นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเวลานี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ประชาชนในบางพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด จำเป็นต้องมีการเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี เพราะน้ำฝนจัดว่าเป็นน้ำที่สะอาด แต่ก็สามารถเกิดสิ่งสกปรกได้ง่ายเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของสถานที่ตั้งบ้านเรือน หลังคา และภาชนะเก็บกักน้ำฝน โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม การจราจรหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศ ล้วนมีความเสี่ยงจากฝุ่นละอองไอจากท่อไอเสีย ควันจากโรงงาน เพราะอาจทำให้เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและสารเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลคือซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนที่จะปนเปื้อนกับน้ำฝนที่ตกลงมา เกิดเป็นภาวะฝนกรดคือมีค่าพีเอชต่ำกว่า 5.6 ที่เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งก่อสร้างอย่างมาก
ข้อมูลการเก็บคุณภาพน้ำฝนของกรมอนามัย พบว่า น้ำฝนที่เก็บจากภาชนะเก็บน้ำฝนในครัวเรือน ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552-2561 มีคุณภาพผ่านเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ 23.39 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนมากพบปนเปื้อนแบคทีเรีย ส่วนสี ความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง พบบ้างเล็กน้อย
ทั้งนี้ ไม่ควรรองรับน้ำฝนที่ตกในช่วงแรก ๆ ควรปล่อยให้ฝนตกสักระยะหนึ่งก่อนเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศและหลังคาให้สะอาด ดังนั้น ก่อนการเก็บน้ำฝนไว้ใช้ ควรเริ่มจากการทำความสะอาดรางรับน้ำฝน และภาชนะเก็บน้ำให้พร้อมใช้งาน ส่วนภาชนะใช้รองรับน้ำฝนก็ต้องล้างให้สะอาด ปิดด้วยมุ้งพลาสติก และ ปิดภาชนะให้มิดชิด เพื่อให้มั่นใจก่อนนำน้ำฝนมาดื่มควรนำไปฆ่าเชื้อโรคด้วยการต้มในน้ำเดือดอย่างน้อยประมาณ 10 นาที เป็นการลดอัตราเสี่ยงจากการเจ็บป่วยเนื่องจากน้ำเป็นสื่อ อาทิ โรคระบบทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง เป็นต้น