ศูนย์ทนายความเพื่อสิทิธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญาพิพากษาคดี ม.112 ของ 'เก็ท โสภณ' จากกรณีการปราศรัยในกิจกรรมทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 65 เห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ศาลเห็นว่าจำเลยเอ่ยพระนามพระราชินีสุทิดา กล่าวโดยมีเจตนามุ่งหมายถึง ร.10 และพระราชินี ทำให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
นอกจานี้ศาลยังลงโทษข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน อยู่ระหว่างยื่นประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ทั้งนี้ข้อหาใช้เครื่องเสียง กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 200 บาท แต่ศาลกลับลงโทษจำคุกถึง 6 เดือน
ต่อมา 17.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัว "เก็ท" ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2-3 วัน ทำให้วันนี้เก็ทต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก การจัดกิจกรรมชุมนุมเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวาระครบรอบ 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่ม “มังกรปฏิวัติ” ได้จัดกิจกรรม “ทัวร์มูล่าผัว” โดยจัดทริปเที่ยวหนึ่งวันตามสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ (ฝ่ายซ้าย) และไหว้พระ ทำบุญ ขอพร ขอผัว ขอเมีย กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
กิจกรรมดังกล่าว ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวสกัดกั้น ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินขบวนไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ ตามที่วางแผนไว้ได้ และเกิดเหตุการณ์ใช้กำลังผลักดันกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม จนมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ
โสภณจึงปราศรัยผ่านโทรโข่งขนาดเล็ก จากเกาะกลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกล่าวพาดพิงถึงการไปทำบุญของพระราชินีสุทิดา และว่ากล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
วันที่ 24 เม.ย. 2565 อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ โดยกล่าวหาว่าโสภณกล่าวถ้อยคำที่ไม่สุภาพและไม่สมควร แสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้ต้องหาที่ต้องการลดคุณค่าของสมเด็จพระราชินีสุทิดาฯ อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เป็นการใส่ร้ายทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเกลียดชัง ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี
ต่อมาในวันที่ 1 พ.ค. 2565 เวลา 21.20 น. โสภณถูกชุดตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าแสดงหมายจับในคดีตามมาตรา 112 โดยไม่มีหมายเรียกมาก่อน ขณะกำลังเรียกแท็กซี่เพื่อเดินทางออกจากกิจกรรมวันแรงงาน ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และถูกนำตัวไปยัง สน.สำราญราษฎร์ ก่อนถูกย้ายไปสอบสวนต่อที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)
ในชั้นจับกุม โสภณได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม
วันรุ่งขึ้น (2 พ.ค. 2565) พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นระยะเวลา 12 วัน พร้อมคัดค้านการประกันตัว และต่อมาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโสภณ ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน
เวลา 15.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโสภณ โดยระบุว่า น่าเชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปกระทำการในทำนองเดียวกันนี้ หรือก่อภัยอันตรายประการอื่นอีก
ทำให้ขณะนั้น โสภณถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลากว่า 30 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 พร้อมถูกศาลตั้งเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 พนักงานอัยการอาญาพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 10 ได้สั่งฟ้องโสภณใน 2 ข้อหา ได้แก่ ป.อ. มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต