ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าวเดอะการ์เดียน รายงานว่าบรรดานักบินไม่ประสงค์ออกนามแสดงความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง หลังพบว่าระบบดับเพลิงมีโอกาสทำงานผิดปกติ

ทางโบอิ้ง บริษัทเจ้าของอากาศยานที่ถูกพาดพิง ได้แจ้งเตือนไปยังสายการบินต่างๆ ซึ่งใช้เครื่องบินโบอิ้ง 787 หรือ ดรีมไลเนอร์ (B787 Dreamliner) โดยระบุว่าเกิดเหตุสวิตช์สำหรับกลไกดับเพลิงไม่ทำงานเป็นบางครั้ง แต่มีโอกาสเกิดน้อยมาก โดยระบุว่าการสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน ทำให้สวิตช์ติดข��ดและไม่สามารถใช้เพื่อให้เครื่องดับเพลิงสองเครื่องในโบอิ้ง 787 ทำงานได้ นอกจากนี้ สวิตช์ดังกล่าวยังใช้ทำหน้าที่ตัดเชื้อเพลิงและน้ำมันไฮดรอลิกเพื่อป้องกันการลุกลามของเพลิงด้วย

องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หรือเอฟเอเอ (Federal Aviation Administration: FAA) ได้ออกคำสั่งความสมควรเดินอากาศซึ่งระบุว่าปัญหานี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเครื่องที่มีการออกแบบแบบเดียวกันด้วย และชี้ว่ามีโอกาสที่จะควบคุมเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ทางเอฟเอเอไม่ได้สั่งห้ามเครื่องบินรุ่นดังกล่าวทำการบิน เพียงแต่สั่งให้ตรวจสอบสวิตช์ทุก 30 วัน ทำให้บรรดานักบินรู้สึกว่าความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

"หากเกิดเหตุเครื่องยนต์ลุกไหม้ในเที่ยวบินข้ามหาสมุทรแอตแลนติก และสวิตช์ดับเพลิงของอากาศยานไม่ทำงาน เราจะต้องบินโดยมีปีกติดไฟยาวถึง 3 ชั่วโมงก่อนจะลงจอดอย่างปลอดภัยได้" นักบินสายการบินแห่งหนึ่ง กล่าวกับสำนักข่าวการ์เดียน

ทางโบอิ้งระบุว่าพบสวิตช์ดับเพลิงที่ไม่ทำงานเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกทั้งทางโบอิ้งยังให้การสนับสนุนสายการบินต่างๆ ด้วยการช่วยตรวจสอบและเปลี่ยนชิ้นส่วนให้

"โบอิ้งได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางเอฟเอเอเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของฝูงบินและรับมือด้วยมาตรการอันเหมาะสม" โฆษกของโบอิ้งกล่าวกับเดอะการ์เดียน พร้อมเสริมว่า เหตุเครื่องยนต์ลุกไหม้นั้นแทบไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้น และไม่เคยตรวจพบเหตุเครื่องยนต์ลุกไหม้ในฝูงบินโบอิ้ง 787 มาก่อน

ทั้งนี้ แม้จะไม่มีการไหม้เครื่องยนต์ แต่โบอิ้งรุ่น 787 เคยถูกสั่งระงับการบินมาแล้วหลังเมื่อปี 2013 เกิดเหตุแบตเตอร์รีโบอิ้ง 787 เจแปนแอร์ไลน์รั่วและลุกไหม้ และในปี 2017 เอฟเอเอได้สั่งให้โบอิ้งเพิ่มระดับการควบคุมคุณภาพหลังพบเศษโลหะปะปนอยู่ระหว่างสายไฟ เป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้

เครื่องโบอิ้ง 787 มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6,229 ล้านบาท) นั้นใช้งานกันอย่างแพร่หลายโดย 72 สายการบินทั่วโลก รวมถึงเช่น ออลนิปปอนแอร์เวย์ส เจแปนแอร์ไลน์ส อเมริกันแอร์ไลน์ส เพียงสายการบินอังกฤษอย่าง ยูเคแอร์ไลนส์ทียูไอ บริติชแอร์เวย์ส และเวอร์จินแอตแลนติก 3 เจ้าก็มีเครื่อง 787 ใช้งานกว่า 60 เครื่อง สำหรับสายการบินในประเทศไทยที่ใช้เครื่องที่เกี่ยวข้องกับรุ่นนี้คือการบินไทย โดยเป็นเครื่องรุ่น 787-8 จำนวน 6 ลำ และ 787-9 จำนวน 2 ลำ

ในปีนี้ โบอิ้งได้เพิ่มการผลิตเครื่องรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์จาก 12 เป็น 14 ลำต่อเดือน พร้อมประกาศว่าได้นำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ควบคุมคุณภาพแทนพนักงานตรวจสอบคุณภาพ 900 ราย สำนักข่าวการ์เดียนระบุว่าบรรดานักบินไม่ประสงค์ออกนามวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเร่งผลิตส่งผลให้ความปลอดภัยลดลง

"โบอิ้งยืนยันว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้นั้นน้อยมาก ซึ่งก็เป็นความจริงนะ แต่ทัศนคติของโบอิ้งต่อความเสี่ยงนั่นต่างหากที่ทำให้เราหงุดหงิด โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุกับโบอิ้ง 737 แม็กซ์เมื่อเร็วๆ นี้ ถ้าเกิดสวิตช์ระบบดับเพลิงไม่ทำงาน ก็ไม่มีทางสั่งดับเพลิงด้วยมือได้เลย ทำให้ไม่มีทางที่เราจะดับไฟได้ แต่โบอิ้งกลับบอกว่านั่นไม่เป็นปัญหา และทางสายการบินหลายแห่งก็เห็นด้วย แล้วก็ไม่มีใครกล้าพูดถึงปัญหาเพราะกลัวอำนาจของโบอิ้ง" นักบินไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวโดยอ้างถึงเหตุเครื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ ตกในเดือนตุลาคม 2018 และมีนาคม 2019

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ที่มา: The Guardian / Daily Mail