วันที่ 19 เม.ย.66 เวลา 10.00น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวน กรณี กกต.ทั้ง 6 คน เดินทางไปทัวร์ตรวจการเลือกตั้งในต่างประเทศพร้อมๆกัน ในขณะที่การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ภายในประเทศมีปัญหามากมาย แต่ กกต.กลับเลือกที่จะไปทัวร์ตรวจการเลือกตั้งในต่างประเทศ ทำให้ประชาชนและนักการเมืองต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ก่อให้เกิดการเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง เข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 6 คนได้ถือโอกาสเดินทางไปต่างประเทศพร้อมๆ กันอีกในช่วงวันที่ 4-14 เม.ย.66 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าไปตรวจการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ปัญหาการจัดการเลือกตั้งภายในประเทศกำลังมีปัญหาให้ กกต.ทั้งคณะวินิจฉัยเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน อาทิ เรื่องเว็บไซต์ลงทะเบียนล่วงหน้าล่มในวันสุดท้ายในวันที่ 9 เม.ย.66 สุดท้ายก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ มีแต่คำขอโทษของเลขาธิการ กกต. รวมทั้งประเด็นข้อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ด้วย ทำให้การเลือกตั้งอาจเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาของชำร่วยที่นำติดตัวไปมอบให้สถานฑูต/อุปฑูตในประเทศต่างๆที่เดินทางไปตรวจเยี่ยม ซึ่งถูกครหาว่าจัดซื้อโดยวิธีเจาะจงถึง 2 ครั้งด้วยเงินจากภาษีของประชาชน 199,471 บาท โดยเฉลี่ยจะนำไปมอบให้ประเทศละกว่า 19,000 บาท ซึ่งเกินกว่า 3,000 บาท ขัดต่อประกาศของ ป.ป.ช.เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของพนักงานของรัฐ 2563 และหรือระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2565 หรือไม่
ที่สำคัญ มีข้อพิรุธอีกประการหนึ่งคือ การเดินทางไปตรวจการเลือกตั้งที่ประเทศเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ของปกรณ์ มหรรณพ หนึ่งใน กกต.นั้น 2 ประเทศดังกล่าวปกรณ์เคยไปตรวจการเลือกตั้งเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 มาครั้งหนึ่งแล้ว ทำไมต้องไปตรวจซ้ำอีก มีอะไรพิเศษนอกเหนือกว่าการไปตรวจเลือกตั้งหรือไม่ หรือสถานฑูต 2 ประเทศดังกล่าวไร้ประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้งต่างแดนจนต้องให้ กกต.หน้าเดิมมาสอนทุกการเลือกตั้งหรือไม่
ข้อพิรุธต่างๆ ดังกล่าว ไม่ควรปล่อยผ่านเลยไป ก่อนที่ กกต.คณะนี้จะหมดวาระลงไปในอีก 2 ปีข้างหน้า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวนเอาผิดหากวินิจฉัยว่าเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และอาจฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงในวันนี้