วันที่ 21 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระเรื่องด่วนการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอให้ทำประชามติความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับญัตติดังกล่าว
หลังเสร็จสิ้นการอภิปราย สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติดังกล่าว ได้กล่าวชี้แจงข้อซักถามของสมาชิก โดยย้ำว่า ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอมานั้น ไม่ใช่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เสนอให้ล้มฉบับเดิม แล้วร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีกรอบใดๆ จะตัดเอามาตราใดออกไปก็ได้
พร้อมกันนั้น ตนได้ฟังคำชี้แจงจากทั้ง กกต. และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตตินี้มา ก็ล้วนยืนยันว่าต้องทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง งบประมาณเบ็ดเสร็จที่ต้องใช้อาจถึง 15,000 ล้านบาทจนจบกระบวนการ
สมชาย ยังชี้แจงด้วยว่า คำถามประชามติที่แนบท้ายญัตติมานั้น มีการกล่าวถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้ ไม่ได้เอ่ยถึง ส.ส.ร.เลย คำถามแนบท้ายดังกล่าวนี้จึงอาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเอง จนอาจเป็นเหตุให้ ครม. ไม่สามารถดำเนินการทำประชามติได้
จากนั้นเวลา 13.08 น. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าทีีประธานการประชุมขณะนั้น ได้ขึ้นบัลลังก์กดออดเรียกสมาชิกมาแสดงตนเพื่อใช้สิทธิลงคะแนน ว่าจะเห็นชอบกับญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอให้ทำประชามติความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
โดยผลการลงมติ เห็นชอบ 11 เสียง ไม่เห็นชอบ 157 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ได้ลงคะแนน 1 เสียง จากผู้ลงมติทั้งหมด 174 คน เท่ากับที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้รัฐสภาส่งญัตติเสนอการออกเสียงประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ ครม. ดำเนินการ