจายไม่ทุกส่วนของประเทศ

ที่มา : BBC, Human Right Watch Myanmar

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :