ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ก.ย. 2565 ได้อนุมัติการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 2 รายการ ประกอบด้วย
1) งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 986.452 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโควิด19 ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วในช่วงเดือน ต.ค. 64-มิ.ย. 65 และได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 65 วงเงิน 12,123.109 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ จึงได้จัดสรรงบกลาง เพิ่มเติมในครั้งนี้
สำหรับโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ และได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเติมในครั้งนี้มี 5 โครงการ ประกอบด้วย 1)โครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่:กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2) โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ของกรมการแพทย์
3)โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยโควิด19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4)โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ของกรมสุขภาพจิต และ5)โครงการสนับสนุนการจัดบริหารทางการแพทย์และสาธารณสุขรองรับการระบาดของโควิด19 ของกรมอนามัย
2) งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 365.681 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคโควิด19 สำหรับหน่วยบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2565
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด19 ได้ดีขึ้นตามลำดับแต่กระทรวงสาธารณสุขมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคโควิด19 ที่อาจยังมีการระบาดในระดับคลัสเตอร์ขนาดเล็ก ปานหลางหรือใหญ่ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องจัดหายารักษาโควิด19 ให้ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในในทุกระดับ
โดยในเดือนมี.ค. 65 กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรงบประมาณงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1,795.71 ล้านบาท ล้านบาทเพื่อดำเนินการจัดซื้อยารักษาโควิด19 และดำเนินการเบิกจ่ายเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่เพียงพอจึงได้จัดทำโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 สำหรับหน่วยบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พงศ. 2565 และขอรับสนับสนุน เงินงบประมาณ 365.681 ล้านบาทข้างต้น
สำหรับวงเงินงบประมาณ 356.681 ล้านบาทจะจัดซื้อยารักษาโควิดประกอบด้วย การจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ 25.739 ล้านเม็ด วงเงินรวม 355.031 ล้านบาท ยาโมลนูพิราเวียร์ 1.03 ล้านเม็ด วงเงิน 10.493 ล้านบาท และยาเรมเดซิเวียร์ 1,220 ขวด วงเงิน 156,648 บาท
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ฉบับที่ 2 ซึ่งจะมีผลให้การใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP สำหรับผู้ป่วยโควิด19 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จะครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดง
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด 19 ของไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) ซึ่งการใช้สิทธิ UCEP ต้องกลับเข้าสู่ระบบปกติ รวมถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันด้วย
ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยโควิด19 ซึ่งใช้สิทธิ UCEP ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป ได้มีการปรับปรุงในหลายส่วน อาทิ การกำหนดให้ยกเลิกค่าจ่ายบางรายการในหมวดค่าห้องและค่าอาหาร ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา
รวมถึงกำหนดให้ กรณียา Molnupiravir Remdesivir และ Nirmatrelvir/ritonavir ให้เบิกยาหรือค่าใช้จ่ายจากกองทุนของผู้มีสิทธิ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กองทุนของผู้มีสิทธิกำหนด
นอกจากนี้ ให้กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ต่อไป
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,100.61 ล้านบาท สำหรับโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สําหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ประกอบด้วย อสม. จำนวน 1,039,729 คน และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน 10,577 คน รวมทั้งสิ้น 1,050,306 คน ในอัตรา 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 4 เดือน
ตั้งแต่เดือน มิถุนายน - กันยายน 2565 รวมเป็น 2,000 บาท/คน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยังไม่ยุติและยังจำเป็นต้องสนับสนุนบทบาทของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ระยะ Post - Pandemic จึงได้มีการเสนอค่าตอบแทน อสม. ตามช่วงระยะเวลาจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565
ทั้งนี้ การอนุมัติรายการค่าใช้จ่ายให้ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ในชุมชนตั้งแต่ ต.ค. 64 - ก.ย. 65 (ระยะเวลา 12 เดือน) รัฐบาลอนุมัติงบเป็นค่าตอบแทน อสม. และ อสส. รวมท้ังส้ิน 6,301.83 ล้านบาท หรือ คิดเป็นการให้ค่าเสี่ยงภัยเฉลี่ยรวม 6,000 บาท/คน