ไม่พบผลการค้นหา
‘สุธรรม’ ชี้ กกต.ต้องรับผิดชอบการทำหน้าที่ด่วน เร่งทำให้เกิดความโปร่งใส หลังกฎเหล็ก 180 วันสร้างความคลุมเครือ ทำสังคมสิ้นหวัง

วันที่ 3 ต.ค. 2565 สุธรรม แสงประทุม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรองประธานสภาผู้แทนราษฏร ระบุเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ มีสาระสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้

1. ความคลุมเครือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่แล้ว มีหลายเรื่องที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่เรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ถึงการตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่ ปรากฎว่า พรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่งมากที่สุด ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่มีบัตรเขย่งทำให้มีพรรคเล็กได้สนับสนุนรัฐบาลที่มีที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ การประกาศผลการเลือกตั้งบางเขตมีปัญหา ในที่สุด คดีให้ใบแดงผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ศาลตัดสินให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องใช้หนี้เลือกตั้ง จากความผิดพลาด ดังกล่าว

2. ความยุติธรรม หลังจากการประกาศระเบียบของ กกต.ในเรื่อง 180 วัน ในการห้ามผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำเรื่องใด ปรากฎว่า ข้อจำกัดต่างๆ ที่แจ้งมา ไม่มีความชัดเจน คนของรัฐบาลทำได้ แต่ฝ่ายค้านทำไม่ได้ สิ่งที่ควรทำ กลับไม่ได้ทำ เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต ควรทำทันทีที่ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี และเมื่อมีระเบียบระยะ 180 วันแล้ว ควรให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเตรียมตัว กลับเก็บเรื่องเขตเลือกตั้งไว้ให้เป็นปัญหาเหมือนในปี พ.ศ. 2562 ที่มีข้อครหาว่า ใครสนับสนุนพรรคของคณะผู้ยึดอำนาจ มีโอกาสเลือกเขตเลือกตั้งที่ต้องการ ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ สังคมเริ่มสิ้นหวังกับคำว่า “ยุติธรรม” ดังจะเห็นจากเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา กกต.ควรทำหน้าที่ให้สังคมเชื่อมั่นในเรื่องนี้

3. ความสิ้นหวัง ในสถานการณ์หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ปรากฎว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กฎหมายฉบับนี้ ตกเป็นโมฆะ ย่อมส่งผลต่อการเลือกตั้ง ประชาชนอาจทำใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ต่ออายุให้นายกรัฐมนตรีได้อยู่ต่อไป แต่เมื่อครบวาระของสภาผู้แทนราษฏร 4 ปี ย่อมต้องมีการเลือกตั้ง หรือในกรณียุบสภาหลังการประชุมเอเปค จะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต. จะต้องแสดงความชัดเจนว่า จะทำอย่างไร ถ้ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจะรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งอย่างไร ทุกวันนี้ สิ่งที่ไม่แน่นอน

“ศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนคนขับรถที่ชอบขับรถคร่อมเลน คนปกติเขาขับรถอยู่ในเลน แต่เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากคนที่ขับรถคร่อมเลน อันตรายมากๆ คนอื่นต้องปล่อยให้รถประเภทนี้ ขับไปตามใจ ใครที่กล้าขับรถคร่อมเลนมักจะทนงตัว อวดเก่ง ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องสร้างความมั่นใจให้เห็นว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นและเป็นโอกาสให้ประชาชนมีความหวังในการเปลี่ยนรัฐบาล”

สุธรรม กล่าวว่า ในสมัยที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของอินเดีย ซึ่งมี กกต. เพียงคนเดียว สามารถจัดการการเลือกตั้งในประเทศที่มีประชากร 1,300 คน ได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่ ประเทศไทยมี คณะกรรมการการเลือกตั้ง ถึงจำนวน 7 คน ควรทำงานให้รอบคอบ รัดกุม ชัดเจน ไม่ทำให้สังคมสับสนหรือสร้างปัญหาใหญ่เป็นความขัดแย้งของบ้านเมือง

สุธรรม ยังเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมรับผิดชอบในการทำหน้าที่ตามกฎหมายให้ชัดเจน ตลอดจนเตรียมการรับผลร้ายจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้