ดร. นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ตฺลาคม 2567 ว่า ได้หารือกับนายอับดุลเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย โดยตนและท่านทูตต่างยินดีกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีพัฒนาการเชิงบวกอย่างมากนับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การเชื่อมโยงของประขาชน การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2566 ชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมายังประเทศไทย ราว 1.78 แสนคน
และในมิติการค้านั้น การค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้าที่มิใช่น้ำมัน (non-oil trade) และยังมีศักยภาพในการขยายตัวเพิ่มเติมอีกมาก และหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจที่จะสนับสนุนการขยายโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในซาอุดิอาระเบีย นั้นคืองาน Thailand International Mega Fair 2024 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2567 โดยงานดังกล่าวเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยในซาอุดิอาระเบีย โดยจะมีแบรนด์ไทยกว่า 200 บริษัทเข้าร่วม และคาดว่าจะมีผู้ซื้อเข้าร่วมงานกว่า 12,000 คน
ดร.นลินี แทนการค้าไทย เปิดเผยเพิ่มว่า ท่านทูตได้หารือถึงโอกาสในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะโอกาสของนักลงทุนไทยจากแผนวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030 (Saudi Vision 2030) ซึ่งรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศมากขึ้น สำหรับภาคส่วนที่นักลงทุนไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นนั้น ประกอบด้วย การก่อสร้าง พลังงานทดแทน ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการแพทย์ ซึ่งในปัจจุบันได้มีโรงแรมไทย อาทิ เครือ Minor hotels, Dusit หรือ Banyan Group ไปเปิดบริการหรืออยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ
นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียยังได้มีการพัฒนาเกาะจำนวน 22 เกาะในทะเลแดงไว้รองรับการพัฒนาเป็นโรงแรมที่พักอีกด้วย ในขณะที่อาหารไทย รวมถึงวัตถุดิบ และเครื่องปรุงของไทยก็ยังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในซาอุดิอาระเบีย รวมถึงธุรกิจการส่งต้นไม้ล้อมจากประเทศไทยไปยังซาอุฯ เพื่อตอบโจทย์ Saudi Arabia Green initiative ที่ต้องการปลูกต้นไม้ 1 หมื่นล้านต้นภายในปี 2030
ดร.นลินี เผยอีกว่า ท่านทูตยังได้มีการหารือถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพลังงานระหว่างสองประเทศ โดยไทยสามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญให้กับซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ขณะที่ซาอุดีอาระเบียสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับไทย ตลอดจน แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการให้ทุนการศึกษาในต่างประเทศ และการพัฒนากีฬาและ E-sport
นอกจากนี้ ท่านทูตซาอุดิอาระเบีย ยังได้แจ้งว่า ในระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม จะมีงานสำคัญที่จะถูกจัดขึ้น โดยกองทุนเพื่อความมั่นคงของซาอุดิอาระเบีย (PIF) คืองาน Future Investment Initiative ครั้งที่ 8 โดยมีผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนรายสำคัญ เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน ซึ่งรูปแบบของการประชุม FII มีลักษณะคล้ายกับการประชุม World Economic Forum ที่ Davos และ ที่ผ่านมา ซาอุฯ มักใช้เวทีการประชุม FII ในการประกาศแผนการลงทุนในโครงการที่มีมูลค่าสูง และแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อปี 2566 ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าสำคัญ อันดับ 17 ของประเทศไทยในตลาดโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของประเทศไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง (รองจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) มูลค่าการค้าระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียเฉลี่ยอยู่ที่ 7,679.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 8,881.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ และอาหารทะเลกระป๋อง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ และปุ๋ย