ไม่พบผลการค้นหา
ไม่เพียงแต่ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราชบุรี จะโดนยาแรงเพิกสิทธิเลือกตั้ง10 ปี และตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตลอดชีวิต ฐานฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง กรณีรุกพื้นที่ป่าสงวน และกรณีร้องเรียน "70 ส.ส.-ส.ว." ที่ถือครองที่ดินและฐานความผิดในลักษณะเดียวกัน จนถูกตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม และความเหมาะสมในการตัดสิทธิผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งอย่างรุนแรง

'วอยซ์' ตรวจสอบย้อนหลัง พลิกกลับไปดูชะตาผู้แทนประชาชนที่ผ่านมา ซึ่งต้องโดนโทษแบนทางการเมือง จากอิทธิฤทธิ์ 'รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560' ที่ยกร่าง โดย 'มีชัย ฤชุพันธุ์' ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี60 ตามฐานความผิดที่กำหนดไว้อย่างรุนแรง พบว่า มี ส.ส. หลาราย ต้องสังเวยให้กับ "กติกาคนดี" ที่มาจากการร่างในยุคสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนี้

เริ่มจากต้นปี 2563 พรรคอนาคตใหม่ ประเดิมถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค เนื่องจากการกู้ยืมเงิน ธนาธร อดีตหัวหน้าพรรค เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ส่งผลให้กรรมการบริหาร 16 คน ซึ่งเป็น ส.ส. 11 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารปี 2557 ไม่ถึงหนึ่งปี 

โดย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 11 คนของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิ ได้แก่

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ , ชำนาญ จันทร์เรือง ,พงศกร รอดชมภู ,ปิยบุตร แสงกนกกุล , ,เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ,สุรชัย ศรีสารคาม

เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ ,จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ,นิรามาน สุไลมาน ,พรรณิการ์ วานิช , และ ไกลก้อง ไวทยาการ

ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้พ้น ส.ส.ไปก่อนยุบพรรค

อีก 4 คนเป็นกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ แต่ไม่ได้เป็น ส.ส. ประกอบด้วย นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค , ชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรค ,สุนทร บุญยอด กรรมการบริหารพรรค และรณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรค

AFP-อนาคตใหม่แถลงกรณีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคคดีเงินกู้ 21 ก.พ.2563ธนาธร-ปิยบุตร-ยุบพรรค-ถอดเข็มขัด-อนาคตใหม่อนาคตใหม่ ยุบพรรค 21.jpg

ถัดมาเป็นรายของ นาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้มีความผิดฐานแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี แต่การถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ถูกตัดสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ทั้งระดับชาติและท้องถิ่นตลอดไป

สำหรับพรรคเพื่อไทย มีกรณีที่ถูกตัดสิทธิ คือ นวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ เนื่องจากถูกจำคุกระหว่างการดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะต้องถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต เนื่องจากเป็นคดีอาญาร้ายแรงตาม มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 2560

ส่วน สุรพล เกียรติไชยากร ส.ส.เชียงใหม่ ถูก กกต. แจกใบส้มเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี แต่ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้พิพาษายกคำร้องของ กกต.ที่แจกใบส้ม และ กกต.ก็ไม่ได้คืนสิทธิ ส.ส.ให้กับ สุรพล แต่อย่างใด

ด้านพรรคประชาธิปัตย์มี เทพไท เสนพงศ์ ต้องพ้นสถานะ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ตามคำร้องจาก กกต. ภายหลัง เนื่องจากคำร้องดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก เทพไท 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ในคดีการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.

เทพไท เสนพงษ์

ด้าน พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ก็ถูกศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาลับหลัง ยืนโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 200 บาท ไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายจับเอาตัวมารับโทษ

ซึ่ง พ.ต.ท.ไวพจน์ เป็นจำเลยในคดีร่วมกันชุมนุมล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ซึ่งมีผลให้ พ.ต.ท.ไวพจน์ ต้องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะต้องคำพิพากษาของศาลให้จำคุก

ไวพจน์

ขณะที่ บรรดาแกนนำ กปปส. 5 คน ที่มีสถานะ ส.ส.ต้องพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ในคำร้้องที่ กกต.ขอให้ศาลตีความสถานะ ส.ส. ของ ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อิสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ขณะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งเป็นผลจากกรณีที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในคดีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างรออุทธรณ์ฎีการะหว่างวันที่ 24-26 ก.พ. 2564 เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าอดีตแกนนำ กปปส.ทั้ง 5 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

อีกทั้ง ชุมพล อิสสระ และณัฏฐพล ต้องคำพิพากษาศาลอาญาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปีด้วย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. 3 คนสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และ 96 (2)

สุเทพ กปปส.สุเทพ พุทธิพงษ์ ชุมพล วิทยา กปปส ม็อบ _Hkg9272063.jpgกปปส สุเทพ ชุมพล พุทธิพงษ์ ณัฏฐพล 74.jpg

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา 101 (6) ประกอบมาตา 98 (10) หรือไม่ จากกรณี สิระ เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวันว่า กระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งผู้เข้าชื่อเสนอคำร้องเห็นว่า ผลคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ทำให้ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ สิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(10) นับตั้งแต่วันเลือกตั้งคือวันที่ 24 มี.ค.2562 และให้ถือว่าวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยคือวันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง โดยให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน

โดยกรณีของ สิระ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว บัญญัติว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว กล่าวคือ ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มิใช่ว่า ต้องไม่มีอยู่ในขณะรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องไม่มีตลอดระยะเวลาที่เป็น ส.ส.ด้วย หาก ส.ส.ผู้นั้นมีเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติเป็นลักษณะต้องห้ามเมื่อใดย่อมต้องทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงทันที 

สิระ อภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐสภา.jpg

ตลอดระยะเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงหลังเลือกตั้ง ปี 2562 ภายการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 พรรคการเมืองและผู้แทนปวงชนชาวไทย ถูกทำลายและตัดสิทธิทางการเมืองจากยาแรงไป 1 พรรค และมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 10 รายที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

และยังไม่มีทีท่าว่า จะจบลงแค่นี้ ถึงแม้ในฐานความผิดทางอาญาร้ายแรงหรือทุจริตการเลือกตั้งจะดูสมเหตุสมผล ทว่าก็มีข้อถกเถียงว่า ควรปล่อยให้การพิพากษา ส.ส. คือ อำนาจของประชาชนที่จะใช้สิทธิแสดงออกผ่านการเข้าคูหานั้นหรือไม่ 

น่าสังเกตอีกว่า การบังคับใช้รัฐธรรมนูญในระหว่าง-หลังการรัฐประหาร มักจะเกิดเหตุยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองอย่างรุนแรง เฉกเช่นบ้านเลขที่ 109 และ111 ของพรรคพลังประชาชน และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งยังไม่นับรวมพรรคไทยรักษาชาติในปี 2562 ที่ต้องสะดุดถูกปิดฉากลงไปอย่างน่าเสียดาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง