นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. วันนี้ (17 ม.ค.) ได้พิจารณาเห็นชอบให้ไอแบงก์พ้นจากแผนฟื้นฟู เนื่องจากปัจจุบันฐานะทางการเงินของไอแบงก์ มีความแข็งแกร่งแล้ว หลังจากการเพิ่มทุนในช่วงปลายปี 2561
อีกทั้งในปี 2561 ที่ผ่านมา ผลประกอบการมีกำไรที่สูงกว่าแผนงาน ถึงแม้ยังหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Finance: NPF) จะสูงกว่าแผนเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นการทำกำไรครั้งแรกหลังจากประสบปัญหาการขาดทุนในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาธนาคารมีการพัฒนากระบวนการและระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการกำกับดูแล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในการสร้างความยั่งยืนทางการเงิน สู่การเติบโตของธนาคารในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 1/2562 จึงได้มีมติให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ ออกจากแผนฟื้นฟูและออกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร โดยมอบหมายให้ทางกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของธนาคารตามปกติต่อไป
จากนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับการให้บริการทางการเงินเพื่อสร้างความทัดเทียมในการให้บริการทางการเงินและเพิ่มความสะดวกสบาย โดยยังคงให้ความสำคัญ และยึดมั่นในพันธกิจในการให้บริการลูกค้ามุสลิม รวมทั้งพัฒนาบริการใหม่ๆ อย่าง Mobile Banking เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และสนองความต้องการของลูกค้า
"ปัจจุบันธนาคารมีผลการดำเนินงานกำไรสุทธิ เบื้องต้นกว่า 500 ล้านบาท (ณ สิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค. 2561) หลังจากขาดทุนมา 4 ปี ซึ่งหลังจากที่ธนาคารได้รับการเพิ่มทุนจำนวน 18,100 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย เมื่อช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นส่วนใหญ่ โดยกระทรวงการคลัง มีสัดส่วนที่ร้อยละ 99.59 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด" นายวุฒิชัย กล่าว
ทั้งนี้ หลังการรัฐประหาร พ.ค. 2557 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซุปเปอร์บอร์ด พิจารณาและจัดทำแผนบริหาร 56 รัฐวิสาหกิจ รวมถึงการกำหนดให้ 7 รัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนสะสม ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี แบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :