นางสาวชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมการบรรยายพิเศษและแลกเปลี่ยนพูดคุยกับนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ในหัวข้อ ‘ตัวแสดงทางการเมือง กับ การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ โดยยกตัวอย่าง 3 กรณีศึกษา ได้แก่ การเดินทางเยือนกัมพูชาในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยพร้อมกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะ การเดินทางเยือนเดนมาร์กในฐานะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม และการเดินทางเยือนออสเตรเลียในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับคำเชิญของสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย
นางสาวชญาภา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขยายโอกาส ดึงการค้าการลงทุนของต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากการเดินทางของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เป็นโอกาสที่ดีในการสื่อสารการดำเนินนโยบายของรัฐบาลให้แต่ละประเทศและแต่ละบริษัทเข้าใจ เพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามาลงทุน ถือเป็นการสร้างโอกาสสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน จากการส่งออกสินค้าไทย สามารถสร้างงานสร้างอาชีพในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย OFOS (One Family One Soft Power) สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับทุกครอบครัว
นางสาวชญาภา กล่าวว่า การเดินทางของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐาอธิบายได้ด้วยงานวิจัยทางวิชาการที่กล่าวว่า ผู้นำประเทศจำเป็นจะต้องไปเยือนต่างประเทศด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่
(1) การเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของการมีปฏิสัมพันธ์กันในระดับโลกทำให้การไปเยือนต่างประเทศของผู้นำประเทศด้วยตนเองนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาระดับความมั่นคงโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจของประเทศตนเองไว้
(2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มากขึ้นเอื้อให้การไปเยือนต่างประเทศทำได้ง่ายและประหยัดมากขึ้น จึงช่วยส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตแบบเจอกันต่อหน้า (face-to-face diplomacy)
(3) ผู้นำรัฐจำเป็นต้องทำให้ตนเองมีตัวตนที่เด่นชัดในสายตาชาวโลก
(4) การไปเยือนต่างประเทศด้วยตนเองของผู้นำประเทศ ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการผลักดันนโยบายของรัฐตนไปสู่ประเทศที่ไปเยือนได้
รัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร มุ่งมั่นจะสานต่อและยกระดับนโยบายต่างประเทศจากสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทั้งนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง Soft Power เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆเพื่อเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระบบทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral) และเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ยกระดับมาตรฐานของประเทศ เพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีโลกและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
“การไปเยือนต่างประเทศของผู้นำไทยทั้งในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาและของรัฐบาลนางสาวแพทองธารที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกเห็นถึงความเข้มแข็งและเสถียรภาพของรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นการดำเนินนโยบายอย่างมียุทธศาสตร์ซึ่งวางอยู่บนฐานของข้อมูลเชิงสถิติและงานวิชาการที่ชัดเจน” นางสาวชญาภากล่าว