ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายค้าน ย้ำโหวตรับหลักการร่าง รธน. 7 ฉบับ อัด พปชร.จับมือ ส.ว.ยื่นศาล รธน. ถ่วงแก้ รธน. แนะนายกฯ บอกให้ล้มเลิกแนวคิดชงศาล รธน.

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐร่วมกันเข้าชื่อเพื่อขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับว่า มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นการซื้อเวลา ตนไม่อยากให้เกิดการยื่นเรื่องเช่นนี้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มีความชัดเจนว่าต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลต้องยุติเรื่องนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม แม้การยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นสิทธิ แต่สถานการณ์แบบนี้ไม่เหมาะสม ส.ว.ที่ยื่นก็เป็นหน้าเก่าๆ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในรัฐสภาขณะนี้ไม่ได้มีความซับซ้อน เพราะแต่ละร่างมีหลักการเดียวกัน จึงอยากเรียนไปยังพรรคพลังประชารัฐว่า การเมืองต้องเดินไปด้วยกันด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับกรณีที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เพราะมองว่ารับเงินจากต่างประเทศนั้น สมคิด กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์มาจากประชาชนกว่าแสนคน จะผิดถูกอย่างไรควรให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้ ฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเชื่อว่าได้ไม่เท่าเสีย ถอยดีกว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะสั่งไม่ได้ แต่สามารถไปบอกคนเหล่านี้ได้ ส่วนการโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับนั้นฝ่ายค้านจะโหวตรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ แต่ทราบมาว่ารัฐบาลจะไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกเรื่อง รวมถึงหมวด 1 และหมวด 2 ด้วย โดยรัฐบาลจะรับหลักการเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กระบวนการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นปรากฏมาโดยตลอด โดยเฉพาะท่าทีของ ส.ว. ซึ่งจุดประสงค์ของการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเท่ากับว่า พยายามใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาขยายแดนอำนาจ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายไม่ได้เลย เป็นการเปิดช่องให้ศาลล้วงลูกและจำกัดอำนาจของรัฐสภา

ทั้งนี้ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงมองอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการใช้กลไกกฎหมายเพื่อทำลายกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่า การเขียนรัฐธรรมนูญนั้นจะทำได้เฉพาะการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้นใช่หรือไม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้การเปลี่ยนด้วยสันติวิธีนั้นเกิดขึ้นได้ยาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง