ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนาตรวจโผ ครม.ประยุทธ์ 2 อัด “อุตตม” หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีทุจริตกรุงไทย รอดคดีแถมได้เป็นรัฐมนตรีต่อเนื่อง “ธีระชัย” อดีต รมว.คลัง ห่วง “พล.อ.ประยุทธ์” ตั้งรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ กระทบภาพลักษณ์รัฐบาล

คณะกรรมการตรวจสอบภาคประชาชน และเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมด้วยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมจัดงานเสวนา ในหัวข้อ “ตรวจสอบโผรายชื่อคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 กับเสียงสะท้อนของประชาชน”

นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ บอกว่า การเสวนาวันนี้จะพุ่งเป้าไปที่การวิพากษ์วิจารณ์นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มีชื่ออยู่ในตำแหน่ง รมว.คลัง เหตุผลที่มีการพูดถึงนายอุตตม เพราะเขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่ในคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ 9 พันล้านบาทให้กับบริษัทกฤษดามหานคร

vdbv_1.jpg

นายวันชัย บุนนาค ทนายความและนักวิชาการด้านกฎหมายอิสระ กล่าวว่า การอนุมัติสินเชื่อที่นำไปสู่การทุจริตวงเงิน 9 พันกว่าล้านบาท พบความผิดปกติในหลายเรื่อง แต่หนึ่งในนั้นคือเรื่องของคณะกรรมการที่มีอำนาจลงนามในการอนุมัติสินเชื่อที่มีทั้งหมด 5 คน มีชื่อของนายอุตตมร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ที่มีการอนุมัติสินเชื่อจนนำไปสู่การตรวจสอบทุจริต รายงานการประชุมวันดังกล่าว มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า นายอุตตมเข้าร่วมประชุม และไม่ได้แสดงความเห็นคัดค้าน พร้อมร่วมลงนามในการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวด้วย แต่เมื่อคดีนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้ต้องหา คณะกรรมการอนุมัติสินเชื่อชุดนี้ กลับถูกดำเนินคดีเพียง 3 คน โดยคณะกรรมการ คตส. ที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้รับสำนวนคดีมาสืบสวนต่อ จนกระทั่งมีมติเห็นว่า นายอุตตม ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด ส่วนนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อีกหนึ่งคณะกรรมการก็ถูกกันตัวไว้เป็นพยานในคดีตั้งแต่แรก

nbrtn_1.jpg
  • วันชัย บุนนาค ทนายความและนักวิชาการด้านกฎหมายอิสระ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากการจัดทำโผคณะรัฐมนตรียุติแล้วตามคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีชื่อนายอุตตม เข้าไปเป็น รมว.คลัง ในฐานะที่ตัวเองเป็นอดีต รมว.คลัง ขอพูดด้วยความห่วงใยว่า หากมีรัฐมนตรีที่มีลักษณะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเข้าไปทำหน้าที่จะทำให้ ครม.มีปัญหา โดยคำพิพากษาคดีปล่อยกู้กรุงไทยตอนหนึ่งได้บรรยายพฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความไม่ชอบมาพากล โดยระบุว่า คณะกรรมการบริหารที่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ มีเจตนาช่วยเหลือให้จำเลยที่ 19 คือ บริษัทกฤษดามหานครฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อ 9,900 ล้านบาท มิได้รักษาประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย มีเจตนาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มจำเลยที่ 19 ได้รับเงินจากผู้เสียหาย เพื่อนำไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 20 หากอ่านข้อความตามความเข้าใจของตัวเอง ศาลกำลังบอกว่า มีพฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ดี และรู้ดีอยู่แล้วที่จะไม่ควรอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งศาลพูดถึงคณะกรรมการบริหารที่มีอยู่ 5 คน หากอ่านตามนี้ กรณีการดำเนินการของนายอุตตม ก็ต้องอยู่ในข่ายโดนวิพากษ์วิจารณ์ในคำพิพากษาของศาล และทำให้รู้สึกว่าหลุดจากคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ เพราะมาตรา 160 แห่งรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้นการแต่งตั้งบุคคลลักษณะนี้ไปเป็นรัฐมนตรี ไม่เคารพ ไม่สนใจต่อกฎหมาย และยังไม่พูดถึงว่าเป็นการตั้งบุคคลลักษณะนี้จะเข้าข่ายลบหลู่ดูหมิ่น 3 สถาบันหลักหรือไม่ 

tee_1.jpg
  • ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินคดีไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการบริหารที่มี 5 คนผิดแน่นอน แต่กลับมีปัญหาที่ว่า นายณรงค์ชัย และ นายอุตตม กลับถูกกันตัวไว้เป็นพยาน และขึ้นเบิกความเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 โดยคำพิพากษาคดีนี้ยังพบด้วยว่าคำให้การของ 2 คน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับที่ศาลชี้ว่ากรรมการบริหารที่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อมีความผิด เพราะพยานหลักฐานจากแหล่งข้อมูลอื่นถือว่ามีมมากพออยู่แล้ว

ขณะเดียวกันเชื่อว่าคดีนี้มีเป้าหมายที่ต้องการโยงถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นจำเลยที่ 1 จึงต้องการให้ นายชัยณรงค์​และ นายอุตตม ให้การเชื่อมโยงไปถึงนายทักษิณ ซึ่งท้ายที่สุด คำให้การทั้ง 2 คนก็ไม่ได้ทำให้ศาลชี้ได้ชัดเจนว่า “ซูเปอร์บอส” ที่ถูกพูดถึงคือ นายทักษิณ เรื่องนี้จึงไม่ชอบพามาก และต้องย้อนกลับไปดูว่า คดีนี้ที่เริ่มต้นตั้งแต่ ป.ป.ช. ก่อนถูกส่งต่อให้คณะกรรมการ คตส.ในช่วงที่มีการรัฐประหาร 2549 กระทั่งนำไปสู่การพิจารณาในชั้นศาลในที่สุด ใครเป็นคนเห็นว่าจะไม่ดำเนินคดีกับนายชัยณรงค์ เพื่อกันตัวไว้เป็นพยาน และใครที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายอุตตม ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นจำเลยที่ 19 ในชั้นสอบสวนของ คตส.

panas_1.jpg
  • พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายพนัส กล่าวด้วยว่า แม้ว่าศาลจะพิพากษาคดีนี้ไปแล้ว แต่ส่วนตัวเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้เสียหายยังสามารถรื้อฟื้นคดีได้อีก ซึ่งการขอฟื้นคดี ต้องมีหลักฐานใหม่ไปนำเสนอ โดยกรณีนี้หลักฐานใหม่ คือ คำพิพากษาคดีนี้ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจนถึงที่สิ้นสุดแล้ว เพราะมีข้อมูลที่ชี้ชัดเจนว่า นายอุตตม และ นายณรงค์ชัย ต้องถือเป็นผู้กระทำความผิดร่วมด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :