ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ที่มีความล่าช้า อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับในวาระ 2-3 ได้ ว่า วิปรัฐบาลคิดเบื้องต้นคือร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ เมื่อกำหนดให้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนจะต้องพิจารณาเรียงลำดับมาตรา สมาชิกรัฐสภาที่สงวนความเห็นหรือแปรญัตติไว้ ก็สามารถอภิปรายได้ ประกอบกับร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มีการแก้ไขถึง 70 มาตรา จาก 172 มาตรา ก็ต้องให้สมาชิกสามารถที่จะแสงความคิดเห็นได้ และยังมีหมวดที่มีความคิดเห็นก่ำกึ่งกันในชั้นกมธ.เช่นหมวดเรื่องโครงการ หมวดเรื่องตำแหน่งการโยกย้ายและการแต่งตั้ง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร เมื่อเป็นเช่นนี้การพิจารณา 2 วันที่ผ่านมา จึงได้เพียง 13 มาตรา
เมื่อถามว่า มีการมองกันว่าการที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ล้าช้าเพราะต้องการยื้อให้การพิจารณากฎหมายลูกล้าช้าออกไป ชินวรณ์ กล่าวว่า เข้าใจว่าประธานรัฐสภาก็จะต้องเปิดโอกาสและสิทธิให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปราย เราจะไปคาดหวังว่าจะให้เสร็จในวันที่ 16-17 มิ.ย.นี้คงจะยากหน่อย อย่างไรก็ตาม คิดว่าสมาชิกรัฐสภาคงให้ความร่วมมือกับประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภา ที่ขอให้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ถ้ามีประเด็นใดที่มีความคิดเห็นซ้ำซ้อนกันก็ไม่ต้องพูดก็ได้ หรือในประเด็นที่เกี่ยวโยงกับมาตราที่ได้มีการแก้ไขในประเด็นหลักแล้ว ประเด็นย่อยก็ไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นแล้ว หรือหาก กมธ.ก็ไม่จำเป็นต้องชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดก็ได้ เพราะได้ชี้แจงไปแล้วในชั้น กมธ.
“หากเป็นอย่างนี้คิดว่าการอภิปรายในช่วงหลังน่าจะเร็วขึ้น ถ้าสมาชิกรัฐสภาให้ความร่วมมือ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ก็น่าเสร็จในวันที่ 17 มิถุนายนได้ ขณะนี้วิปรัฐบาลได้ให้สัญญาณกับสมาชิกฯ ให้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายลูก ในวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้แล้ว แต่หากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ไม่เสร็จในวันที่ 17 มิถุนายนก็ต้องขยายเวลาการพิจารณาไปเรื่อยๆ จนเสร็จ เพราะตามข้องบังคับต้องพิจารณาในระเเบียบวาระต่อเนื่องต่อไป และพ.ร.บ.ตำรวจ เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น ก็ต้องให้สมาชิกอภิปรายด้วย” ชินวรณ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แก้ไขมาตรา 172 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่เสนอโดยภาคประชาชน จะสามารถเข้าที่ประชุมรัฐสภาได้วันไหน ชินวรณ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการหารือกับวิปรัฐบาล แต่อยู่ในระเบียบวาระแล้วโดยจะพิจารณาต่อเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ส่วนจะเป็นวันไหนนั้น ประธานรัฐสภาคงประสานหารือกับวิป 3 ฝ่ายอีกครั้ง
ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ให้สัมภาษณ์จุดยืนของกลุ่มพรรคเล็กในการต่อสู้เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 ในวาระ 2-3 ว่า บทบาทของพรรคเล็กทั้งในและนอกสภา ประมาณ 42 พรรค มีมติออกมาว่าจะยื่นหนังสือเรียกร้องให้พรรคใหญ่ที่จะสนับสนุนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยหารด้วย 500 ด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่ว่าพรรคเล็กแต่เพื่อบ้านเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 ที่ก่อให้เกิดเผด็จการรัฐสภา เกิดเป็นพรรคการเมืองผูกขาด
นพ.ระวีกล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร, พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เพื่อต้องการจะให้พรรคต่างๆ รับทราบว่า พรรคเล็กมีเจตนารมณ์เช่นนี้ เห็นแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่ากลัวว่าพรรคเล็กจะสูญพันธุ์แต่อย่างไร และไม่ได้หวังผลอะไร โดยจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 16 มิ.ย. และเซ็นชื่อในหนังสือที่จะส่งถึงบุคคลต่างๆ ที่กล่าวถึง รวมถึงจะมีการนัดหมายและแบ่งกันว่าใครจะไปยื่นหนังสือถึงใคร อย่างไร และจะไปยื่นที่ไหน
ด้าน คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์บัญชีรายชื่อ( ส.ส.) ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย กล่าวถึงการประชุมพรรคเล็กในสภาและนอกสภา 82 พรรค ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 มิ.ย. นี้ว่า จะมีการหารือเรื่องการคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยใช้สูตร 500 หาร และ 100 หาร ซึ่งพรรคเล็กทั้ง 82 พรรคการเมือง เห็นด้วยกับการใช้สูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 500 หาร เพราะทุกเสียงมีประโยชน์ มาจากประชาชน และเสียงไม่ตกน้ำ ส่วนใช้สูตร 100 หาร ไม่ตอบโจทย์ ไม่สะท้อนปัญหาของประชาชน
คฑาเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่า พ.ร.ป. กฎหมายลูก วาระ 2 และ 3 จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ปลายเดือน มิ.ย. 65 ถ้า สภามีมติใช้ 100 หาร พรรคเล็ก จำนวน 82 พรรค จะเดินหน้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป
คฑาเทพ กล่าวถึง การโหมกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลว่า หากสภามีมติให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้สูตร 100 หาร พรรคใหญ่ เพื่อไทย เป็นรัฐบาลก็จะเกิดเผด็จการรัฐสภาพวกมากลากไปฝ่ายค้านตรวจสอบไม่ได้ เหมือนอดีตที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการเมืองผู้คนจะลงถนนประท้วงวุ่นวาย สุดท้ายจบลงที่ทำรัฐประหารอีกครั้ง